xs
xsm
sm
md
lg

จับตา รมว.วัฒนธรรมไต้หวัน อดีตอาจารย์ ม.ฮ่องกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์ หลง อิ้งไถ ทำงานในมหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงตั้งแต่ 2547 และได้สิทธิ์ที่พักในฮ่องกง แต่ยอมสละสิทธิ์เนื่องจากต้องมารับตำแหน่งรัฐมนตรีวัฒนธรรมไต้หวัน (ภาพเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักวิเคราะห์ชี้ว่า รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวันคนใหม่ ศาสตราจารย์หลง อิ้งไถ นักเขียนนักวิจารณ์สังคมผู้ทรงอิทธิพลที่กำลังก้าวขึ้นทำหน้าที่ดูแลกิจการวัฒนธรรมของไต้หวัน เธอเป็นบุคคลที่น่าจับตาในประเด็นสัมพันธ์กับแผ่นดินใหญ่ เนื่องจากก่อนหน้านี้เธอมีบทบาทในการเติมเชื้อเพลิงทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรมในไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้แต่ในแผ่นดินใหญ่ ผ่านงานเขียนงานวิจารณ์ของเธอ

หลงเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกรมการวัฒนธรรมไทเปคนแรกนับจากปี 2542 ถึง 2546 หลังจากหม่า อิงจิ่วได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีไทเปในปี 2541 หลงก็ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภากิจการวัฒนธรรม (CCA) ไต้หวัน ซึ่งต่อมาเดือนพ.ค. สำนักฯ ดังกล่าวได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเป็นกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งนี้เมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา หม่า ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 จึงตัดสินใจเรียกหลงมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีวัฒนธรรม

หลงวัย 61 ปี เคยเป็นที่รู้จักกันในนาม “ผู้ก่อเชื้อเพลิงวิวาทะทางวัฒนธรรม” เธอถูกวิจารณ์ว่าได้สร้างความอ่อนไหวทางสังคม ตลอดจนการโต้เถียงทางการเมือง ดังนั้นการดำรงตำแหน่งด้านวัฒนธรรมของเธอจะส่งผลกระทบต่อทั้งไต้หวัน ฮ่องกง และแผ่นดินใหญ่ สำหรับฮ่องกงเธอเคยเป็นศาสตราจารย์รับเชิญสอนในมหาวิทยาลัยซิตี้ (City University) และมหาวิทยาลัยฮ่องกง (University of Hong Kong) นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมาด้วย

ดร. หม่า จยาฮุย รองผู้อำนวยการศูนย์อารยธรรมจีนแห่งมหาวิทยาลัยซิตี้ เผยว่า หลงได้ทำให้ผู้นำแผ่นดินใหญ่ต้องลำบากใจในบางครั้ง เนื่องจากข้อวิจารณ์แบบตรงไปตรงมาของเธอ โดยในปี 2549 เธอท้าทายประธานาธิบดีหู จิ่นเทา กรณีที่แผ่นดินใหญ่ปิดกิจการนิตยสารฟรีซซิ่ง พ้อยท์ เธอเขียนจดหมายใช้ชื่อหัวข้อว่า “กรุณาใช้วิธีการที่มีอารยธรรม เพื่อทำให้พวกเราเชื่อมั่น”

นอกจากนั้นเธอเขียนหนังสือในปี 2552 ชื่อ ต้าเจียงต้าไห่ (แม่น้ำใหญ่ ทะเลใหญ่ เรื่องราวที่ไม่ถูกบอกเล่าในปี 1949) มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามกาลางเมืองและผู้ช่วยเหลือพรรคก๊กมินตั๋งในการหลบหนีมาตั้งรัฐบาลบนเกาะใต้หวันในปี ค.ศ.1949 และหนังสือเธอเล่มนี้ก็เป็นหนังสือต้องห้ามของแผ่นดินใหญ่

“ตอนนี้หลงไม่ได้เป็นแค่นักเขียนหรือนักวิจารณ์ แต่เป็นรัฐมนตรีด้วย และผู้นำปักกิ่งก็เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญหน้ากับเธอ” หม่าย้ำ “พวกเราอยากจะรู้จริง ๆ ว่าปักกิ่งจะแสดงท่าทีกับรัฐมนตรีวัฒนธรรมไต้หวันคนนี้อย่างไร”

โษฆกฝ่ายงานสาธารณะแห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกงเผยว่า หลงจะเดินทางมายังไต้หวันเพื่อเตรียมเข้ารับตำแหน่งใหม่ในกลางเดือนนี้ (ก.พ.) ทั้งนี้หลงดำรงตำแหน่งผู้มีความสามารถโดดเด่นแห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกงนับแต่ปี 2551 เป็นต้นมา

ในแถลงการณ์งานเลี้ยงอำลา หลงเผยว่า ประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยฮ่องกงได้ทำให้วิสัยทัศน์ของเธอกว้างไกลมาก และจะช่วยให้เธอสามารถรับมือปัญหาท้าทายในอนาคตได้ “ฮ่องกงเป็นเมืองหนึ่งที่ฉันชอบ เพราะที่นี่ทำให้ฉันมีเสรีภาพ รู้สึกปลอดภัยเมื่อต้องการพูดหรือเขียนแสดงความเห็น ประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยฮ่องกงทำให้ฉันมีมุมมองกว้างไกล และฉันรู้สึกขอบคุณฮ่องกงเป็นอย่างมาก”

เหลียง เหวินเต้า นักเขียนและนักวิจารณ์ในฮ่องกง เผยว่า หลงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมที่หาตัวจับได้ยาก “หลงถือว่าเป็นคนที่มีศักยภาพที่สุดที่จะช่วยเหลืองานหม่า อิงจิ่ว เพราะเธอมียุทธศาสตร์ในการเผยแพร่วัฒนธรรม หรืออำนาจละมุนเข้าสู่แผ่นดินใหญ่”

“หลงกลายเป็นที่นิยมและชื่นชมในบรรดาวัยรุ่นแผ่นดินใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเธออยู่ในฮ่องกงทำให้เธอต้องเผชิญหน้ากับนักวิชาการแผ่นดินใหญ่และแม้กระทั่งผู้สนับสนุนติดตามผลงานของเธอในแผ่นดินใหญ่ด้วย”

หม่าเผยว่า หลงมีความเชี่ยวชาญเฉพาะในการชูประเด็นสินค้าทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะหนังสือที่เธอเขียนเอง “หลงสามารถใช้สัมพันธ์ส่วนตัวและอิทธิพลของเธอในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรมได้สบาย ๆ เธอเป็นนักเขียนและบุคคลสำคัญในวงการวัฒนธรรมที่สามารถวางแผนและสนับสนุนสินค้าวัฒนธรรมได้ดียิ่ง หลงยังรู้ด้วยว่าจะติดต่อสื่อมวลชนอย่างไร เพื่อให้ประโคมข่าวพอดิบพอดีกับการโปรโมทหนังสือของตัว”

สภากิจการวัฒนธรรมไต้หวันก่อตั้งขึ้นในปี 2524 เป็นสถาบันสูงสุดดูแลด้านการวางแผนและควบคุมดูแลการสร้างวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไต้หวันทั้งหมด รวมทั้งการเผยแพร่ศิลปะต่าง ๆ ไปยังแผ่นดินใหญ่ด้วย

หวัง ซิ่งชิ่ง นักวิจารณ์การเมืองในไทเป นักเขียนนามปากกา “หนันฟังซัว” เผยว่า ขณะที่หลงเก่งในการโปรโมทหนังสือตัวเอง แต่ตอนนี้เธอต้องมาเป็นผู้นำบรรดาผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมไต้หวันคนอื่น ๆ ให้สามารถหาโอกาสเปิดธุรกิจในตลาดแผ่นดินใหญ่ โดยที่ไม่ต้องมาพึ่งเงินสนับสนุนด้านเศรษฐกิจของไต้หวัน

หวังถือว่าครั้งนี้เป็นความท้าทายที่หลงจะต้องทำให้บรรดาผู้ร่วมงานด้านวัฒนธรรมเชื่อมั่นในฝีมือเธอให้ได้

หลงได้รับสิทธิ์ให้มีที่พักในฮ่องกงได้ตั้งแต่ปี 2547 แต่เธอได้สละสิทธิ์นี้ไปแล้ว เพื่อเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีวัฒนธรรมไต้หวันแบบไม่ให้เกิดเสียงวิจารณ์ทางการเมือง เนื่องจากฮ่องกงเองเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่

“หลงได้รับเชิญให้เข้าร่วมครม.ของหม่า เพราะหม่าไม่สามารถหาคนที่มีคุณสมบัติมาทำงานในตำแหน่งที่ท้าทายเช่นนี้ได้อีก” ศาสตราจารย์จัง เฉิงหลิน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันทิ้งท้าย.
กำลังโหลดความคิดเห็น