xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติรัตน์” นัดเปิดใจเอกชน หาบทสรุปค่าแรง 300 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวบนเวทีในการเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “AEC and SMEs Challenges :Next stop”
“กิตติรัตน์” นัดถกคลัง และตัวแทนเอกชน หาบทสรุปขึ้นค่าแรง 300 บาทในช่วงบ่ายวันนี้ แย้มจะเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ภาคเอกชนได้ประโยชน์คุ้มค่ากับการจ่ายค่าแรงสูงขึ้น เดินหน้าเตรียมพร้อมเอสเอ็มอีไทยรับเปิดเสรีอาเซียน ระบุเน้นนโยบายต่างประเทศเชิงรุก เสริมแกร่งศักยภาพแรงงาน ขยายการค้าชายแดน คุยผลักดันไทยเป็นศูนย์กลาง เศรษฐกิจในภูมิภาค ส่วนเอกชน เสนอรัฐฯ ปรับขึ้นค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไปภายใน 4 ปี

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “AEC and SMEs Challenges :Next stop” ว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (18 ส.ค.) จะนัดหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และตัวแทนภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย เพื่อหาแนวทางผลักดันนโยบายค่าแรง 300 บาท ซึ่งจะเป็นข้อสรุปให้เกิดความพอใจของทุกฝ่าย โดยเป็นแนวทางให้ภาคเอกชนรู้สึกคุ้มค่าที่จะต้องจ่ายค่าแรงงานเพิ่มขึ้น แลกกับผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่จะได้รับ ซึ่งรัฐบาลจะพยายามลดต้นทุนในทุกๆ ด้าน เช่น อัตราดอกเบี้ย ลดภาษีนิติบุคคล เป็นต้น

“ประเทศไทยควรต้องกลับมาทบทวนการเติบโตของเศรษฐกิจโดยหันมาพึ่งกำลังซื้อภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากแรงงานในภาคการค้า บริการ และเกษตรจะกลับมาเป็นกำลังซื้อที่เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม ภาครัฐไม่ต้องการให้การขึ้นค่าแรงถูกบังคับด้วยกฎหมายอย่างเดียว แต่เราจะทำงานร่วมกับเอกชน ทั้งรายเล็ก กลาง และใหญ่ ซึ่งการขึ้นค่าแรง 300 บาทอาจจะเป็นเพียงสัญลักษณ์ เพื่อให้เอกชนเกิดการพัฒนาประสิทธิภาพตัวเอง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น เกิดความคุ้มค่ากับการจ้างค่าแรงงานที่ต้องจ่ายมากขึ้น” นายกิตติรัตน์ เผย

รองนายกรัฐมนตรี เผยด้วยว่า สำหรับนโยบายของรัฐบาลที่จะเตรียมพร้อมให้แก่เอสเอ็มอีไทยรับการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558 จะมุ่งไปสู่การเตรียมพร้อมพัฒนาบุคลากรไทยให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น โดยเฉพาะพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ และภาษาท้องถิ่นที่จำเป็น ซึ่งจะมีส่วนอย่างยิ่งในการค้าเสรี อีกทั้ง ยังป้องกันและรองรับการย้ายฐานแรงงานเสรีด้วย นอกจากนั้น จะสร้างปัจจัยเอื้อให้เหมาะสมกับการค้าและการลงทุน

ทั้งนี้ รัฐบาลจะเน้นนโยบายต่างประเทศเชิงรุก เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกตามกรอบการค้าเสรีอาเซียน และผลักดันกฎหมายให้ทันรองรับการค้าเสรี รวมถึง จะขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะชายแดนติดกันให้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น สนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนาเอสเอ็มอีให้เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และผลักดันให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำอาเซียน ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบ ทั้งด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งเหมาะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้สะดวก และมีความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งรัฐบาลจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารของอาเซียนเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของธุรกิจขณะนี้ เกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น จากค่าวัตถุดิบต้นน้ำ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เป็นต้น อีกทั้ง ค่าแรงยังสูงกว่าด้วย ดังนั้น เอสเอ็มอีไทยควรศึกษาและแสวงหาโอกาสจากช่องทางการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย

นายกิตติรัตน์ ระบุด้วยว่า ส่วนตัวอยากให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปคู่กันระหว่างการเติบโตภายในประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดจะปรับฐานแรงงานให้สูงขึ้น ควบคู่กับการเติบโตของภาคนำเข้า และภาคส่งออก ซึ่งตั้งเป้าว่า เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว การส่งออกจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20%

สำหรับในส่วนของภาคเอกชน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เสนอรัฐบาลให้ดำเนินการปรับขึ้นค่าแรงเป็นไปในลักษณะทยอยปรับขึ้นภายใน 4 ปี รวมถึงต้องการให้การพิจารณาปรับค่าแรงดำเนินการผ่านกลไกคณะกรรมการไตรภาคีเพราะมีตัวแทนจากลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ เพราะการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะมีผลกระทบต่อฐานะทางธุรกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ และรองเท้า เป็นต้น

"การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีผลกำไรต่ำถูกผลกระทบก่อน และอาจมีการตัดสินใจเลิกจ้างแรงงานได้ ซึ่งเอกชนต้องการให้รัฐบาลเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ส่วนการที่รัฐบาลจะเริ่มต้นปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท เมื่อใด คงต้องหารือก่อน แต่เห็นว่า การปรับขึ้นค่าแรงเพิ่งจะทำไปเมื่อต้นปีนี้ ดังนั้น เรื่องการปรับขึ้นค่าแรงเป็นวันละ 300 บาท ภาครัฐคงจะต้องพิจารณาถึงความสามารถในการจ่ายค่าแรงของผู้ประกอบการด้วย" นายพยุงศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น