xs
xsm
sm
md
lg

อีสานโพลอ้างผลสำรวจค่าจ้างวันละ 300 ทำได้จริง หอฯขอนแก่นหนุน แต่ต้องหาจุดที่เหมาะสม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประเสริฐ  วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล แถลงถึงผลสำรวจนโยบายปรับค่าแรงงานวันละ 300 บาทกับธุรกิจ SMEs อีสาน
ศูนย์ข่าวขอนแก่น- ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน เผยผลสำรวจ “ค่าแรง 300 บาท กับ SMEs อีสาน” ใน 4 จังหวัดหลักอีสาน พบกว่าร้อยละ 60 ระบุ นโยบายดังกล่าวทำได้จริง ย้ำปรับค่าแรง 200-249 บาท/วันเหมาะสมที่สุด ส่วนการปรับตัวต้องขึ้นราคากว่าร้อยละ 63.2 ด้านหอการค้าขอนแก่นเห็นด้วย ระบุกลไกปรับค่าแรงที่ผ่านไม่ทันกับค่าครองชีพ ชี้ต้องหาจุดเหมาะสมไม่เกิดผลกระทบกับทุกฝ่าย

ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับหอการค้าจังหวัดขอนแก่น เผยผลสำรวจอีสานโพล เรื่อง “ค่าแรง 300 บาท กับ SMEs อีสาน” โดย นายประเสริฐ วิจิตรนพรัตน์ หัวหน้าโครงการสำรวจอีสานโพล เปิดเผยว่า อีสานโพลสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่าง 400 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 4 จังหวัดใหญ่ ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี และอุดรธานี ระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคมที่ผ่านมา

ผลสำรวจมีดังนี้ ผู้ประกอบการ SMEs อีสานส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60.0 เห็นว่านโยบายดังกล่าวทำได้จริง แต่ร้อยละ 38.0 ระบุว่า ไม่สามารถทำได้จริง และร้อยละ 2.0 ไม่แน่ใจ และเมื่อถามต่อว่าผู้ประกอบการจะสามารถจ่ายค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 300 บาทได้หรือไม่ ส่วนใหญ่ตอบว่าไม่สามารถจ่ายได้ร้อยละ 63.3 โดยเฉพาะผู้ประอบการภาคการผลิต ที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ตอบว่าไม่สามารถจ่ายค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 64.6 ส่วนที่ตอบว่าสามารถจ่ายได้ มีร้อยละ 35.7 และไม่แน่ใจร้อยละ 1.0

โดยผู้ประกอบการตอบว่า อัตราค่าแรงที่เหมาะ สามารถจ่ายได้อยู่ในช่วง 200-249 บาท/วัน เหมาะสมที่สุดหรือกว่าร้อยละ 61.4 ส่วนการจ่ายค่าแรงในอัตรา 250-299 บาท/วัน มีร้อยละ 21.9 และค่าแรงในช่วง 150-199 บาท/วัน มีร้อยละ 16.2 ทั้งนี้ภาคการผลิต รวมถึงภาคค้าและบริการ เห็นว่าอัตราค่าแรงช่วง 200-249 บาท/วัน เหมาะสมที่สุด

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า เมื่อสอบถามว่าหากนโยบายดังกล่าวปฏิบัติได้จริง แล้วกิจการจะทำอย่างไร ผู้ประกอบการตอบว่า จะปรับเพิ่มราคาสินค้าและค่าบริการมากที่สุดถึงร้อยละ 63.2 โดยระบุว่าจะปรับเพิ่มขึ้นจากราคาเดิมถึง 50% ทั้งมีการปรับตัวด้วยการลดจำนวนแรงงานรายวัน ร้อยละ 22.9 ปรับตัวด้วยการปิดกิจการ ร้อยละ 3.1 สำหรับที่ตอบว่าไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการมี ร้อยละ 9.4

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่า ควรใช้นโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท อัตราเดียวทั่วประเทศร้อยละ 53.3 ส่วนที่ตอบว่าควรเฉพาะภูมิภาค ร้อยละ 46.7 โดยระบุด้วยว่า ควรใช้ในจังหวัดที่มีค่าครองชีพสูง ที่น่าสนใจผู้ประกอบการเห็นควรทยอบปรับขึ้นมีผู้ตอบกว่าร้อยละ 70.9 โดยให้ทยอยปรับขึ้นครั้งละ 50%

สำหรับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล เมื่อต้องสนองนโยบาย ผู้ประกอบการภาคการผลิต ต้องการให้รัฐชดเชยร้อยละ 32.2 เปิดวงเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการร้อยละ 31.5 และลดภาษีนิติบุคคลร้อยละ 25.9 ส่วนภาคการค้าและบริการ ต้องการให้ลดภาษีนิติบุคคล รองลงมา เปิดวงเงินชดเชยให้ผู้ประกอบการ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ระบุว่า ควรลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% ให้เหลือ 15%

หอการค้าขอนแก่นเห็นด้วย แต่ควรมีจุดที่เหมาะสม

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า คณะกรรมการหอการค้าขอนแก่นได้หารือกันในประเด็นการขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน ส่วนใหญ่เห็นด้วยในการปรับเพิ่มค่าแรงให้ผู้ใช้แรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำรายได้ในสังคม ซึ่งที่ผ่านมากลไกการปรับค่าแรงงานครั้งละ 5-6 บาท ไม่ทันกับค่าครองชีพ ที่ปรับในอัตราที่สูงกว่ามาก

ผู้ประกอบการเห็นด้วยกับวิธีคิดปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่จุดที่เหมาะสมว่าจะปรับขึ้นอัตราเท่าใด ปรับขึ้นเมื่อไหร่ ผู้ประกอบการยอมรับได้ระดับใหน หรือแรงงานรับได้หรือไม่ ควรหาจุดที่เหมาะสมไม่เกิดผลกระทบทุกฝ่าย ซึ่งควรมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการทั้งภาคอีสานอีกครั้ง และเชื่อว่า รัฐบาลจะพิจารณาอย่างรอบคอบ มีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมให้ผู้ประกอบการรายย่อยดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลได้

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น
ผู้ประกอบการ SMEs  อีสานส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 เห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน ทำได้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น