สสว.ชี้ขึ้นค่าแรง 300 บ. กระทบต้นทุนSMEs พุ่งพรวด 5.8-13% ก่อปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง แรงงานต่างด้าวทะลัก เผยผลสำรวจเอสเอ็มอีต้องการให้ขึ้นตามความเหมาะสมของพื้นที่ และธุรกิจ โดยทยอยปรับแบบขั้นบันได ระบุอัตราควรอยู่ที่ 221-250 บ.
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยผลการศึกษา โครงสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานและเงินเดือนของ SMEs เฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 16.2 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้น นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ทั่วประเทศ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs มีค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้นตั้งแต่ร้อยละ 35.7-80.7 ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8-13.0 ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อ SMEs โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมไม้ (เฟอร์นิเจอร์) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง และภาคการก่อสร้าง รวมถึงกลุ่มธุรกิจรับจ้างผลิตที่ใช้แรงงานจำนวนมาก ที่สำคัญก่อภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงขึ้น เพราะผู้ประกอบการจะผลักภาระดังกล่าวให้แก่ผู้บริโภคเพื่อรักษาระดับกำไร นอกจากนี้ กดดันให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่นอกทะเบียนนิติบุคคล ประมาณ 2.3 ล้านราย หันไปใช้แรงงานต่างด้าวแทน
ทั้งนี้ สสว. ได้สำรวจความคิดเห็น SMEs ทั้งในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ เกี่ยวกับนโยบาย ดังกล่าว พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เห็นควรให้พิจารณาปรับขึ้นจากค่าครองชีพตามพื้นที่ หรือปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นอัตราร้อยละ โดยกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน และสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในแต่ละปี โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่สามารถปรับขึ้นได้ในทันทีจะอยู่ที่ประมาณ 221-250 บาท/วัน หรือปรับเพิ่มไม่เกินร้อยละ 5-10
อย่างไรก็ดี ข้อดีของมาตรฐานดังกล่าว ช่วยลดความไม่สอดคล้องระหว่างค่าแรงกับค่าครองชีพ ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้น และการเพิ่มปัจจัยแรงงานทุกๆ ร้อยละ 1 จะทำให้ผลิตภาพการผลิตของ SMEs เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66
ทั้งนี้ สสว.เห็นว่ารัฐบาลควรดำเนินการดังนี้ 1. สำรวจข้อมูลทั้งหมด เพื่อวางแผนปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมกับประเภทธุรกิจ และพื้นที่ 2. ควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจปรับแบบขั้นบันได 3. จูงใจจากมาตรการลดภาษีรายได้นิติบุคคล การหักคืนภาษี 4. สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ด้วยการจัดอบรมเฉพาะทางให้ธุรกิจแต่ละสาขา 5.ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจจ้างแรงงานที่มีความรู้และประสบการณ์มากขึ้น และ 6.ปรับยุทธศาสตร์การลงทุนของประเทศใหม่ ย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าหรือได้เปรียบด้านปัจจัยการผลิต