รองนายกฯ เผยรัฐบาลเดินหน้าเตรียมความพร้อมให้เอสเอ็มอีไทยรับเปิดAEC ระบุเน้นนโยบายต่างประเทศเชิงรุก เสริมขีดความสามารถแรงงาน และขยายการค้าชายแดน คุยผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “AEC and SMEs Challenges :Next stop” ว่า นโยบายของรัฐบาลที่จะเตรียมพร้อมให้แก่เอสเอ็มอีไทยรับการเปิดประชาคมเขตเศรษฐกิจอาเซียน หรือ (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 จะเน้นนโยบายต่างประเทศเชิงรุก ให้ความสำคัญกับข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ต่อการค้า และการลงทุนในประเทศกลุ่มอาเซียน ผลักดันกฎหมายให้ทันรองรับการค้าเสรี รวมถึง จะขยายการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะชายแดนติดกันให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น สนับสนุนงบประมาณด้านการพัฒนาเอสเอ็มอีให้เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
ทั้งนี้ นโยบายที่เป็นรูปธรรมจะเร่งเพัฒนาบุคลากรแรงงานไทยให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น เพื่อป้องกันแรงงานฝีมือไหลออกนอกประเทศ และรองรับการย้ายฐานแรงงานเสรีด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศท้องถิ่นที่จำเป็น ซึ่งจะมีส่วนอย่างยิ่งในการค้าเสรี นอกจากนั้น ปรับฐานธุรกิจให้มีความเป็นสากล และสร้างปัจจัยเอื้อให้เหมาะสมกับการค้าและการลงทุน รวมถึง สร้างความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ
นายกิตติรัตน์ เผยด้วยว่า ต้องการให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำอาเซียนอีกครั้ง ทั้งในด้านธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยมีข้อได้เปรียบ ทั้งด้านทำเลที่ตั้ง ซึ่งเหมาะเป็นศูนย์กลางสำหรับนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้สะดวก อีกทั้ง มีข้อได้เปรียบความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งรัฐบาลจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหารของอาเซียนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของธุรกิจขณะนี้ เกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น จากค่าวัตถุดิบต้นน้ำ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เป็นต้น อีกทั้ง ค่าแรงยังสูงกว่าด้วย ดังนั้น เอสเอ็มอีไทยควรศึกษาและแสวงหาโอกาสจากช่องทางการใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียนด้วย
นอกจากนั้น รัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมสินค้าที่มีศักยภาพการแข่งขัน เช่น ยานยนต์ เกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ยางพารา และข้าว เป็นต้น โดยเน้นการวิจัยและแปรรูป แข่งขันด้วยนวัตกรรม และที่สำคัญเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายกิตติรัตน์ ระบุด้วยว่า ส่วนตัวอยากให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปคู่กันระหว่างการเติบโตภายในประเทศ ซึ่งเป็นที่มาของแนวคิดจะปรับฐานแรงงานให้สูงขึ้น ควบคู่กับการเติบโตของภาคนำเข้า และภาคส่งออก ซึ่งตั้งเป้าว่า เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว การส่งออกจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20%