xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติรัตน์” ปลุกขวัญเอกชนไทยรับ AEC จับเข่าถก กกร.สรุปค่าแรง 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กิตติรัตน์” ประกาศใช้ศักยภาพด้านความมั่นคงทางอาหารของไทย ผลักดันไทยสู่การเป็นชาติผู้นำด้านอาหารในภูมิภาคอาเซียน คาดหลังเข้า AEC ดันภาคส่งออกเติบโตได้ 20% เตรียมจับเข่าภาคเอกชนถกผลได้ผลเสียค่าแรง 300 บาท เพื่อเตรียมตัวรับมือการเปิดเสรี ซึ่งจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานกับเพื่อนบ้าน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ 1 ปีของ AEC กับทิศทางประเทศไทย ภายในงานเสวนา AEC and SMEs Challenges โดยระบุว่า รัฐบาลมีแผนนำประเทศไทยเข้าสู่ความตกลงการค้าเสรี โดยเน้นนโยบายต่างประเทศในเชิงรุกตลอดจนการกำหนดนโยบายอำนวยความสะดวก และส่งเสริมการค้าเสรีในทุกกรอบข้อตกลง ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการส่งเสริมผลักดันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้ทำการค้าและการลงทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลจะเร่งรัดการออกกฎหมายรองรับการเจรจาการค้าเสรีได้ทันต่อสถานการณ์ หลังจากที่ผ่านมาการเจรจาเปิดเสรีการค้า หรือ เอฟทีเอ ของไทยค่อนข้างนิ่งมาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังมีการเจรจาต่อเนื่อง ทำให้ไทยยิ่งต้องเร่งผลักดันการเจรจาเอฟทีเอเพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำในอาเซียน

ทั้งนี้ รัฐบาลจะสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอาหารในอาเซียนเนื่องจากมีศักยภาพในการผลิตอันดับ 1 ของอาเซียนและเป็นอันดับ 6 ของโลก มุ่งเน้นตลาดเอเชียที่ได้ทำเอฟทีเอแล้ว เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่า จะสามารถส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต หลังตลาดยุโรปและสหรัฐฯ มีปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยมั่นใจว่าจะผลักดันให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ถึงร้อยละ 20-30

อย่างไรก็ตาม นายกิตติรัตน์ ยอมรับว่า ภาครัฐยังมีจุดอ่อนที่ตามไม่ทันเอกชนในเรื่องการค้าเสรี ดังนั้นจึงจะผลักดันให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์การค้าร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ส่วนความเห็นที่ยังแตกต่างกันกับรัฐบาลในเรื่องนโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน บ่ายวันนี้จะมีการหารือกันระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ยืนยันว่า รัฐบาลคงจะไม่ใช้เป็นมาตรการบังคับ หรือผ่านทางคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจะนำร่องปรับขึ้นค่าแรงในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ พร้อมทั้งจะทำให้ภาคเอกชนได้เล็งเห็นว่า เมื่อผู้มีรายได้น้อยมีค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ก็จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานด้วย และจะทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลจะเร่งหามาตรการทางอ้อมเพื่อเข้าไปช่วยเหลือภาคเอกชน รวมถึงภายในปี 2558 การเคลื่อนย้ายแรงงานภายในกลุ่มอาเซียน จะเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องมีการปรับตัว

“วันนี้ จะเข้าไปหารือกับ กกร.อย่างไม่เป็นทางการ ทั้งเรื่องของผลกระทบด้านนโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือถึงแนวทางที่เหมาะสมกันมาโดยตลอด แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะมีผู้ได้รับผลกระทบมาก น้อย ปานกลางแตกต่างกัน จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาในเชิงลึกว่าในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน”

ส่วนระยะเวลาในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการระยะเวลา 4 ปี ซึ่งมีความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม มองว่า การปรับขึ้นค่าแรงควรให้รัฐบาล ภาคเอกชน และภาคแรงงาน หรือในแง่ของไตรภาคี ได้หารือกัน เพราะจะสะท้อนกลไกทางการตลาด และความสามารถในการขึ้นค่าแรงในแต่ละพื้นที่ได้ดี เนื่องจากขณะนี้ได้มีผู้ประกอบการออกมาสำรวจความคิดเห็นของลูกจ้างที่มีต่อการขึ้นค่าแรง โดยร้อยละ 50 เห็นด้วยต่อการขึ้นค่าแรง ส่วนแรงงานที่ไม่เห็นด้วยได้แสดงความเห็นใจต่อนายจ้าง

นายกิตติรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการปรับขึ้นค่าแรงรัฐบาลจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระของภาคเอกชนหรือไม่นั้น เรื่องนี้คงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม และกฏระเบียบต่างๆ ส่วนการเริ่มต้นปรับขึ้นค่าแรงในวันไหน คงต้องหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากขีดความสามารถของผู้ประกอบการแตกต่างกันจำเป็นต้องให้ผู้ประกอบการปรับตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น