xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กโต้ง” แย้มปรับ ศก.อิงบริโภคภายใน โละโครงการเก่า รับพูดถึงงบแล้วจะตกใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (แฟ้มภาพ)
รมว.พาณิชย์เผยร่างนโยบายรัฐแบ่งเป็น 2 ส่วน ทำ 16 เรื่องในปีแรก และที่ต้องเสร็จใน 4 ปี ดันปราบยาวาระแห่งชาติ เพิ่มค่าแรง พร้อมปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจเน้นเพิ่งพาการบริโภคภายในประเทศ ชูกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ อุบพูดใช้งบเท่าไหร่ บอกจะตกใจได้ แย้มเลิกหรือชะลอโครงการเก่าทิ้ง แต่ยังไม่พูดอะไรโดนบ้าง ชี้ลดภาษีทำคนจ่ายเพิ่ม

วันนี้ (16 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้ยกร่างนโยบายรัฐบาล กล่าวถึงการร่างนโยบายว่า มี 2 ส่วน คือ นโยบายเร่งด่วนที่ต้องเริ่มดำเนินการในปีแรก คือ 16 นโยบาย และบางนโยบายอาจจะย้ายไปอยู่ในนโยบาย 4 ปี รวมทั้งบางนโยบายจะย้ายมาอยู่ในนโยบายเร่งด่วน ซึ่งการร่างนโยบายนี้จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญระบุ ส่วนนโยบายรัฐบาลที่ต้องดำเนินการภายใน 4 ปีนั้นหลายส่วนนั้นต้องเริ่มเตรียมโครงการเพื่อศึกษาและปฏิบัติในปีแรก ตลอดจนโครงการที่ปรับเปลี่ยนความสมดุลในทางเศรษฐกิจ และอื่นๆ ที่อาจจะน้อยกว่าโครงการแรก

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วน คือ นโยบายแก้ไขป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ซึ่งถือเป็นนโยบายและวาระแห่งชาติ การปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ผู้มีรายได้น้อยในภาคและนอกภาคเกษตรกรรม รวมทั้งการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรด้วย ค่าแรง 300 บาท และเงินเดือน 15,000 บาท สำหรับผู้จบปริญญาตรี ส่วนนโยบายระยะ 4 ปีนั้น จะครอบคลุมทุกด้าน แม้นโยบายจะแยกเขียนไว้เป็นแต่ละด้านและไม่ได้แยกเป็นรายกระทรวง เช่น ความมั่นคง จะมีในส่วนของกระทรวงกลาโหมมากหน่อย แต่จะมีหน่วยงานอื่นๆ เกี่ยวข้องด้วยในด้านยาเสพติด เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงนโยบายในปีแรกที่จะส่งผลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศว่า เวลาพูดถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมีหลายปัจจัย และคงทราบดีว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตได้โดยการพึ่งภาคการส่งออก แต่ตอนนี้ทุกคนทราบดีว่าภาคการส่งออกนี้ยังมีความสำคัญ แต่ประเทศที่ซื้อสินค้าจากไทยอาจมีความเข้มแข็งไม่เหมือนเดิม ฉะนั้น การปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจให้เติบโตได้โดยพึ่งพิงภาคการบริโภคภายในประเทศนั้นจะเป็นเรื่องที่ควรทำและจะเกิดประโยชน์หลายด้านพร้อมกัน คือ การทำให้คนในประเทศมีกำลังซื้อสูงขึ้น และกลุ่มที่มีรายได้สูงอยู่แล้วต่อให้ไปเพิ่มรายได้ให้นั้นก็ไม่สามารถมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นได้ แต่กลุ่มที่มีกำลังซื้อต่ำคือผู้ที่มีรายได้น้อยนั้น หากมีรายได้สูงขึ้นจะเป็นผู้บริโภคที่เข้มแข็งและไม่มีส่วนต่อการนำเข้าสินค้า ฉะนั้นวงรอบของการหมุนเวียนต่อเนื่องทางเศรษฐกิจจะสามารถเกิดขึ้นได้ และไม่ได้มองว่าเป็นกลจักรทางเศรษฐกิจแต่คนกลุ่มนี้คือประชาชนของประเทศ หากมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และสังคมโดยรวมจะดีขึ้น มันเป็นเรื่องสำคัญ

“การประมาณการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะปรับเปลี่ยนตรงนี้มันยาก และถึงขั้นทำไม่ได้เลย สมมติว่าจะเกิดอะไรกับเศรษฐกิจต่างประเทศบ้างนั้น และจะซื้อสินค้าจากไทยเช่นเดิมหรือไม่ หากสามารถสมมติได้ว่าต่างประเทศยังคงซื้อสินค้าจากไทย ความเข้มแข็งและการปรับเปลี่ยนตรงนี้จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างน้อยร้อยละ 1 แน่นอน แต่ผมไม่อาจสมมติตรงนี้เพราะยังมีเรื่องราคาพลังงงานและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้ขอให้สังเกตร่างนโยบายรัฐบาลที่จะออกมาด้วยว่า การดำเนินการนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น ผมเข้าใจว่าทุกรัฐบาลในอดีตจะพูดเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไว้เป็นเรื่องแรก และการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านนี้ของรัฐบาลนี้นั้นจะพูดถึงเป้าหมายการกระจายรายได้เป็นเรื่องแรก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นจะเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่เป็นความสำคัญที่รองลงมาจากการกระจายรายได้ เพราะรัฐบาลอยากเห็นผู้มีรายได้น้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าผู้ที่มีรายได้มาก เพราะพูดกันมากแล้วในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ที่จะเห็นผลจริงในการดำเนินการของรัฐบาลนี้” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจกล่าว

เมื่อถามว่า นโยบายรัฐบาลนี้จะใช้งบประมาณเท่าใด นายกิตติรัตน์กล่าวว่า นโยบายเหล่านี้หากพูดไปแล้วจะตกใจ เพราะเป็นนโยบายใหม่ที่ต้องใช้งบประมาณแน่นอน เช่น การใช้เงินว่าจ้างบุคลากรของรัฐและรัฐบาลเป็นผู้ว่าจ้างรายใหญ่ที่ต้องการให้นายจ้างทั้งหมดให้ความร่วมมือในการจ่ายค่าแรงรายวันที่สูง เช่น เงินเดือนผู้จบการศึกษาในระดับชั้นต่างๆ ที่ต้องสูงขึ้น และต้องใช้เงินมากขึ้นแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องคงโครงการทุกอย่างที่เคยคิดว่าจะดำเนินการไว้แต่เดิมไว้ทั้งหมด เพราะหากคิดอย่างนั้นจะกลายเป็นนโยบายที่เพิ่มขึ้น และจะนำเงินที่ไหนมาดำเนินการ อย่างไรก็ตาม แนวคิดของโครงการเดิมๆที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาอาจเป็นแนวคิดเดิมที่ต้องการกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจไม่มีความสำคัญเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ฉะนั้น โครงการเหล่านั้นอาจถูกยกเลิกหรือชะลอออกไป ฉะนั้นการเพิ่มขึ้นของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แม้จะได้คิดและคำนวณโครงการเหล่านี้ไว้แล้วและอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก

เมื่อถามว่า โครงการใดที่อาจจะยกเลิกบ้าง นายกิตติรัตน์กล่าวว่า อย่าพูดอย่างนั้นเลยเจ้าของแนวคิดนั้นจะตกใจ แต่บอกได้เลยว่า ตอนนี้ในทุกกระทรวงนั้นทราบดีเกี่ยวกับการกระจายรายได้ของรัฐ ฉะนั้น ต้องทบทวนในบางเรื่องโดยหากมันไม่ใช่เป็นเรื่องการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจนั้น จะสามารถไปลดหรือให้ความสำคัญต่อโครงการเหล่านั้นน้อยลง ทั้งนี้ ในภาพรวมของงบประมาณไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจากตรงนี้ เนื่องจากบางโครงการที่ดำเนินการมาแล้วนั้น หากเทียบกับภารกิจของโครงการใหม่ของรัฐบาลนั้นคงจะต้องชะลอไว้ หรือทบทวนไว้ในลำดับท้ายๆ เพราะทุกโครงการของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้ และโครงการของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย จึงต้องทบทวนร่วมกันในการเสนอออกมาเป็นร่างนโยบายรัฐบาล รวมทั้งนโยบายเดิมของรัฐบาลชุดที่แล้วด้วย

“บางคนอาจบอกว่าจะเอาเงินจากไหนมาทำโครงการแท็บเล็ต การจ่ายค่าแรงที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการบริหารเศรษฐกิจด้วย มันไม่ได้เกิดขึ้นรอบเดียวหรอก ผมไม่แปลกใจเลย ต่อให้ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล อัตรามันลดลงเยอะจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 แต่การเก็บรายได้จากตรงนี้มันอาจลดลงนิดเดียวหรืออาจไม่ลดเลย เพราะคนที่ไม่ได้เคยอยู่ในฐานการจัดเก็บภาษีควรพร้อมกลับมาให้ความร่วมมือ เพราะตอนที่ภาษีสูงนั้นกำลังใจที่จะเสียภาษีให้ถูกต้องมันน้อยลงกว่าอัตราใหม่ รวมทั้งผู้บริโภคที่มีคุณภาพจะเกิดขึ้นมากจากการที่เรายอมรับว่าควรได้รับรายได้ที่ดีขึ้น การบริโภคเหล่านี้จะนำมาซึ่งภาษีในหลายรูปแบบ ทั้งๆที่อัตราเป็นอย่างเดิม เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่จะเก็บในอัตราเดิม มันจะจัดเก็บได้เยอะขึ้น ภาษีนิติบุคคลที่เป็นอัตราที่ลดลง นอกจากจะเพิ่มจากการขยายฐานภาษีแล้ว มันอาจเพิ่มมาจากยอดขายที่สูงขึ้น” นายกิตติรัตน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น