xs
xsm
sm
md
lg

ร้านอาหารไทย Go Inter ปัญหาอยู่ตรงจุดใด?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร้านอาหารไทยในเกาหลี
เขาบอกว่า ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารไทย จะเป็นช่องทางในการส่งออกสินค้าสินค้าในธุรกิจเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องรวมทั้งกลายเป็นส่วนที่ทำให้ข้าวไทยได้รับความนิยมเป็นแหล่งกระจายสินค้าวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย ในขณะที่กรมส่งเสริมการส่งออกได้เริ่มส่งเสริมธุรกิจร้านอาหารไทยตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งมีร้านอาหารไทยทั่วโลก 5,000 แห่ง

จากการที่อาหารไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในต่างประเทศ ทำให้จำนวนภัตตาคาร/ร้านอาหารไทยในต่างประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว คาดว่าระหว่างปี 2546-2550 มีจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศไม่น้อยกว่าและตลาดหลักก็ยังเน้นไปที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ส่วนตลาดใหม่ที่จะเกิดขึ้นแถบจีน อินเดีย และเอเชียใต้ ก็เป็นเป้าหมายที่ควรจะผลักดันเพิ่มมากขึ้น

ข้อสังเกตที่ทำให้ธุรกิจอาหารไทยนั้นขยายตัวค่อนข้างช้ากว่าที่ควรเป็น ทั้งๆ ที่ตลาดมีความต้องการสูงมากแต่อาจจะเนื่องจากการประกอบธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจภายในครอบครัว การจัดการบริการยังไม่เป็นระบบสากล ทำให้การขยายจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศไม่รวดเร็ว สำหรับระบบแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นระบบที่สามารถขยายสาขาได้เร็ว ยังมีแฟรนไชส์ร้านอาหารไทยน้อยและยังไม่แพร่หลายในต่างประเทศ และขาดความเข้าใจของระบบธุรกิจที่ถูกต้อง รวมถึงแนวทางการพัฒนาที่รัฐสร้างขึ้นนั้นยังไม่ถูกเป้าหมาย หรือทำให้เห็นเป็นรูปธรรมเพียงพอ การจัดรูปแบบอาหารไทยให้เป็นระบบแฟรนไชส์นั้นจะต้องมาดูเรื่องของระบบธุรกิจที่ถูกต้องและต้องเข้าใจวิธีการดำเนินการต่างๆ เพื่อลดข้อจำกัดทางด้านกฎระเบียบ กฎหมายของประเทศต่างๆ ข้อกำหนดของ การประกอบธุรกิจร้านอาหารในต่างประเทศ

สำหรับความเห็นในเรื่องการบริหารงานร้านอาหารที่ยังต้องเน้นคนไทยนั้นจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก ทั้งเรื่องเกี่ยวกับการขอวีซาของพ่อครัว/แม่ครัวไทย โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นอุปสรรคในการเข้าไปประกอบอาชีพของพ่อครัว/แม่ครัวไทย มีทั้งปัญหาในการกีดกันคนทำงานและปัญหาด้านการบริหารบุคลากร ซึ่งสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์นั้นปกติจะตัดปัญหาเรื่องของการบริหารคนออกไป เพื่อการขยายงานให้ไปได้รวดเร็วและไปได้ทุกที่ ข้ามอุปสรรคปัญหาด้านการจัดการคน แฟรนไชส์ทุกระบบจะเน้นการให้คนพื้นที่เป็นผู้จัดการเสียเองเป็นการจ้างทีมงานด้วยสาขาแต่ละสาขาเอง เพียงแต่สำนักงานใหญ่จะต้องพัฒนาเครื่องมือสูตรอาหารและกระบวนการจัดการที่เหมาะสมทำให้ร้านกระจายธุรกิจไปได้ทั่วโลก แน่นอนร้านอาหารไทยที่ปรับเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์อาจจะไม่ได้เต็มรูปแบบจริงๆ บ้างเพื่อที่จะปรับธุรกิจไปตามสภาพที่ทำให้การจัดการเป็นไปได้ด้วยดีและสะดวกสำหรับนักลงทุน

ถ้าหากว่าเป้าหมายของการพัฒนาส่งเสริมร้านอาหารไทยในต่างประเทศเน้นการสร้างระบบแฟรนไชส์แล้วจะสามารถทำให้การขยายธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มจำนวนร้านอาหารไทยให้ได้ตามเป้าหมายได้เร็วกว่า และแน่นอนภาพลักษณ์ประเทศไทยและสินค้าไทยโดยการเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยและวัฒนธรรมไทยผ่านร้านอาหารไทย แต่ทั้งนี้ต้องเน้นรูปแบบการพัฒนาการบริหารจัดการเพิ่มทักษะและให้ความรู้แก่ผู้สนใจประกอบธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ มากกว่าจะเน้นเพิ่มทักษะความชำนาญด้านประกอบอาหารไทยอย่างเดียว

วันนี้ถ้ามีใครสักคนพูดให้เจ็บใจเล่น ว่าอาหารไทยกลายเป็นระบบแฟรนไชส์ที่คนนิยมอย่างมากที่ขยายตัวไปรอบบ้านเรา เพียงแต่เจ้าของธุรกิจนั้นเป็นคน สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย คงเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้ว

ข้อเสนอแนะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการ

1. สร้างแนวทางการขยายธุรกิจอาหารให้เป็นระบบแฟรนไชส์ที่ชัดเจน ถูกต้อง มากขึ้น ทำความเข้าใจในการออกแบบรูปแบบธุรกิจเชิงการบริหาร มากกว่าการเน้นการออกแบบตกแต่ง

2. จัดทำโครงการเน้นการนำผู้ประกอบการตัวจริง ที่ทำธุรกิจอาหารอยู่แล้วมาเรียนรู้การสร้างระบบแฟรนไชส์จริงจัง พร้อมการส่งเสริมด้านต่างๆ ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเงินการลงทุนเพิ่ม หรือแม้กระทั่งการสร้างรูปแบบการร่วมทุนต่างๆให้สามารถสร้างธุรกิจเหล่านั้นสู่ต่างประเทศได้จริง

3. เน้นย้ำเรื่องการบริหารธุรกิจให้เกิดขึ้นจริงมากกว่าจะเน้นการสร้างกลุ่มคนทำงาน เพราะไม่สามารถแก้ไขเรื่องการส่งคนทำงาน แต่ให้ปรับเป็นกระบวนการสนับสนุนงานจากส่วนกลางของธุรกิจที่ขยายไป และให้ใช้แรงงานในพื้นที่เป็นหลัก

ความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจอาหารไทยสู่ต่างประเทศมีอยู่สูงมาก ทั้งมีตลาดรองรับอยู่พร้อมทั้งคนไทยที่สามารถจะเข้าใจแนวคิดของตัวสินค้าอยู่แล้ว ขาดเพียงอย่างเดียวคือ ความเข้าใจ ที่ถูกต้องในการพัฒนาออกแบบธุรกิจที่สามารถสร้างความสะดวกในการทำงานจริงในพื้นที่ และการสร้างแฟรนไชส์ของร้านอาหารไทยที่ถูกต้องเท่านั้น เรียกได้ว่า ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้ามือเพียงแต่การลงมือทำงานจริงจังนั้นอยู่ที่มือของเรา เร่งช่วยกันคนละไม้คนละมือแต่ให้ถูกแนวทาง ไม่ช้าคงเห็นความสำเร็จด้วยกันครับ

ผู้เขียน : พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์
ขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.smethailandclub.com
กำลังโหลดความคิดเห็น