xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น! ครูภูมิปัญญาไทยเหลือน้อย วธ.รับลูกเตรียมรื้อฟื้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
ครูภูมิปัญญาสอนควาย เผย สมเด็จพระเทพฯ ทรงห่วง ครูภูมิปัญญาไทยสอนควาย สอนไถนา สูญ ทรงตั้งโรงเรียนกาสรฯ สืบทอด ขณะที่นักวิชาการ สกศ.ระบุ ครูภูมิปัญญาที่ถูกยกย่องทั่วประเทศเหลือน้อย เสียชีวิตแล้ว 26 คน ยังเหลือ 315 คน ด้าน วธ.รับลูก หารือ “หมอประเวศ” รื้อฟื้นครูภูมิปัญญา

จากการที่ นายมนัส ปานขาว ครูภูมิปัญญาไทย ในฐานะปราชญ์ชาวบ้านด้านความเชื่อท้องถิ่น ออกมาเปิดเผย เนื่องในโอกาสวันที่ 16 มกราคม ที่จะถึงนี้ เป็นวันครูแห่งชาติ ว่า ครูภูมิปัญญาถูกลืมจากระบบของคำว่า “ครู” โดยเฉพาะหน่วยงานราชการไม่ได้ให้ความสำคัญกับครูภูมิปัญญาเท่าใดนักนั้น

วันนี้ (13 ม.ค.) นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวถึงในเรื่องนี้ว่า ยอมรับว่า ครูภูมิปัญหาถูกลืมจากสังคมจริง ซึ่งตนก็เป็นห่วงในเรื่องนี้ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ยังได้หารือร่วมกับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ซึ่งท่านได้เสนอแนะว่า วธ.ควรรื้อฟื้นครูภูมิปัญญาให้กลับมาเป็นที่ยอมรับของสังคม อาจจะจัดทำแผนที่ครูภูมิปัญญา ในการส่งเสริมให้เป็นเส้นทางแหล่งเรียนรู้ด้านภูมิปัญญา ให้เด็ก นักเรียน นักศึกษา นักท่องเที่ยว ได้ไปเรียนรู้ภูมิปัญญา นอกจากเพียงแค่สอนในโรงเรียนเป็นบางชั่วโมงเท่านั้น จะทำให้ครูภูมิปัญญาได้ถ่ายทอดความรู้ และเป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เร่งสำรวจข้อมูลครูภูมิปัญญาไทย ว่า ขณะนี้มีจำนวนมากน้อยเพียงใด

ดร.นพมณฑล สิบหมื่นเปี่ยม นักวิชาการศึกษา สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า สภาการศึกษาได้ยกย่องครูภูมิปัญญาไทยจากทั่วประเทศ มาตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2552 แล้วจำนวน 6 รุ่น รวม 341 คน ขณะนี้เสียชีวิตไปแล้ว 26 คน เหลือ 315 คน เมื่อจำแนกตามสาขาจะเหลือสถิติครูภูมิปัญญาไทย ดังนี้ สาขาเกษตรกรรม เหลือ 49 คน สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม เหลือ 25 คน สาขาการแพทย์แผนไทย เหลือ 30 คน สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เหลือ 26 คน สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน เหลือ 23 คน สาขาศิลปกรรม เหลือ 93 คน สาขาภาษาและวรรณกรรม เหลือ 30 คน สาขาปรัชญา ศาสนา และประเพณี เหลือ 31 คน และสาขาโภชนาการ เหลือเพียง 8 คนเท่านั้น

ด้าน นายแดง มาราศรี อายุ 62 ปี ครูภูมิปัญญาไทย ด้านการฝึกควายไถนา และฝึกเกษตรกรไถนา โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จ.สระแก้ว กล่าวว่า ครูภมิปัญญาไทยทางด้านนี้ถูกลืมไปแล้วมากกว่า 70% เพราะภูมิปัญญาด้านการฝึกควายสอนควายไถนานั้น เหลือน้อยเต็มที เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรหันไปใช้เทคโนโลยี เช่น รถไถนา แทนการใช้ควาย ส่งผลให้ภูมิปัญญาด้านนี้ลบเลือนไปจากความทรงจำของผู้คน โดยเฉพาะเด็กและเยาชน ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงครูภูมิปัญญาไทย โดยเฉพาะครูสอนควาย ครูสอนไถนา ว่า จะไม่มีผู้สืบทอดและหายไปจากสังคมไทย จึงทรงมีพระราชดำริตั้งโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อใช้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการทำนา การใช้แรงงานควายเหมือนสมัยโบราณ ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้

“คนอาจจะมองว่า การใช้เทคโนโลยีสามารถเก็บเกี่ยวได้เร็ว แต่จะมีต้นทุนที่สูงทั้งค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักร แต่ถ้าใช้ควายซื้อมาตัวละหมื่นกว่าบาท สามารถใช้ไถนาเวลาควายขี้ระหว่างไถนาก็จะกลายเป็นปุ๋ยอย่างดีด้วย พอ 10 ปี ควายก็จะให้ลูกประมาณ 10 ตัว สร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก ตรงกันข้ามเครื่องจัก 10 ปี อาจจะเหลือมูลค่าไม่กี่บาท อย่างไรก็ตาม ผมห่วงว่า หากคนไทยไม่อยากเรียนรู้ภูมิปัญญาเลี้ยงควาย สอนควายไถนา การทำงาน ต่อไปในอนาคตเราอาจจะต้องซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านกิน รวมทั้งอยากให้รัฐบาลหันมาสนใจภูมิปัญญาไทย ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของเรามากขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ซึ่งตอนนี้นิยมรับแต่วัฒนธรรมต่างชาติกลับไม่สนใจภูมิปัญญาที่เรามี อยากเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลให้ยั่งยืนต่อไป” นายแดง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น