อธิบดี สวธ.เผยภูมิปัญญาไทยหลายด้าน กำลังวิกฤต ใกล้สูญ พร้อมรวบรวมข้อมูลมรดกทางวัฒนธรรมขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาติแล้ว 50 รายการ เตรียมเสนอยูเนสโกเป็นภูมิปัญญาของโลก ด้านหมอประเวศ แนะ วธ.ทำแผนที่ภูมิปัญญาไทย
วันนี้ (18 ม.ค.) ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวถึงกรณีครูภูมิปัญญาไทยถูกลืม ว่า ครูภูมิปัญญาไทย รวมถึงภูมิปัญญาไทยหลายเรื่องมีความน่าเป็นห่วงมาก ดังนั้น สวธ.ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ศิลปะการแสดง การแสดงพื้นบ้านไว้มากกว่า 350 เรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่องจะมีบันทึกเรื่องราวความเป็นมาของภูมิปัญญาไทย ว่า มีวิธีการอย่างไร มีรูปแบบอย่างไร สามารถทำให้เกิดประโยชน์อะไรกับชุมชน และสังคม เพราะหากไม่มีการรวบรวมภูมิปัญญาเหล่านี้เอาไว้ สิ่งเหล่านี้ก็จะถูกลืมไปพร้อมกับตัวครูภูมิปัญญาไทย
ศ.ดร.อภินันท์ กล่าวต่อว่า สวธ.ยังได้รวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยเฉพาะภูมิปัญญาไทยที่กำลังจะสูญหาย ซึ่ง สวธ.ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชาติไว้แล้ว จำนวน 50 รายการ เช่น ลิเก โขน โนรา ละครใน การสร้างปราสาทศพทางภาคเหนือ การทำกริชในภาคใต้ของไทย โดยภูมิปัญญาเหล่านี้เสี่ยงต่อการสูญหาย โดยเฉพาะละครใน การสร้างปราสาทศพภาคเหนือ การทำกริชในภาคใต้ ทุกวันนี้หาดูได้ยาก และมีคนสืบทอดน้อย ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนในประเทศ เพื่อเตรียมนำมรดกภูมิปัญญาเหล่านี้ ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เสนอต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
“สวธ.ได้ส่งเสริมให้ครูภูมิปัญญาไทยได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยสนับสนุนงบประมาณต่างๆให้แก่ครูภูมิปัญญาไทย ในขณะเดียวกัน ยังได้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นไว้แล้วหลายเรื่อง เช่น โนรา หนังตะลุง การเล่นซอของภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม หากทางสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ จะส่งเสริมหลักสูตรท้องถิ่นให้เด็กนักเรียนได้ศึกษาจะเป็นสิ่งที่ดีมาก นอกจากนี้ สวธ.กำลังตั้งคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการรวบรวมภูมิปัญญาไทยทางด้านอาหารเพิ่มเติมด้วย เพราะภูมิปัญญาทางด้านนี้กำลังจะสูญหาย โดยเฉพาะผู้คิดค้นสูตรอาหาร เช่น ผัดกระเพรา แกงเขียวหวาน ผัดไทย ที่ปัจจุบันหาผู้คิดค้นไม่ได้แล้ว” อธิบดีกรม สวธ.กล่าว
ด้านนายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า วธ.กำลังส่งเสริมให้แต่ละท้องถิ่นส่งเสริมการทำหลักสูตรท้องถิ่น รวมทั้งให้ความสำคัญของครูภูมิปัญญาไทย ซึ่งตนได้หารือกับ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส โดยท่านได้แนะนำว่า วธ.ควรจะทำแผนที่ครูภูมิปัญญาไทย เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพราะจะทำให้คนได้ไปท่องเที่ยวและไม่ลืมของดีของท้องถิ่น ที่สำคัญ ครูภูมิปัญญาก็จะมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่น รวมทั้งได้ถ่ายทอดความรู้ไปในตัวด้วย อย่างไรก็ตาม วธ.จะเร่งศึกษาเรื่องครูภูมิปัญญาเหล่านี้ และจะส่งเสริมให้เกิดความต่อเนื่องมากที่สุด