ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นวอน วธ., ศธ.เข้ามาดูแลครูภูมิปัญญาหลังพบกำลังถูกลืม ส่งผลภูมิปัญญาพื้นบ้านสูญหาย ด้าน “นิพิฏฐ์” ห่วงครูการแสดง-ยาพื้นบ้าน เผย วธ.ทำได้แค่เชิดชู
นายมนัส ปานขาว ครูภูมิปัญญาไทย ในฐานะปราชญ์ชาวบ้านด้านความเชื่อท้องถิ่น เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 16 มกราคม ที่จะถึงนี้เป็นวันครูแห่งชาติ แต่ตนอยากจะบอกว่า ครูภูมิปัญญากลับถูกลืมจากระบบของคำว่า ครู โดยเฉพาะหน่วยงานราชการไม่ได้ให้ความสำคัญกับครูภูมิปัญญาเท่าใดนัก ส่งผลให้ภูมิปัญญาในท้องถิ่นสูญหายไปเป็นจำนวนมากพร้อมกับครูภูมิปัญญา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอายุมาก อย่างเช่น ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย หรือในพื้นที่ทางภาคอีสาน ครูภูมิปัญญาล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมาก ไม่วาจะเป็น “เซียงข้อง” หรือหมอปราบผีปอบหมอไล่ผีจับผี “ซ่อนขวัญ” คนที่ทำหน้าที่เรียกขวัญ เมื่อมีคนประสบอุบัติเหตุ เพื่อให้ขวัญกลับเข้าสู่ตัวคนที่ประสบอุบัติเหตุและขวัญเสีย ปัจจุบันหาผู้สืบทอดได้ยาก โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ที่จะต้องเรียนรู้ว่าท้องถิ่นของตนเองเรื่องความเชื่อเช่นไร
“ทุกวันนี้คนไม่สนใจศึกษาเรื่องภูมิปัญญา เพราะมองว่าเป็นของเก่า ของคร่ำครึ โบราณ แม้แต่โรงเรียน องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล ก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับครูภูมิปัญญาปล่อยให้ครูภูมิปัญญาทำได้ตามกำลังของตนเองเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ต้องเข้ามาส่งเสริมให้ครูภูมิปัญญาเป็นที่รู้จักของเด็กรุ่นใหม่ประชาชนในพื้นที่มากขึ้น หากคนสนใจเรื่องท้องถิ่นภูมิปัญญาที่เรามีเชื่อว่าจะทำให้คนรักท้องถิ่นมากขึ้น และภูมิปัญญาท้องถิ่นก็สามารถใช้ได้จริงอีกด้วย” นายมนัส กล่าว
ด้านนายสัมฤทธิ์ สุภามา วัฒนธรรมจังหวัดเลย ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกครูภูมิปัญญา สภาการศึกษา กล่าวว่า ยอมรับว่ากระแสของครูภูมิปัญญาถูกลบเลื่อนออกจากความทรงจำของผู้คน ซึ่งปัจจุบัน สภาการศึกษาแห่งชาติ และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ทำหน้าที่ยกย่องครูภูมิปัญญาไทยอยู่ เช่น ด้านเกษตรกรรม ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ด้านการแพทย์แผนไทย ด้านการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ด้านศิลปกรรม และด้านภาษาและวรรณกรรม ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี ปัจจุบันมีครูภูมิปัญญาได้รับการยกย่องแล้วประมาณ 200 คน และได้เสียชีวิตไปแล้วเป็นจำนวนมาก เพราะส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่ 35 ปีและมากกว่า 80 ปี
นายสัมฤทธิ์ กล่าวอีกว่า ครูภูมิปัญญาที่คณะกรรมการ เห็นว่า ค้นหายากที่สุดและใกล้ที่จะสูญหาย คือ ครูภูมิปัญญาด้านมวยไทย ช่างแกะหนังตะลุง ด้านโภชนาการ ต้นตำหรับคนคิดค้นอาหาร เช่น แกงเขียวหวาน ผัดไทย นอกจากนี้ ครูภูมิปัญญาทางด้านหมอตำแย ด้านสมุนไพรไทย ก็มีแนวโน้มที่จะสูญหายเช่นกัน เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่มีมาก อย่างไรก็ตามหากคนไทยยังไม่เห็นความสำคัญของภูมิปัญญาไทย ครูภูมิปัญญาไทยก็จะถูกลืมในที่สุด เพราะทุกวันนี้พ่อแม่ สอนให้ลูกเรียนรู้ เฟซบุ๊ก เกมคอมพิวเตอร์ เล่นอินเทอร์เน็ต แทนเรียนรู้เรื่องของภูมิปัญญา
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ครูภูมิปัญญาท้องถิ่นในปัจจุบันที่น่าเป็นห่วงและกำลังจะสูญหายไป คือ ครูภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดงและด้านยาแผนโบราณ โดยเฉพาะครูด้านการแสดงเมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจ ไม่เห็นคุณค่า นักแสดง หรือปราชญ์ผู้รู้ก็ไม่รู้ว่าจะไปแสดงที่ไหนไปดูแต่การละครทีวีแทน การแสดงพื้นบ้านก็ค่อยๆ หายไป ประกอบกับครูภูมิปัญญาเมื่อเสียชีวิตไปความรู้นั้นก็หายไปด้วย ในอนาคตอีก 10-20 ปีข้างหน้า หากมีคนให้ความสนใจอีกครั้งความรู้ต่างๆ ก็ขาดหาย และอาจจะไม่ใช่ของดั้งเดิมอีกต่อไป ส่วนเรื่องยาแผนโบราณถ้าไม่มีการอนุรักษ์ ไม่มีการส่งเสริมต่างชาติก็อาจมาเอาภูมิปัญญายาพื้นบ้าน ยาโบราณของไทยเราไปจดลิขสิทธิ์เป็นของเขาก็ได้
“เรื่องครูภูมิปัญญาและสิ่งที่กำลังจะหายไปคงต้องฝากให้ท้องถิ่นช่วยกันดูแล เพราะคนในท้องถิ่นจะอยู่ใกล้ชิดกับภูมิปัญญาเหล่านี้มากที่สุด ขณะที่ วธ.สามารถทำได้โดยการเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาเหมือนครูในระบบราชการ นอกจากนี้ ก็คงต้องให้ทางกระทรวงศึกษาธิการและท้องถิ่นเข้ามาดูแลอีกส่วนหนึ่ง โดยการเอาผลงาน ความรู้ไปเผยแพร่ต่อ” นายนิพิฏฐ์ กล่าว