xs
xsm
sm
md
lg

ปลัด วธ.ชี้เข้าร่วมภาคีวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ยูเนสโกช่วยรู้จักเขา-รู้จักเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วธ.รับคำวิจารณ์นักวิชาการค้านเข้าภาคีวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ชี้มีประโยชน์รู้จักเขา-รู้จักเรา เรียนรู้ข้ามชาติรัฐไร้พรมแดน ด้านอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเผยมีแนวโน้มขึ้นทะเบียน ตำนานแม่นาคพระโขนง การไหว้ ต้มยำกุ้ง น้ำปลาไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติปี 54 แค่รอคณะกรรมการตัดสินอีกครั้งหนึ่ง

วันนี้ (16 ส.ค.) นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เผยถึงความคืบหน้ากรณีกัมพูชาขึ้นทะเบียนท่ารำ และหนังใหญ่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก ว่ารายละเอียดการหารือระหว่าง วธ. กับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้เสนอนางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ คาดว่าจะแถลงรายละเอียดแก่สื่อมวลชนภายหลังการประชุม ครม. อย่างไรก็ตาม หลักการสำคัญของการหารือครั้งนี้ เรามองว่าการขึ้นทะเบียนของกัมพูชาไม่ได้ทำให้ไทยเสียสิทธิ์ในการที่จะขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของไทย สิ่งที่ วธ.จะดำเนินการต่อไปจะประชุมทำความเข้าใจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงสื่อมวลชนภายในสัปดาห์หน้า เพื่อหาข้อสรุปตรงกัน
นายสมชาย เสียงหลาย
ปลัด วธ.กล่าวว่า จะมีการหารือเรื่องวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ที่จะขึ้นทะเบียนระดับชาติในปี 2554 จำนวน 30 รายการควบคู่กันไปด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ในอนาคตถ้าไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ก็สามารถนำเสนอเรื่องเหล่านี้ขึ้นจดทะเบียนได้เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในเรื่องนี้ผมขอเรียนว่า วธ.ดำเนินการโดยเอกเทศไม่ได้ แต่เป็นลักษณะพหุภาคี อีกทั้งเป็นเรื่องระหว่างประเทศจะต้องมีความคิดเห็นหลายฝ่าย เมื่อได้ข้อสรุปต้องเสนอคณะรัฐมนตรี และเสนอสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 190 ขณะนี้ทราบว่ามีประเทศต่างๆที่เข้าร่วมภาคีนี้แล้ว 136 ประเทศ จากจำนวนสมาชิกยูเนสโกประมาณ 190 ประเทศ

ปลัด วธ.กล่าวถึงเสียงท้วงติงจากนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกว่า ในที่ประชุมทาง วธ.และ กต.ได้นำมาหารือ ส่วนตัวคิดว่าเป็นทัศนะของนักวิชาการของแต่ละคนที่สามารถเสนอความแตกต่างกันในแง่ของความคิด อย่างไรก็ตาม ขอเรียนให้ทราบว่า สมาชิกยูเนสโกไม่ได้มีเฉพาะประเทศตะวันตกเท่านั้น แต่มีทุกภูมิภาคของโลก เพราะฉะนั้น ไทยควรใช้เวทีแบบนี้ในการหารือแลกเปลี่ยนกันในการที่จะจัดระเบียบร่วมกันในเรื่องวัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเราก็มีศิลปวัฒนธรรมจำนวนมาก ที่จะต้องการเผยแพร่ออกไป

นายสมชาย กล่าวต่อว่า การมีพื้นที่ระดับนานาชาติหรือระดับโลกในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย จะทำให้คนอื่นเข้าใจประเทศไทยดีขึ้น ในแง่ของวัฒนธรรมแล้วเรามองถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันข้ามพรมแดนรัฐ ยิ่งในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ยิ่งจำเป็นต้องมองเรื่องเหล่านี้ เพื่อที่เราจะอยู่ร่วมกันในยุคโลกาภิวัฒน์อย่างสันติร่วมกัน ในขณะนี้ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ มีถึง 5 ประเทศได้เข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโกแล้ว ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เราคงต้องใช้เวทีอาเซียนในการทำงานเรื่องนี้ร่วมกัน ผมคิดว่าต้องรอระยะเวลาให้เข้าใจเรื่องอนุสัญญาดังกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น

ขณะที่ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า สำหรับทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่เตรียมขึ้นทะเบียนเพิ่มอีก 30 รายการในปี 2554 นั้นจะต้องรอการพิจารณาของคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียน อาทิ ประเภทศิลปะการแสดง ได้แก่ ขับเสภา และละครนอก ประเภทงานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ ช่างแทงหยวก ประเภทวรรณกรรมพื้นบ้าน ได้แก่ ตำนานแม่นาคพระโขนง ประเภทกีฬาภูมิปัญญาไทย ได้แก่ กีฬาว่าวไทย ประเภทแนวปฎิบัตทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล ได้แก่ การแสดงความเคารพแบบไทย เช่น การไหว้ และประเพณีสงกรานต์ ประเภทความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล เช่น ต้มยำกุ้ง น้ำปลาไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น