รมว.วธ.ออกโรงแจงกัมพูชาขึ้นทะเบียนรำไทย-หนังใหญ่ ชี้ จดทะเบียนเพื่อสงวนไว้ว่ามีวัฒนธรรมนี้อยู่ในประเทศ-อนุรักษ์ ไม่ใช่จดลิขสิทธิ์ ขณะที่ไทยยังไม่ร่วมภาคีมรดกจับต้องไม่ได้กับยูเนสโก
สืบเนืองจากกรณีข่าวทางการกัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนรำไทย ท่าจีบไทย และหนังใหญ่ไทย กับยูเนสโก (UNESCO) นั้นนางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ทราบข่าวแล้ว การจดทะเบียนถือว่าเป็นการจดทะเบียนเพื่อสงวนไว้ ซึ่งวัฒนธรรมที่อยู่ในประเทศ ไม่ใช่เป็นการจดทะเบียนเพื่อจดลิขสิทธิ์ ต้องแยกกัน เพราะอันนี้ถือว่าเป็นการจดเพื่อให้ทราบว่าในประเทศของเขามีวัฒนธรรมตรงนี้ และจะมีการสงวนไว้ มีการถ่ายทอดให้กับลูกหลาน สำหรับของเราตอนนี้อยู่ในช่วงการดูเรื่องกฎหมาย เพราะทางเรายังไม่ได้เข้าไปร่วมภาคีมรดกจับต้องไม่ได้กับทางยูเนสโก เพราะฉะนั้นจะต้องรอข้อมูลจากทางตัวแทนของประเทศไทยที่อยู่ทางยูเนสโก ที่ต่างประเทศด้วย และต้องหารือกระทรวงการต่างประเทศด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า การจดทะเบียนครั้งนี้ สรุปได้ว่า ไม่ได้เป็นการขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก แต่เป็นการขึ้นทะเบียนภายในประเทศเท่านั้น ใช่หรือไม่ นางสุกุมล กล่าวว่า ไม่ใช่ เป็นการขึ้นทะเบียนจริง แต่เป็นในลักษณะที่ว่า ไม่ใช่ลิขสิทธิ์ ถือว่าเป็นวัฒนธรรมร่วม หลายๆ ประเทศอาจจะมีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างการรำในประเทศเรา ก็ถือว่าเป็นวัฒนธรรมของเรา ในเขมรเองก็ถือว่าการรำเป็นวัฒนธรรมของบ้านเขา เขาก็มีการจดเพื่อให้ทราบว่าในประเทศเขามีวัฒนธรรมทางการรำตรงนี้เกิดขึ้นในประเทศ
ด้าน นายสมชาย เสียงหลาย ปลัด วธ.กล่าวว่า หลังจากที่มีการนำเสนอข่าวว่า กัมพูชาได้นำรำไทย ท่าจีบไทย และหนังใหญ่ไทย ขึ้นทะเบียนกับยูเนสโก ตนได้มอบหมายให้ นายอภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะคณะกรรมการมรดกโลก ช่วยตรวจสอบเรื่องนี้ โดย ให้ทำหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รวมทั้งประสานไปยังผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การยูเนสโกช่วยตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้ ทาง สวธ.กำลังดำเนินการร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ... เพื่อคุ้มครอง และยืนยันว่า มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ อาทิ มวยไทย ท่ารำ เป็นของประเทศไทย ทั้งนี้ ความคืบหน้าการผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้ดำเนินการร่างเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นในบางมาตรา
อย่างไรก็ดี ทาง วธ.จะรายงานรายละเอียดของ พ.ร.บ.นี้ให้ นางสุกุมล รับทราบเพื่อเสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายนี้ รวมทั้งจะต้องหารือกับรัฐมนตรีว่า วธ.เพื่อเสนอรัฐบาลว่า ประเทศไทยสมควรเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้กับยูเนสโกหรือไม่ เพราะขณะนี้ไทยยังไม่ได้ร่วมภาคีฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ ข้อดีของการเป็นภาคีฯ เพื่อประกาศให้นานาประเทศรับทราบว่ามรดกวัฒนธรรมของไทยที่จับต้องไม่ได้มี อะไรบ้าง และมีโอกาสทักท้วงหากประเทศใดนำมรดกวัฒนธรรมของไทยไปขึ้นทะเบียน อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมเป็นภาคีฯ และผลักดัน พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือในการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ทั้งนี้ ต้องเข้าใจด้วยว่ามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้บางอย่างของประเทศไทย มีความคล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น อยากจะแยกไม่ออก จึงต้องมีการเก็บรวบรวมข้อมูลและหาหลักฐานยืนยัน