xs
xsm
sm
md
lg

วธ.เผยผลประชาพิจารณ์ ระบุ ปชช.99% หนุนร่วมภาคียูเนสโก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วธ.ชงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ ให้ รมว.วธ.เสนอ ครม.พร้อมเผยผลประชาพิจารณ์ ปชช.ร้อยละ 99 หนุนร่วมภาคีฯ ยูเนสโก

นายอภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาหลังจากทางกัมพูชาขึ้นทะเบียนท่ารำ และหนังใหญ่ ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ว่า สวธ.สรุปรายละเอียดเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ พ.ศ....เสนอต่อ นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบดันผลักดันออกเป็นกฎหมาย หากไทยจะเข้าร่วมอนุสัญญาฯ ของยูเนสโก จะได้มีกฎหมายรองรับ ขณะเดียวกัน จะใช้เป็นเครื่องมือในการจดทะเบียนและคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ในส่วนของไทยด้วย

นายอภินันท์ บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทำการประชาพิจารณ์มาแล้ว 1 รอบ โดยในร่าง พ.ร.บ.มีทั้ง 56 มาตรา แบ่งเป็น 8 หมวด ดังนี้ 1.บททั่วไป 2.คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมมรดกจับต้องไม่ได้ 3.คณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมมรดกจับต้องไม่ได้ประจำจังหวัด 4.การขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ 5.การคุ้มครองและส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ 6.การแก้ไขและเพิกถอนทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ 7.กองทุนคุ้มครองและส่งเสริมมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ และหมวด 8 มีการกำหนดบทลงโทษ

                โดยการทำประชาพิจารณ์ได้รับฟังความเห็นจากนักวิชาการวัฒนธรรมระดับจังหวัด ประธานสภาวัฒนธรรม ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดและตำบล ผู้แทนศูนย์วัฒนธรรมในสถานศึกษา และผู้แทนจากสภาเด็กและเยาวชน เกี่ยวกับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ของยูเนสโก เมื่อปี 2553 ผลการทำประชาพิจารณ์พบว่า ร้อยละ 99 เห็นว่าไทยควรเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยเร่งด่วน เพื่อปกป้องมรดกวัฒนธรรมของไทย ส่วนอีกร้อยละ 1 ไม่เห็นด้วย

ส่วนขั้นตอนการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ตามหนังสือแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ที่ กต.0805/1111 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2553 แจ้งว่า ขั้นตอนการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ วธ.และรัฐบาลต้องดำเนินการ ดังนี้ 1.รัฐบาลต้องได้ข้อยุติว่าไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ หรือไม่ และต้องศึกษาให้แน่ชัดว่า ต้องออก พ.ร.บ.เพื่อรองรับพันธกรณีในอนุสัญญาฯ ดังกล่าวหรือไม่ 2.หากได้ข้อยุติตามข้อ 1 แล้ว ก่อนลงสัตยาบันแสดงเจตนาในอนุสัญญาฯ และมีผลผูกพันกับประเทศไทยนั้น วธ.ในฐานะส่วนราชการเจ้าของเรื่อง ต้องให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของอนุสัญญาฯ

3.จากนั้นต้องนำอนุสัญญาฯ พร้อมร่าง พ.ร.บ.ที่รองรับพันธกรณีในอนุสัญญาฯ  เสนอให้ ครม.เห็นชอบ เพื่อส่งให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบอนุสัญญาฯ ตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องแนบร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ พ.ศ.... ให้รัฐสภาพิจารณาด้วย ทั้งนี้ หากรัฐสภาให้ความเห็นชอบเข้าร่วมภาคีอนุสัญญาฯ กต.ก็จะดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ได้ทันที โดยอนุสัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับกับประเทศไทย 3 เดือนหลังจากวันที่ได้นำสัตยาบันสารขึ้นทะเบียนไว้กับผู้อำนวยการใหญ่ของยูเนสโก
กำลังโหลดความคิดเห็น