แม้ว่าจะต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่นาน แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจ ช่วยกันพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง ทุกวันนี้ เครื่องจักสานพลาสติกจากฝีมือกลุ่มแม่บ้านบ้านควนเคี่ยม จ.พัทลุง ประสบความสำเร็จสามารถก้าวไกลไปถึงส่งออกต่างประเทศ ที่สำคัญ กลายเป็นอาชีพสร้างรายได้ที่คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ศิริพร ย้อยอัด วัย 51 ปี ประธานกลุ่มแม่บ้านบ้านควนเคี่ยม ต.ฝาละมี อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง เล่าว่า แม่ของเธอ ยึดอาชีพสานกระเป๋าจากวัสดุเหลือใช้ และเส้นใยกระสอบปุ๋ย มายาวนานตั้งแต่เธอยังเล็ก ทำให้ซึมซับและเรียนรู้วิธีการผลิตทุกขั้นตอนเป็นอย่างดี จนเติบโตขึ้นมาสานต่อ และยึดเป็นอาชีพหลักของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในเวลานั้น สินค้าขายได้ราคาต่ำ อีกทั้ง ไม่มีตลาดรองรับ จำเป็นเลิกอาชีพ แล้วหันไปทำมาหากินอย่างอื่นทดแทน ทั้งขายขนมไทย รับจ้างกรีดยาง ฯลฯ
แต่ด้วยฝีมือจักสานขั้นเซียนที่มีอยู่ในตัว เพื่อนบ้านในชุมชนจึงมาขอให้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างอาชีพจักสาน เพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชน เพราะเห็นตรงกันว่า งานจักสานเป็นอาชีพที่เหมาะกับชุมชน เนื่องจากสมาชิกมีความรู้ความสามารถเฉพาะทางด้านนี้ดีอยู่แล้ว และการทำงานเป็นกลุ่มน่าจะดีกว่าทำคนเดียว ดังนั้น ตัดสินใจกลับมาสู้กับอาชีพจักสานอีกครั้ง โดยจัดตั้งกลุ่มอาชีพ แม่บ้านบ้านควนเคี่ยม เมื่อปี พ.ศ. 2549
ในฐานะเสาหลักของกลุ่ม ศิริพรต้องรับภาระดูแลแทบทุกด้านเอง ตั้งแต่ออกแบบ คิดลวดลาย รวมถึงควักเงินลงทุนส่วนตัว สำหรับซื้อหาอุปกรณ์ที่จำเป็น และจ่ายค่าแรงให้แก่สมาชิก
สำหรับขั้นตอนทำงาน เริ่มจากแจกจ่ายงานตามความถนัดของแต่ละคน พองานเสร็จเอาสินค้ามาไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อส่งไปฝากขายที่ตลาด และเมื่อขายสินค้าได้ รายได้นอกจากจะให้เจ้าของผลงานแล้ว กำไรร้อยละ 3 จะต้องหักเข้ากองกลาง สำหรับไว้เป็นทุนหมุนเวียนภายในกลุ่ม
ประธานกลุ่ม ระบุว่า ช่วงแรก ประสบปัญหาเรื่องตลาดมาก ทำออกมาแล้วไม่มีตลาดรองรับ ล้มลุกคลุกคลานกันพอสมควร แต่สมาชิกทุกคน ไม่ยอมท้อ พยายามช่วยกันคิดพัฒนาสินค้าให้ถูกใจตลาดมากยิ่งขึ้น โดยยอมลงทุนซื้อเชือกพลาสติกจากประเทศมาเลเซียน ซึ่งมีสีสวยงาม และลวดลายแปลกตา เพื่อพัฒนาสินค้าให้ได้ตามที่ตลาดต้องการ และก้าวให้ทันแฟชั่น ช่วยให้สินค้าได้ผลตอบรับดีขึ้นทันตาเห็น
“ตอนนั้นตลาดมีการแข่งขันกันสูงโดยเฉพาะในพัทลุง เราจึงต้องสร้างจุดต่างให้สินค้า พยายามคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ สร้างสีสันให้ดูสวยงานแปลกตา ปรับรูปลักษณ์ให้ดูดีทันสมัย เลียนแบบกระเป๋ายี่ห้อดังๆ บ้าง ตามแฟชั่นดาราบ้าง เสริมลูกเล่น เช่น หูหิ้ว หรือของประดับเก๋ๆ ดูดี มาประยุกต์ให้เข้ากับผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้น ทำให้สินค้าดูแปลกตา เป็นที่ถูกใจของลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะลูกค้าชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่ชอบสีสันสดใสเป็นพิเศษ ซึ่งแต่ละปีสั่งซื้อเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นคู่ค้าสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้กลุ่ม ” ศิริพร กล่าว
นอกจากนั้น หน่วยงานต่างๆ เข้ามาต่อยอดให้การสนับสนุนทั้งความรู้ เงินทุน และการตลาด เช่น พัฒนาชุมชน อบต. อุตสาหกรรมจังหวัด ศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 34 พัทลุง และห้างเทสโก้ โลตัส สาขาพัทลุง ซึ่งให้วางจำหน่ายสินค้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ส่งผลให้กิจการคล่องตัวมากขึ้นและค่อยๆ เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสามารถสร้างรายได้เข้ากลุ่มไม่น้อยกว่า 8 หมื่นบาทต่อเดือน
“พอเรามีความรู้ ทำให้เรามองเห็นช่องทางและโอกาสที่กว้างขึ้น อย่างการไปออกงานแสดงสินค้าโอทอปที่เมืองทองธานีเมื่อเดือนธันวาคม (2552) ที่ผ่านมา ทำให้เราได้กลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นทั้ง ไทย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี จนตอนนี้มียอดสั่งซื้อสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมาก จนผลิตไม่ทัน” ประธานกลุ่ม เสริม
จุดเด่นของกระเป๋าพลาสติกจากฝีมือแม่บ้านกลุ่มนี้ อยู่ที่รูปแบบสวยเก๋ มีหลากหลายชนิดให้เลือก อีกทั้ง ใช้งานได้เหมาะสม เพราะมีความแข็งแรงทนทาน ไม่ขึ้นรา เหมาะกับทุกสภาพอากาศ เช่น กระเป๋าแฟชั่น กระเป๋าปิกนิก ตะกร้าจ่ายตลาด กระเป๋าเสื้อผ้า กล่องอเนกประสงค์ ฯลฯ ราคาตั้งแต่ 20-600 บาท ทุกชิ้นเป็นงานทำมือ เน้นความประณีต ละเอียดอ่อน ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และโอทอป 3 ดาว อีกทั้ง ประกันคุณภาพ หากสินค้ามีตำหนิหรือไม่เรียบร้อยยินดีรับคืน
ด้านช่องทางตลาด ทั้งส่งออก ให้ลูกค้าประจำชาวมาเลเซีย และสิงคโปร์ และตลาดในประเทศ คือ ตลาดหาดใหญ่ นราธิวาส สุราษฏร์ธานี และห้างเทสโก้ โลตัสสาขาพัทลุง เป็นต้น รวมถึง ออกงานแสดงสินค้าโอทอปต่างๆ ด้วย
ศิริพร ทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก ถึงกว่า 50 ชีวิต มีทั้งผู้สูงอายุ คนพิการ นักเรียน นักศึกษาและผู้ว่างงานในชุมชน ที่ต่างเข้ามามีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์จากอาชีพนี้ ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจส่วนตัวที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนของตนเอง
&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&&
โทร.08-9976-0335 หรือ www.falame.go.th