xs
xsm
sm
md
lg

คอมพิวเตอร์ สพฐ.เฟสแรกป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประมูลคอมพิวเตอร์สพฐ.กระทรวงศึกษาธิการเฟสแรกป่วน ผู้เข้าประมูลเตะตัดขาแย่งงานผ่านศึกเอกสารร้องเรียนคู่แข่ง ด้านวีแทคเตรียมพบเลขานุการสพฐ. และรมว.คนใหม่ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ป้องสิทธิการเข้าประมูล ยันไม่ผิดทีโออาร์

หลังมีการเปิดประมูลคอมพิวเตอร์เข้าโครงการคอมพิวเตอร์ ของกระทรวงศึกษาธิการ (สพฐ.) ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง มูลค่า 4 พันล้านบาท ที่สพฐ.ต้องการขยายอัตราส่วนการใช้งานคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1 เครื่องต่อนักเรียน 10 คน จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 1 เครื่องต่อนักเรียน 40 คน โดยเฟสแรกมีจำนวน 1.2 แสนเครื่อง จากจำนวนโรงเรียน 1.2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการได้ประมาณ 30%

โครงการดังกล่าวมีผู้เข้าประมูลรายหลักคือบริษัท เอสวีโอเอ บริษัท สพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) บริษัท สงขลา พับบิชชิ่ง และบริษัท วี เทคโนโลยี ซิสเต็มส์ (วีที) แต่การครั้งนี้ได้มีการร้องเรียนของผู้เข้าร่วมประมูลในรูปแบบของเอกสาร โดยอ้างเงื่อนไขการเชิญชวนเข้าร่วมประมูล หรือทีโออาร์ที่ระบุว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการประมูล

นายณัฐพงศ์ พันธเกียรตไพศาล กรรมการผู้จัดการ วีที ชี้แจงถึงการถูกร้องเรียนจากคู่แข่งในการเข้าประมูลแข่งกันในแต่ละโรงเรียนว่า วีทีไม่ได้มีปัญหากับสพฐ. ว่าเป็นการล็อกสเปก เพราะโครงการนี้เป็นลักษณะโครงการเปิดวีทีจึงสามารถเข้าร่วมประมูลได้ โดยข้อกำหนดหลักๆ ของทีโออาร์คือ 1.ต้องมีมาตรฐานของความปลอดภัย 2.ต้องมีมาตรฐานเกี่ยวกับการจ่ายพลังงานไฟฟ้า 3.ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ การเข้าประมูลโครงการดังกล่าววีทีได้ร่วมมือกับเอเทค คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ภายในประเทศ หรือโลคัล แบรนด์

สำหรับวีทีเป็นบริษัทที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่เพื่อเป็นผู้วางระบบไอที (เอสไอ) โดยมีนายวิกร วิวิธคุณาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ ดีคอมกรุ๊ป และญาติถือหุ้น 90% คอยให้การสนับสนุนด้านการเงินในการเข้าประมูลครั้งนี้ ขณะเดียวกันก็อาศัยเครือข่ายดีลเลอร์ของดีคอมที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 2-3 พันราย ในการเป็นซัปพลายเชน โดยมีเอเทคเป็นผู้ผลิตสินค้าที่เข้าร่วมประมูล

ผู้บริการวีทียกตัวอย่างที่ถูกร้องเรียนจากคู่แข่งให้เห็นว่า กรณีของการว่าจ้างให้มีการผลิต หรือโออีเอ็มจอภาพได้สัญญาการโออีเอ็มอยู่แล้วว่า ถ้าติดยี่ห้อหรือแบรนด์อะไรเจ้าของแบรนด์ต้องรับผิดชอบ ซึ่งทางวีทีก็มีหนังสือรับรองจากผู้ผลิตชัดเจนและทุกอย่างก็ได้มาตรฐานตามทีโออาร์กำหนด หรือกรณีของแหล่งจ่ายพลังงาน หรือเพาเวอร์ ซัปพลายที่คู่แข่งระบุว่าไม่ตรงกับสิ่งที่ส่งเมมโม แต่ทางศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ที่อยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ก็รับรองว่าเป็นรุ่นเดียวกัน เพียงแต่มีการพิมพ์ตกตัวเลขบางตัว เป็นต้น

“การร้องเรียนเป็นเรื่องเกินกว่าทีโออาร์กำหนด แต่เป็นการดิสเครดิตทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนมองว่าเราไม่ตรงกับทีโออาร์ ถึงราคาคาเราถูกกว่าคู่แข่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าสินค้าด้อยกว่า อย่างคู่แข่งเราใช้ชิปอินเทลเราก็ใช้ เมนบอร์ดใช้ของเอ็นเอสไอเราก็ใช้ แต่การที่เราทำราคาได้ต่ำกว่าคู่แข่งเพราะมีดีคอมเป็นแบ็กอัปช่วยเรื่องราคา เพราะมีการค้าขายชิ้นส่วนไอทีกับคู่ค้าทุกวัน เมื่อเราถูกร้องเรียนก็ต้องปกป้องสิทธิของเรา”

นายณัฐพงศ์ย้ำกว่า การเข้าร่วมประมูลโครงการของสพฐ.เปิดให้เข้าถึง 3 ช่องทาง อย่างกรณีของความปลอดภัยคู่แข่งยื่นการผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) 1956-2548ขณะที่วีทีที่เข้าในนามเอเทคยื่น CISPR22 ซึ่งเป็น การทดสอบในประเทศไทยได้ ISO17025 ก็อยู่ในกรอบทีโออาร์ หรือเรื่องของการจ่ายพลังไฟฟ้าคู่แข่งยื่น สมอ. 1956-2548 วีเทคยื่น IEC60950 ซึ่งได้ ISO17025 เช่นกัน มีมาตรฐานคือการเอกสารรับรองครุภัณฑ์ตรงกับรุ่นที่เสนอศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)

“เรายังเชื่อมั่นในเอเทคว่าจะสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็นทั้งเอกสารและแล็บรวมถึงผู้ผลิตว่าเราไม่ได้ผิดทีโออาร์ ยกเว้นทีโออาร์จะเกินกว่าหน้ากระดาษที่เราได้แล้วเราไม่รู้ ซึ่งเรื่องที่เราโดนตีไม่ได้อยู่ในทีโออาร์”

อีกประเด็นที่ผู้บริหารวีทีให้ความสำคัญคือจำนวนดีลเลอร์ที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 2.3 หมื่นราย แต่หากพิจารณาจากผู้ค้า 3 รายใหญ่ที่เข้ารวมประมูลรวมกันแล้วมีประมาณ 250-300 รายเท่านั้น

“ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจกระตุ้นเพื่อใคร แค่ผู้ค้าหรือดีลเลอร์ไม่กี่เจ้า ที่เหลืออีก 2 หมื่นรายจะทำยังไง ซึ่งเรื่องนี้เราไม่ได้ร้องเรียนใคร แต่จะพาวิศวกร นิติกร พร้อมเอกสารที่เราถูกร้องเรียนเข้าไปชี้แจงที่ต้นน้ำคือเลขานุการสพฐ.และรัฐมนตรีว่าการการทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ให้ทราบถึงข้อเท็จจริง”

อย่างไรก็ตาม จากการร่วมประมูลโครงการดังกล่าววีทีโฟกัสที่ภาคอีสาน เพราะเป็นพื้นที่ 1 ใน 3 ของการประมูล และผู้บริหารวีทียืนยันว่าเป็นพื้นที่ที่มีความแข็งแกร่งในการทำตลาด โดยวีทีตั้งเป้าไว้ว่าเฟสแรกจะมีส่วนแบ่งประมาณ 15-20% หรือประมาณ 400-600 ล้านบาท ส่วนเฟส 2 ที่คาดว่าจะเริ่มในเดือนก.ย.ปีนี้ คาดว่าจะมีส่วนแบ่งประมาณ 15-20% เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น