xs
xsm
sm
md
lg

“กบก๋องก๋อย” ผงไม้ขี้เลื่อย แต่งบ้านอารมณ์ดีสไตล์พื้นเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTV ผู้จัดการรายวัน - กบไม้ขี้เลื่อยอารมณ์ดี ผลิตภัณฑ์ของแต่งบ้าน ที่สามารถเรียกรอยยิ้มให้กับผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี เพราะด้วยดีไซน์ที่โดดเด่น จากการกำหนดท่าทางต่างๆ และจับเจ้ากบไม้ขี้เลื่อยมาแต่งตัวในชุดพื้นเมืองชาวเขาภาคเหนือ ประกอบกับฝีมือการปั้นที่ยอดเยี่ยม ส่งผลให้ผลงานกบไม้ขี้เลื่อย ของ “นางสาวธมนันท์ ไชยยา” ได้รับความสนใจและเรียกเงินในกระเป๋าผู้ที่ผ่านไปมาได้ไม่ยาก

นางสาวธมนันท์ เล่าว่า ที่มาของกบไม้ขี้เลื่อย เกิดขึ้นมาจากเดิมครอบครัวรวมถึงญาติๆทำผลิตภัณฑ์ไม้มะม่วง อาทิ แจกัน ภาชนะต่างๆ ฯ ออกขาย แต่ประสบปัญหาการแข่งขันที่สูง เพราะพื้นที่ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิด มีการทำผลิตภัณฑ์ไม้มะม่วง ออกมาขายกันเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เอง ตนเองจึงต้องคิดหาวิธีทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ซ้ำกับใครออกมาจำหน่าย เพื่อลดการแข่งขัน และตัดราคากันเอง เหมือนกับผลิตภัณฑ์จากไม้มะม่วง

ทั้งนี้ ยังคงเลือกทำผลิตภัณฑ์จากไม้ เพราะมีวัตถุดิบในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเศษไม้เหลือทิ้ง ที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่าง ตอไม้ รากไม้ และผงไม้ขี้เลื่อยที่เหลือจากการโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อะไร จึงได้ลองมาทำตุ๊กตาไม้ขี้เลื่อย และที่เลือกทำรูปกบ เขียด เพราะทุกคนมักจะมองว่า รูปร่าง หน้าตาของกบ และเขียดตามธรรมชาติ ดูน่าเกลียด ก็เลยเกิดความคิดว่าอยากจะทำ กบ เขียด ที่หลายคนมองดูน่าเกลียด มาแต่งตัวใหม่ให้ออกมาน่ารัก จึงได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ผงไม้ขี้เลื่อย ที่มีชื่อว่า “กบก๋องก๋อย”

'กบก๋องก๋อย' เป็นการนำผงไม้ขี้เลื่อย ที่เหลือทิ้งจากการทำงานไม้ มาปั้นขึ้นรูป โดยเน้นรูปแบบที่ให้ความรู้สึกสนุกสนาน จากรูปร่างหน้าตาและท่าทางที่ดูตลก แต่แฝงความคิดสร้างสรรค์งานศิลปะเข้าไป เพราะเป็นสิ่งที่ เจ้าของผลงานต้องการจะให้เป็น เนื่องจากโดยส่วนตัวเป็นคนชอบทำงานศิลปะ ส่วนเครื่องแต่งกาย เน้นผ้าพื้นเมืองชาวเขา และบางตัวมีการใส่ปลอกคอทองเหลืองให้เหมือนกับชาวเขา คอยาว ซึ่งเหตุผลนำเครื่องแต่งกายพื้นเมืองมาใส่ให้กับ เจ้ากบก๋องก๋อย เพราะต้องการสื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์พื้นเมืองของภาคเหนือ และนักท่องเที่ยวสามารถซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึกได้

“รูปแบบ และท่าทางต่างๆ ไม่ใช่ท่าทางของกบ หรือ เขียดจริง แต่เป็นรูปแบบที่จินตนาการขึ้นมาเอง บางตัวออกแบบให้มันเข้ากับยุคสมัย อย่างเช่น มีการใส่เหล็กดัดฟัน บางตัวเป็นคู่รัก มีการแสดงท่าทางความรักในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้ผู้พบเห็นรู้สึกสนุกสนาน นอกจากตุ๊กตาคู่รัก ผู้หญิง ผู้ชาย ตุ๊กตาตัวเดียว และตุ๊กตาครอบครัว ส่วนเครื่องแต่งกาย ใช้ผ้าพื้นเมืองของชาวเขาจริง แต่บางตัวใช้งานเพ้นท์เข้ามาช่วย เพื่อให้ชิ้นงานมีความหลากหลาย ซึ่งผลงานการเพ้นท์ เป็นฝีมือของตนเองทั้งหมด ทุกอย่างฝึกฝนขึ้นมาจากความชอบล้วน ไม่ได้ไปเรียนหรือ ศึกษามาจากสถาบันการศึกษาแต่อย่างใด อาศัยใจรัก และฝึกฝนบ่อยๆ ก็สามารถทำออกมาได้เอง”

ในส่วนของความแข็งแรงทนทานนั้น ได้ออกแบบเป็นพิเศษ ด้วยการใส่โครงเหล็กข้างใน เพื่อให้ตุ๊กตาแข็งแรง ป้องกันการแตกหัก และยังได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เพื่อการันตีถึงความแข็งแรงทนทานด้วย โดยกลุ่มลูกค้า เป็นนักท่องเที่ยว ซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก และใช้ตกแต่งบ้านและสวน ลูกค้ามีทุกช่วงอายุ แต่ส่วนใหญ่จะอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป วัยทำงาน เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และชื่นชอบการตกแต่งบ้าน

ส่วนของช่องทางการจัดจำหน่าย วางขายในตลาดอนุสาร (ศูนย์การค้าเชียงใหม่ไนท์บาซาร์) โดยในช่วงหลังผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ ยอดขายหายไปกว่า 70% ทำให้ต้องหาตลาดใหม่ ๆ เช่น การมาร่วมออกงานแสดงสินค้าในกรุงเทพฯ โดยได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานราชการให้การช่วยเหลือ มาร่วมออกงานแสดงสินค้า ที่จัดในกรุงเทพ ฯ ทำให้ได้ลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น และได้ออร์เดอร์ สั่งซื้อจากพ่อคนกลาง มารับไปจำหน่าย

สำหรับราคา เริ่มต้นที่ 150 บาท กบหนึ่งตัว และถ้าสองตัวขึ้นไปราคาชิ้นละ 250 บาท ตั้งราคาโดยดูจากค่าแรงเป็นหลัก เพราะงานแต่ละชิ้นต้องใช้เวลา และใช้ฝีมือในการทำ ส่วนตัววัตถุดิบเนื่องจากมีอยู่ในท้องถิ่น ส่วนผงไม้ขี้เลื่อยจะรับมาจากโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ ส่วนรากไม้เป็นเศษไม้มะม่วงที่เหลือทิ้ง จากการนำไม้มาทำแจกัน

“ข้อดีของการทำตุ๊กตาผงไม้ขี้เลื่อย นอกจากไม่ต้องลงทุนสูง และยังขายได้ง่าย ราคาไม่แพง และปัจจุบันยังไม่มีคู่แข่ง โดยทำมานานกว่า 2 ปี รายได้ดีกว่าการทำไม้มะม่วง เพราะขายได้เยอะกว่า และกำไรดีกว่า และนอกจากตุ๊กตาผงไม้ขี้เลื่อย มีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทำจากไม้ เช่น งานแกะสลักพระพุทธรูป และรับสั่งทำผลิตภัณฑ์จากไม้ทุกชนิด ฯลฯ”

โทร. 08-7172-2593
กำลังโหลดความคิดเห็น