xs
xsm
sm
md
lg

“เทริด” ภูมิปัญญาชิ้นเอกของชาวบ้านเมืองลุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง - “เทริด” มโนราห์ศิลปะพื้นบ้านชาวปักษ์ใต้ ที่ยากจะหาดูได้ยากในยุคปัจจุบันควรค่าแก่การอนุรักษ์ และนำมาเป็นของฝากเพื่อสืบสานในงานด้านศิลปะ การแสดงโนราห์มีเอกลักษณ์ที่เห็นเด่นชัดและไม่เหมือนใครคือการแต่งตัวของผู้แสดงที่ต้องมีเครื่องประดับที่สวยงามทั้งตัว

เมืองหนังโนราห์ อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน เป็นคำขวัญของ จ.พัทลุง ที่แสดงถึงเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ ที่โดดเด่น ใครได้ยินก็จะรู้ในทันทีว่าหมายถึงจังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะคำขวัญในวรรคแรก “เมืองหนังโนราห์” แสดงถึงความเป็นพัทลุงอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นแหล่งอารยะธรรมทางด้านศิลปะพื้นบ้านและเป็นแหล่งรวมศิลปินพื้นเมืองที่มีนายหนังตะลุงและคณะโนราห์มากมาย กอปรกับยังมีสถาบันด้านศิลปะพื้นเมืองอีกต่างหากนั่นก็คือวิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง ที่เป็นสถาบันแห่งการเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านศิลปะพื้นบ้านสู่อนุชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า

การแสดงโนราห์ หรือมโนราห์ ในปัจจุบันนิยมนำมาประยุกต์ใช้ในพิธีเปิดงานต่าง ๆ หรือใช้ในการแก้บน ซึ่งผสมผสานกับการละเล่นในยุคไฮเทค ในขณะเดียวกันการแสดงโนราห์มีเอกลักษณ์ที่เห็นเด่นชัดและไม่เหมือนใครคือการแต่งตัวของผู้แสดงที่ต้องมีเครื่องประดับที่สวยงามทั้งตัว และที่สำคัญที่จะให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบว่าเครื่องแต่งตัวโนราห์ที่สามารถผลิตเป็นสินค้าสร้างรายได้อย่างไม่น่าเชื่อนั่นก็คือ “เทริด” ที่เป็นเครื่องสวมศีรษะของโนราห์ ซึ่งถือว่าศักดิ์สิทธิ์และเชื่อว่าเป็นที่สถิตของครูโนราห์ มีลักษณะเป็นเทริดทรงสูง

ส่วนโครงรอบ สานด้วยไม้ไผ่ มีขนาดกว้างประมาณ 5 นิ้ว ความสูงถึงยอดประมาณ 15 นิ้ว ส่วนเพดานทำด้วยไม้ทองหลาง ยอดและหูทำด้วยไม้รักหรือไม้ยอ ซึ่งเหตุที่ใช้ไม้ทั้ง 3 ชนิดมาทำส่วนต่างๆ ของเทริดก็เพราะ “เพื่อเป็นการเอาเคล็ดจากชื่อไม้ คือคำว่า ทอง หมายถึงไม้ทองหลาง คำว่า รัก หมายถึงไม้รัก คำว่า ยอ หมายถึงไม้ยอ” ซึ่งในทางไสยศาสตร์เชื่อว่าไม้ดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่สวมใส่ มีความเป็นสิริมงคล มีเสน่ห์ในทางเมตตามหานิยม บนเพดานเทริด แกะหนังเป็นตัว “กนก” ติดโดยรอบลดหลั่นกันเป็น 3 ชั้น ตกแต่งประดับลายในส่วนต่าง ๆ ลงรักปิดทองหรือทาน้ำทอง ปัจจุบันนิยมใช้สีอาคะลิค ทาแทนการปิดทองคำเปลว ประดับแววด้วยกระจกหรือเพชร ตัวเทริดกับเทริดสามารถถอดออกจากกันได้

การทำเทริดโนราห์ของกลุ่มผู้ผลิตเทริดมโนราห์ ณ บ้านเลขที่ 148 หมู่ที่ 4 ตำบลสมหวัง อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบ้านไร่ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 โดย นายล่าย หนูยก และได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาในการทำเทริด ให้แก่นายเสริมศักดิ์ เลื่อนจันทร์ /นายพัน เลื่อนจันทร์ ซึ่งเกิดจากการแสดงมโนราห์และผู้แสดงมีเทริดที่จะสวมใส่ไม่เพียงพอ เลยเกิดความคิดที่จะทำเทริดให้เพียงพอกับผู้แสดง เพื่อแก้ปัญหาในขณะนั้น ภูมิปัญญาที่อาศัยความรู้และประสบการณ์ เป็นการนำวัสดุหรือทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาประดิษฐ์และก่อให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่นแห่งบ้านสมหวัง การทำเทริดได้พัฒนาฝีมืออย่างต่อเนื่องเพื่อให้งานออกมาอย่างประณีต และเป็นที่ยอมรับของคนในท้องถิ่น

เมื่อผู้คนในท้องถิ่นบ้านสมหวังภูมิใจยอมรับในชิ้นงานที่ออกมา ทำให้ชิ้นงานแพร่หลาย เลื่องลือไปยังตำบลใกล้เคียง จนทำให้ในปัจจุบันการทำเทริดถือได้ว่าเป็นอาชีพเสริมอีกทางหนึ่งที่ทำให้มีรายได้เพิ่มพูนให้กับครอบครัวและชุมชน การันตีโดยการได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และ ผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว

การทำเทริดเป็นภูมิปัญญาชิ้นเอก ที่มีค่าน่าหวงแหน อยากจะให้คนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อๆ ไป ช่วยสืบสานสิ่งที่มีค่าที่ดีงามชิ้นนี้ไว้ให้คงอยู่คู่เมืองลุงตราบนานเท่านาน

ผู้สนใจ สามารถเยี่ยมชมและหาซื้อได้ที่กลุ่มผู้ผลิตเทริดมโนราห์ เลขที่ 148 หมู่ที่ 4 ต.สมหวัง อ.กงหรา หรือศูนย์ผลิตภัณฑ์ OTOP พัทลุง








กำลังโหลดความคิดเห็น