xs
xsm
sm
md
lg

สสว. ใช้เวทีประชุมอาเซียน ผลักดันโครงการพัฒนา SMEs

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสว. ใช้เวทีประชุมคณะทำงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ผลักดันโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนากลไกและเครื่องมือที่จะใช้พัฒนาธุรกิจ SMEs ในหมู่สมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนส่งเสริม SMEs ในอาเซียน อีกทั้ง จัดทำรายงานสถานการณ์เอสเอ็มอีอาเซียน เพื่อเป็นตัวชี้วัดสุขภาพกิจการ SMEs ในภูมิภาค
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังจากที่ สสว. ได้เข้าร่วมประชุมคณะทำงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Committee of the Whole for the ASEAN Economic Community) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นเวทีหารือระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Official Meeting) หรือ SEOM ซึ่งมี Mr. Pushpana Than Sandram เป็นประธาน ว่า สสว. ได้เร่งรัดให้อาเซียนเร่งรัดโครงการความร่วมมือภายใต้พิมพ์เขียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างกัน (Best Practices) การพัฒนาเครือข่ายในภูมิภาค และการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

ทั้งนี้ สสว. ได้ใช้เวทีดังกล่าว ผลักดันประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในการดำเนินโครงการด้าน SMEs รวมทั้งได้เสนอผลงานที่ได้ดำเนินการและกำลังรอดำเนินการอยู่ของคณะทำงานอาเซียนเอสเอ็มอี (ASEAN SME Agencies Working Group) เช่น โครงการการจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบการอาเซียน โครงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีในภูมิภาค (Regional SME Development Fund) ซึ่งเดิมประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้เสนอ และประเทศไทยทำหน้าที่สานต่อในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว แต่พบว่ายังมีบางประเทศที่เข้าร่วมประชุม แสดงท่าทีไม่ชัดเจนในการเข้าร่วมกองทุน หรือโครงการสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จเพื่อเชื่อมโยงภายในภูมิภาคอาเซียนสำหรับเอสเอ็มอี (Comprehensive SME Service Center with Regional and Sub-Regional linkage in ASEAN) ซึ่งคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี สสว. ได้พยายามเรียกร้องให้อาเซียนมีการจัดสรรงบประมาณของตนเองเพื่อการดำเนินโครงการที่เป็นภารกิจเร่งด่วน โดยผู้แทน SEOM ของประเทศมาเลเซียได้เสนอว่า จะช่วยผลักดันการดำเนินกิจกรรมของ SMEs ในกรอบอาเซียนให้เป็นกรณีพิเศษด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนเอสเอ็มอี (ASEAN SME Ministerial Meeting) ในประเด็นที่ว่า การประชุมในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น OECD APEC และ ASEM ต่างมีการหารือในระดับรัฐมนตรี แต่ในกรอบของอาเซียนยังไม่มีการหารือในระดับดังกล่าว ทำให้ประเด็นความสำคัญของ SMEs ไม่สามารถเข้าไปสู่ความสนใจในระดับประเทศและภูมิภาคได้ ขณะที่ธุรกิจ SMEs เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ จำนวนวิสาหกิจ SMEs คิดเป็นอัตราส่วนถึงร้อยละ 98 ของวิสาหกิจทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องมีการผลักดันอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเด็นทางนโยบายในการส่งเสริม SMEs เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง ตัวอย่างเช่น สหภาพยุโรปมีกฎหมายสำหรับเอสเอ็มอี (SME Act) ซึ่งสามารถทำประโยชน์ให้แก่ SMEs ได้หลายด้าน


นายภักดิ์ ระบุต่อว่า สำหรับการเข้าถึงแหล่งทุนของ SMEs ในภูมิภาคอาเซียนยังคงมีปัญหาเช่นกัน กล่าวคือ มีอัตราส่วนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่ำ อีกทั้งยังได้รับข้อมูลข่าวสารความช่วยเหลือจากภาครัฐน้อย และสัดส่วนการค้าภายในภูมิภาคยังต่ำกว่าร้อยละ 30 ของการค้าทั้งหมด ดังนั้น จึงเสนอให้มีการจัดทำรายงานสถานการณ์เอสเอ็มอีอาเซียน (ASEAN SME White Paper) ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการทำให้ประเทศสมาชิกในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ทราบถึงสถานะที่แท้จริง ปัญหา อุปสรรค เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา SMEs ในประเทศของตน รวมทั้งสามารถเปรียบเทียบสถานะของตนเองกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในประชาคม นอกจากนี้ รายงานสถานการณ์ดังกล่าว ยังเป็นข้อมูลให้ผู้นำประเทศ ตลอดจนผู้กำหนดนโยบาย สามารถหยิบยกมาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุน SMEs ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอีกด้วย” นายภักดิ์กล่าว

นายภักดิ์ กล่าวอีกว่า ผลจากการประชุม เป็นที่น่ายินดีที่ที่ประชุมคณะทำงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Committee of the Whole for the ASEAN Economic Community) เห็นความสำคัญของ SMEs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดทำรายงานสถานการณ์เอสเอ็มอีอาเซียน (ASEAN SME White Paper) เพราะเชื่อมั่นว่า จะสามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดสุขภาพของกิจการ SMEs ในภูมิภาคอาเซียน ถึงความแข็งแกร่ง หรือจุดอ่อนในด้านต่างๆ โดยประธานที่ประชุมเห็นชอบให้เสนอประเด็นสำคัญเหล่านี้ ต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน หรือ SEOM ให้ได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้พิจารณาความช่วยเหลือ และเสนอไปยังที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ สสว. จะใช้โอกาสในการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม สุดยอดผู้นำกลุ่มสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งที่ 14 หรือ ”อาเซียน ซัมมิต” และการประชุมเกี่ยวเนื่องต่างๆ ผลักดันโครงการและประเด็นสำคัญในด้าน SMEs เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของไทย ทั้งในระดับกระทรวง กรม และสำนักงาน ต่างยินดีจะเข้าร่วมผลักดันโครงการและร่วมดำเนินกิจกรรม เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมภายใต้เลขาธิการอาเซียนซึ่งเป็นคนไทยให้มากที่สุด และขณะนี้ ประเด็นด้าน SMEs กำลังเป็นที่สนใจของหลายประเทศ และหลายกรอบการประชุม ดังจะเห็นได้จากความสนใจของเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ (SEOM) รวมถึงจะเร่งผลักดันโครงการภายใต้ความรับผิดชอบของประเทศไทย ได้แก่ โครงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีในภูมิภาค (Regional SME Development Fund) โครงการสร้างศูนย์บริการเบ็ดเสร็จเพื่อเชื่อมโยงภายในภูมิภาคอาเซียนสำหรับเอสเอ็มอี (Comprehensive SME Service Center with Regional and Sub-Regional linkage in ASEAN) และโครงการยกร่างรายงานสถานการณ์เอสเอ็มอีอาเซียน (ASEAN SME Whit Paper)
กำลังโหลดความคิดเห็น