xs
xsm
sm
md
lg

อาเซียนต้านกีดกันการค้าแก้วิกฤต“เจ๊วา”ปลื้มดึงเวียดฮั้วค้าข้าวฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาเซียนแสดงจุดยืนเรียกร้องทุกประเทศทั่วโลกร่วมมือแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ แทนใช้มาตรการกีดกันทางการค้า พร้อมหาทางสร้างโอกาสให้ SMEs เข้ามามีส่วนร่วมในอาเซียนแทนที่จะตกอยู่ในมือบริษัทยักษ์ใหญ่และบริษัทข้ามชาติ เล็งใช้วีซ่าใบเดียว เดินทางได้ทั่วอาเซียน “พรทิวา”ปลื้ม ดึงเวียดนามฮั้วค้าข้าวสำเร็จ แถมจับมืออินโดนีเซียร่วมมืออุตสาหกรรมยานยนต์ ส่วนเอฟทีเออาเซียนกับจีน เกาหลี ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เซ็นเรียบร้อย ยกเว้นกับอินเดีย

นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (Informal AEM) วานนี้ (27 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ และอาเซียนได้ร่วมกันแสดงท่าทีเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกันแก้ไขปัญหา แทนที่จะหันไปใช้มาตรการใดๆ ที่จะเป็นอุปสรรคกีดกันทางการค้า เพราะจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ การที่อาเซียนได้หันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เนื่องจากขณะนี้มีแนวโน้มว่าประเทศที่สำคัญทางเศรษฐกิจหันมาให้ความสำคัญกับตลาดตนเองมากขึ้น เช่น สหรัฐฯ กำลังจะใช้มาตรการให้คนในประเทศหันมาใช้สินค้าที่ผลิตโดยคนสหรัฐฯ (บาย อเมริกัน) ขณะที่สหภาพยุโรป (อียู) เริ่มหันมาให้การอุดหนุนมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบผลการดำเนินการดำเนินการของอาเซียนในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และรับทราบผลการดำเนินการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งไทยได้เสนอการดำเนินการในระดับภูมิภาคในปี 2552 โดยจะจัดงานอาเซีนย เทรด แฟร์ ในเดือนส.ค.นี้ และจัดโครงการยุวทูต AEC ที่จะนำเยาวชนอาเซียนประเทศละ 10 คน เดินทางไปประเทศสมาชิก เพื่อศึกษาดูงานภาคธุรกิจการค้า เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนอาเซียนให้เป็นจักรกลสำคัญของอนาคตอาเซียน

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือที่จะผลักดันให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประชุมอาเซียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) เพราะทุกฝ่ายกังวัลว่าการเปิดเสรีอาจจะยิ่งเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทข้ามชาติเข้ามามีบทบาทด้านการค้าการลงทุนในอาเซียนมากกว่าธุรกิจในภูมิภาคเดียวกัน หลังจากที่อาเซียนมีเป้าหมายในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจในปี 2558

ขณะเดียวกัน เห็นว่าอาเซียนควรจะมีการหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยระดับรัฐมนตรีควรจะมีการประชุมกันปีละ 2 ครั้ง ซึ่งทุกประเทศต่างให้ความเห็นชอบและให้ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งต่อไป

ส่วนความร่วมมือทางด้านอื่นๆ จะผลักดันให้สมาชิกอาเซียนเดินทางผ่านทุกประเทศในอาเซียนด้วยวีซ่าเพียงใบเดียว และในด้านการขนส่งสินค้าให้สามารถขนส่งสินค้าได้ตลอดทั้งอาเซียนโดยที่ไม่ต้องมีการขนถ่ายสินค้าออก

สำหรับการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น อาเซียนทุกประเทศต่างมีแนวคิดในการหามาตรการรองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งในส่วนของไทยได้ชี้แจงว่า รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ และกำลังเตรียมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 ในเร็วๆ นี้ รวมทั้งจะมีการเร่งรัดการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ๊กต์)

นางพรทิวากล่าวอีกว่า วันเดียวกันนี้ ได้มีการหารือทวิภาคีร่วมกับเวียดนาม ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้ข้อสรุปที่จะสร้างความร่วมมือในเรื่องข้าว โดยเห็นชอบตามที่ไทยเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาความร่วมมือใน 3 ระดับ คือ ชาวนาไทย-ชาวนาเวียดนาม ผู้ส่งออกข้าวไทย-ผู้ส่งออกอาหารเวียดนาม และรัฐมนตรี-รัฐมนตรี และจะขยายความร่วมมือไปยังสินค้าอื่นๆ ด้วย เช่น ผลไม้ และสินค้าอุปโภคบริโภค

ส่วนการหารือกับอินโดนีเซีย ไทยได้ขอให้อินโดนีเซียพิจารณาทบทวนเรื่องการออกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าใหม่ที่กำหนดให้สินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าของเล่นเด็ก รองเท้า อาหาร และเครื่องดื่ม 529 รายการ ผู้นำเข้าต้องได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีการค้าของอินโดนีเซีย และนำเข้าผ่านท่าเรือที่กำหนดไว้เพียง 5 แห่ง จาก 9 แห่ง และที่ท่าอากาศยานระหว่างประเทศเท่านั้น อีกทั้งยังมีการตรวจสอบทางเทคนิคโดยผู้สำรวจ ซึ่งผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบ

นอกจากนี้ ยังได้เห็นร่วมกันที่จะสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยให้แต่ละประเทศผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์ตามความถนัดของตัวเอง และเน้นการบุกเจาะตลาดใหม่ เช่น อินเดีย จีน คาซัคสถาน และประเทศในแอฟริกา โดยไม่แย่งตลาดกัน ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งจะทำไปพร้อมๆ กับความร่วมมือด้านประมง และอาหารฮาลาล

นางพรทิวากล่าวว่า สำหรับการลงนามในข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจานั้น ได้มีการลงนามในข้อตกลงอาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลี และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ไปแล้ว ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการค้าและการลงทุนของไทยในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น ส่วนอาเซียน-อินเดีย ไม่ได้มีการลงนามกันในครั้งนี้ คงต้องชะลอไปก่อนจนกว่าจะมีการเจรจาและกำหนดระยะเวลาลงนามกันใหม่ และคงต้องยึดกรอบที่ไทยได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น