xs
xsm
sm
md
lg

มหกรรมประชาชนอาเซียน เมื่ออาเซียนยังห่างไกลและไม่มีส่วนร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมอาเซียนของประชาชน
ด้วยพื้นที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ขนาดเศรษฐกิจ ปริมาณทรัพยากร และจำนวนประชากรประมาณ 550 ล้านคน ย่อมไม่มีใครปฏิเสธได้ถึงศักยภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ อาเซียน หรือ ASEAN-Association of Southeast Asian Nation ก็รู้ตัวเองดีในเรื่องนี้ มันนำมาซึ่งความพยายามที่จะสร้างกลไกต่างๆ ขึ้นเพื่อผลักดันให้อาเซียนก้าวเข้าสู่เวทีสากลอย่างสง่าผ่าเผย

กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมปีที่แล้ว หมายความว่าเรา-คนไทยและประชาชนในอีก 9 ประเทศ ล้วนอยู่ภายใต้กรอบกติกาของกฎบัตรอาเซียนกันถ้วนหน้าและเงียบเชียบ มันบรรจุด้วยมาตรการหรูหราเกี่ยวกับการส่งเสริมสนับสนุนประชาธิปไตย การมีส่วนร่วม และสิทธิมนุษยชน ทั้งยังให้ความสำคัญกับการหลอมรวมอาเซียนให้เป็นตลาดเดียวภายในปี 2558 หรือที่เรียกว่า พิมพ์เขียวแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint-AEC) และอีกเช่นกัน เรื่องนี้เกิดขึ้นและดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ

แต่คำถามที่ไม่ถามไม่ได้ก็คือ ที่ว่ามีส่วนร่วมนั้น คน 550 ล้านคนจะมีส่วนร่วมอย่างไร โดยไม่ใช่การที่ผู้นำของแต่ละประเทศหรือทุนยักษ์ใหญ่ปิดห้องคุยกันเอง แล้วเปิดห้องออกมาบอกว่าเราจะทำแบบนั้นแบบนี้ จะสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างไร เมื่อแต่ละประเทศต่างมีระบอบการปกครองแตกต่างกัน จะสนับสนุนสิทธิมนุษยชนอย่างไร เมื่อเผด็จการทหารพม่าสลายการชุมนุมด้วยกระสุนปืนและเข่นฆ่าพระสงฆ์ในปี 2550 และอาเซียนทำได้มากที่สุดคือการบ่นดังๆ

อาจเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งเมื่อมีการประชุมระดับนานาชาติ ย่อมต้องมีการประชุมของภาคประชาชน-ประชาสังคมคู่ขนานไปด้วยเสมอ เป็นการเคลื่อนไหวทั้งในเชิงสัญลักษณ์และต้องการนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อบอกกับผู้นำประเทศว่า พวกคุณจะทำอะไรโดยไม่ฟังเสียงประชาชนไม่ได้

มหกรรมประชาชนอาเซียน หรือ ASEAN PEOPLES’ FORUM 2009 เมื่อวันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็มีความหมายในทำนองนั้น ประชาชนจาก 10 ประเทศเดินทางมาร่วมงานครั้งนี้มากน้อยแตกต่างกันไปตามระดับเสรีภาพภายในประเทศ แต่ปัญหาและข้อเรียกร้องไม่ต่างกัน

1.

มันทำให้เรารู้ว่าผู้คนในแต่ละประเทศล้วนเผชิญการคุกคามจากกลไกตลาดเสรี การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการนิ่งเฉยดูดายจากรัฐบาลของตน ประเด็นที่ติดตามมาคือ ในเมื่อรัฐบาลของแต่ละประเทศก็ดูจะยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาของตนเองได้ แล้วองค์กรระดับภูมิภาคอย่างอาเซียนจะสร้างแรงสั่นสะเทือนอะไรในทางบวกกับประชาชนได้บ้าง

ที่ต้องถามเช่นนี้เป็นเพราะในความรู้สึกของคนจำนวนไม่น้อย การมีอยู่ของอาเซียนแทบไม่มีส่วนเกี่ยวพันใดๆ กับประชาชน นอกเสียจากข้อตกลงที่ผู้นำประเทศตกลงกันเอง แล้วผลกระทบก็มาตกกับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรากหญ้า เกษตรกร หรือคนชายขอบ ที่ภูมิคุ้มกันโลกาภิวัตน์ไม่แข็งแรงเท่าชนชั้นกลาง

“ไม่รู้จัก เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่รู้จัก (หัวเราะ) คนที่บ้านก็ไม่รู้จักเลย มานี่ก็มาฟังเขาบรรยายว่าอาเซียนมันคืออะไร จะได้ไปบอกให้ชาวบ้านที่เขาไม่รู้เรื่องได้ฟังบ้าง พอให้รู้เป็นรางๆ ว่าอาเซียนมันเป็นยังไง แต่ว่ามันก็ไม่เห็นดีกว่าเดิม” เป็นคำตอบตรงไปตรงมาของคุณลุง สืบศักดิ์ โคตรสงคราม วัย 74 ปี ชาวบ้านจากจังหวัดฉะเชิงเทรา

ไม่ต้องถามหรอกว่าอาเซียนจะทำอะไร เพียงคำถามง่ายๆ ‘รู้จักอาเซียนหรือเปล่า?’ ที่เราถามกับคนรากหญ้าภายในงาน คำตอบที่ได้สะท้อนเรื่องราวได้มากมาย

“ก็เพิ่งจะเคยได้ยินคำว่าอาเซียน เมื่อปีที่แล้วนี่แหละ แต่ก่อนนี้ไม่เคยได้ยินหรอก คนแถวบ้านก็ไม่รู้จัก ไม่มีเลย เพิ่งจะมารู้จักก็ตอนที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์ทางโทรทัศน์ ไม่รู้ด้วยว่าความหมายของอาเซียนเป็นยังไง” หนูเกณ อินจันทร์ ชาวบ้านจากสลัมคลองเตยให้คำตอบไม่แตกต่างจากคุณลุงสืบศักดิ์ คล้ายๆ กับ นุชนารถ แท่นทอง ที่เดินทางมาจากสมุทรปราการ เธอตอบเราว่า

“เคยได้ยินแต่เอเชียนเกมส์ ยังถามกันอยู่เลยว่าทำไมต้องประชุมอาเซียน”

เราเองก็ตอบไม่ได้...

2.

แต่เรื่องหนึ่งที่อาเซียนค่อนข้างภูมิใจคือการประชุมถึงปีละ 700 ครั้ง อาเซียนประชุมกันเรื่องอะไร ผลของการประชุมเป็นอย่างไร ใช่, เราไม่เคยรู้

“อาเซียนตั้งมาประมาณ 40 ปีแต่ไม่มีใครรู้จัก เพราะเป็นองค์กรของรัฐอย่างเดียว 700 ครั้งได้อะไรขึ้นมา มันเป็นการประชุมของกระทรวงต่างๆ เพราะอาเซียนเป็นกลไกของรัฐจริงๆ ตัวกระทรวงต่างๆ ก็ประชุมเพียงเรื่องของตัวเอง

“ถ้าเขาทำแบบนี้ต่อไปประชาชนก็คงไม่ได้รับรู้อะไรเหมือนเดิม เมื่อ 2 ปีที่แล้วเขาประกาศว่าจะทำกฎบัตรอาเซียน มันคือธรรมนูญของอาเซียนที่จะประกาศตัวว่านี่คือองค์กรระหว่างรัฐ แล้วกฎบัตรนี้มันผูกพัน หมายความว่าประชาชนย่อมผูกกับกฎบัตรนี้ด้วย เราเอาอนาคตมาผูกกันว่าภายใต้กฎบัตรนี้ เราก็สงสัยกัน เพราะอย่างการร่างรัฐธรรมนูญถ้าเราไม่มีส่วนเกี่ยงข้องเราก็โวยวายตาย แต่อยู่ดีๆ อาเซียนจะทำกฎบัตรอาเซียนโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมได้อย่างไร ดังนั้น พวกเราก็เลยลุกขึ้นมาตั้งคำถาม”

เป็นข้อสังเกตของ ชนิดา จรรยาเพศ แบมฟอร์ด โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา โฟกัส เธอยังอธิบายด้วยว่าในกฎบัตรอาเซียนจะให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก-เสาหลักแรกคือความมั่นคง หลักที่ 2 คือเศรษฐกิจ และหลักที่ 3 คือสังคม-วัฒนธรรม

โดยเฉพาะเสาหลักที่ 2 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดูจะเป็นสิ่งที่ประชาชนชายขอบของทั้ง 10 ประเทศหวั่นเกรงที่สุด ตัวอย่างจาก FTA ไทย-จีนกับความล่มสลายของผู้ปลูกผลไม้และกระเทียมไทยคือภาพสะท้อนที่ชัดเจน แต่อาเซียนกำลังจะกลายเป็นตลาดเดียว ฐานการผลิตเดียวภายในปี 2558 ทุน สินค้า และแรงงานมีทักษะจะไหลเข้า-ออกอย่างเสรี โดยที่ยังไม่มีการศึกษาถึงผลกระทบที่ตามมา

สถานการณ์ที่ทุนใหญ่ระดับภูมิภาคเข้าไปแย่งชิงทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายเชื่อว่าจะต้องเกิดขึ้น เพราะยังไม่เปิดเสรีปัญหาก็มีให้เห็นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตน้ำตาลของไทยที่เข้าไปกว้านซื้อที่ดินในประเทศกัมพูชา หรือบริษัทสินค้าเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยอีกเช่นกันที่เข้าไปควบคุมระบบอาหารในประเทศอินโดนีเซีย หรือคนพม่าจะได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหนเมื่อทรัพยากรอันมั่งคั่งของพม่าตกอยู่ในมือทหารเพียงไม่กี่นาย ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

3.

ไม่ใช่เพียงชาวบ้านไทยเท่านั้นที่อาเซียนเป็นเพียงเมฆหมอกจับต้องไม่ได้ ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็เช่นกัน Toe Toe นักศึกษาชาวพม่าจาก Burma Delegation Group บอกกับเราว่า คนพม่าไม่รู้จักอาเซียน

“ชาวพม่าแทบจะไม่รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอาเซียนเลย เพราะว่ามีโทรทัศน์อยู่ช่องเดียวซึ่งแม้ว่าจะมีข่าวอาเซียนบ้าง แต่คนก็จะไม่ค่อยชอบดูโทรทัศน์ของรัฐบาลเพราะไม่มีข่าวการเมือง มีแต่ข่าวของรัฐบาลว่ารัฐบาลไปทำบุญให้กับวัดต่างๆ ส่วนคนที่จะรู้จักอาเซียนคือคนที่อยู่นอกประเทศ”

คำพูดของ Toe Toe ประหนึ่งจะตีแสกหน้าอาเซียนและ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เขากล่าวย้ำหลายครั้งในงานครั้งนี้ว่า ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม อาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน แต่ความจริงกับสิ่งที่อยากให้เป็น บ่อยครั้งมักไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

“รู้สึกผิดหวังที่อาเซียนวางตัวว่าจะไม่แทรกแซงเรื่องภายในประเทศของกันและกัน เพราะอยากจะสร้างความสมานฉันท์ แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย แล้วสิ่งที่อาเซียนทำจะเรียกว่าเป็นผลประโยชน์ของอาเซียนได้อย่างไรเพราะว่าคนพม่าไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย และในเมื่อจุดประสงค์อย่างหนึ่งของอาเซียนคือการแสวงหาสันติในภูมิภาค การที่อาเซียนวางตัวนิ่งๆ มันแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเมื่อมีปัญหาการเมืองภายในคนก็อพยพออกมา ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาเป็นเรื่องความมั่นคงต่อประเทศอื่นๆ ในอาเซียน การเงียบจึงไม่อาจช่วยให้เกิดสันติในอาเซียนได้”

Henry Saragih เกษตรกรจากประเทศอินโดนีเซีย ให้คำตอบไม่แตกต่างจากคนอื่นๆ เขาบอกว่าชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ในอินโดนีเซีย ไม่รู้จักอาเซียน ไม่รู้ว่าอาเซียนจะเกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเขาอย่างไร

“แต่เราเห็นว่าการเปิดตลาดเสรีที่อาเซียนกำลังทำจะเป็นอันตรายต่อชาวไร่ ชาวนาในอินโดนีเซีย”

หรือแม้แต่ชาวตะวันตกอย่าง Charlotte Chompff อาสาสมัครของ AAPP (Assistance Association for Political Prisoners (Burmese)) เธอเคยทำงานให้กับองค์กรนิรโทษสากลในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เธอยอมรับว่าตอนที่ทำงานอยู่ลอนดอน แม้เธอจะจับประเด็นเกี่ยวกับภูมิภาคนี้ แต่เธอก็รู้เรื่องราวของอาเซียนน้อยมาก

“อาเซียนไม่ให้ข้อมูล ไม่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับตัวเอง เหมือนเป็นองค์กรปิดๆ ตัวฉันเองพยายามศึกษาข้อมูลก็แทบจะหาไม่ได้ และโดยจุดประสงค์ของอาเซียนก็ดูจับต้องไม่ได้และเป็นความลับ เวลาจะตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ก็ไม่มีการเปิดเผยออกมา และเป็นแค่คำสวยหรู

“สิ่งที่ดูใหญ่โตและเป็นที่รับรู้ที่สุดแล้วก็คือการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนปีละครั้ง สิ่งที่ฉันรู้มา อาเซียนมีประชุมกันปีละ 700 ครั้ง แล้วการประชุมอีก 699 ครั้ง อาเซียนทำอะไรกัน คุยอะไรกัน ไม่รู้เรื่องเลย ประชาชนไม่รู้เลย เข้าไม่ถึง ไม่มีการเปิดเผย เมื่อขาดข้อมูลแบบนี้มันก็เป็นเรื่องยากที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ถ้าเทียบกับอียู อียูจะมีการทำงานกับสาธารณะมากกว่า ให้ข้อมูลมากกว่า”


4.

แม้ว่าความเป็นอาเซียนจะยังห่างเหินจากคำว่าการมีส่วนร่วม แต่ภาคประชาชน-ภาคประชาสังคมก็ได้แลกเปลี่ยน ถกเถียง และตกผลึกร่วมกันว่าประชาชนในอาเซียนจะต้องประสานความร่วมมือเป็นเครือข่ายทั้งในประเทศและนอกประเทศ สร้างพื้นที่ในการต่อรอง คัดง้าง กับรัฐบาลของตนในประเด็นต่างๆ เพื่อให้ส่งผลต่อเนื่องไปสู่ระดับภูมิภาค

ประชาชนจะต้องร่วมกันผลักดันให้คำว่า ‘การมีส่วนร่วม’ ไม่ใช่คำที่ปรากฏอยู่แต่บนกระดาษ

เหมือนกับคำที่เราได้ยินบ่อยครั้งภายในงาน

“เราจะต้องร่วมมือกัน”

************

เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
ภาพ-ธนารักษ์ คุณทน


ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนไทยต่อรัฐบาลไทยและอาเซียน
1.อาเซียนต้องมีความจริงใจและกระตือรือร้นที่จะสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
2.แนวนโยบายใดๆ ของอาเซียนจะต้องมีการทบทวนเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะเป็นไปเพื่อเสริมสร้างคุณค่าของสันติภาพในภูมิภาค
3.อาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับเสาหลักประชาสังคมและวัฒนธรรม
4.อาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงาน
5.อาเซียนจะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาอธิปไตยทางอาหารของประชาชน
6.โครงการความร่วมมือขนาดใหญ่ โครงการด้านพลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนจะต้องได้รับการทบทวน
7.อาเซียนจะต้องสนับสนุนรัฐสมาชิกให้มีธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม
8.อาเซียนจะต้องสนับสนุนรัฐสมาชิกให้มีการสร้างกระบวนการยุติธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
9.ประเด็นสิทธิมนุษยชนจะต้องถูกยกระดับขึ้นเป็นวาระเร่งด่วนของภูมิภาค
10.รัฐไทยในฐานะรัฐสมาชิกที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและเป็นผู้นำอาเซียนจะต้องมีสำนึกแห่งความรับผิดชอบและมีบทบาทผลักดันให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริง


บรรยากาศในที่ประชุม
ชาวบ้านกำลังตั้งใจฟังเนื้อหาการพูดคุย
ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ก็มา

ชาวบ้านถือป้ายคัดค้านโครงการของรัฐ

งานวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์
ล่ามภาษามือแปลเนื้อหาให้ผู้พิการทางหูได้เข้าใจ
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน
กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น