xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้ศก.อาเซียนเหลื่อมล้ำสูง แนะผนึกความร่วมมือดึงเงินลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"นิด้า"จัดสัมมนาผ่ากลยุทธ์การค้าการลงทุนอาเซียน โหมโรงก่อนการประชุมอาเซียนซัมมิท นักวิชาชี้แนวทางความสำเร็จกลุ่มอาเซียน ต้องมีปัจจัยรองรับที่ครบวงจร เพื่อเอื้ออำนวยต่อการลงทุนต่อเนื่อง ย้ำชัดต้องการเทคโนโลยีและความร่วมมืออย่างจริงจัง ขณะที่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการส่งสินค้าสู่ตลาดที่กลายเป็นคู่แข่งกันเอง

นายฟิเลมอน เอ อูเรียเต้ ผู้อำนวยการมูลนิธิ ASEAN FOUNDATION ประจำกรุงจาการ์ต้า กล่าวในระหว่างเข้าร่วมสัมมนา "การลงทุนและการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน" โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมกับสถาบันการค้าโลกและกฎระเบียบการค้า การลงทุน มหาวิทยาลัย Fribourg ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)ว่า การลงทุนในอาเซียนนั้นต้องการการรองรับแบบ integrated หรือครบวงจรเป็นหัวใจสำคัญ แต่ความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมดในกลุ่ม จัดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การพัฒนาทั้งกลุ่มเป็นไปได้ยาก แม้ว่าอัตราการเติบโตในประเทศด้อยพัฒนาอย่างพม่า ลาว เขมร และฟิลิปปินส์ได้มีการพัฒนามากขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาช่องว่างที่แตกต่างของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ และ มาเลเซีย ซึ่งยังแตกต่างกันมากเกินไปกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค และยังไม่สามารถหามาตรการกลางในการช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อให้ภูมิภาคมีความทัดเทียมกันมากกว่านี้ ถึงแม้ว่าจะมีการประชุม อาเซียน วิชั่น 2020 ในกัวลาลัมเปอร์ไปแล้วในปี 2540 เพื่อพยายามลดช่องว่างทางเศรษฐกิจลงให้ได้ในปี 2563 แต่ก็ดูเหมือนว่า จะยังไม่ได้ผล

อย่างไรก็ตาม ASEAN Economic Community ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนา โดยเน้นไปที่เทคโนโลยี และการร่วมมือกันอย่างจริงจังมากกว่าที่จะชี้แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศด้อยพัฒนาในกลุ่ม โดยอาศัยการริเริ่มสำหรับการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนอย่างครบวงจร (Initiative for ASEAN Integration – IAI) ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยการพัฒนากฎหมาย องค์การและระเบียบกฎเกณฑ์ และความสามารถในทางเทคนิค และสมรรถนะในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา คือ เขมร ลาว พม่า และเวียดนาม โดยเน้นไปที่การพัฒนาสาธารณูปโภค บุคลากร ข้อมูลและเทคโนโลยีข่าวสาร และโปรโมทความร่วมมือในทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค รวมทั้งจัดทำโรดแม็พสำหรับการร่วมมือในอาเซียน (Roadmap for the Integration of ASEAN - RIA) เพื่อให้ผลประโยชน์ของการพัฒนาอาเซียนจึงจะสามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้

ด้านนายฟิลลิปป์ กัจเลอร์ นักวิชาการประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัย Fribourg ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ กล่าวเสริมว่า การร่วมมือในการแข่งขันทางการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียนต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจในเชิงมหภาค การเมือง กฎหมาย และสังคม โดยมีปัจจัยหลักสำคัญ 3 ข้อที่ต้องพิจารณาคือ ความทันสมัยขององค์กร สภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจ และสภาพคล่องตัวของการพัฒนา ซึ่งในแต่ละประเทศควรคำนึงถึงความเป็นจริงว่า สถานะของประชากรที่ประกอบกิจการจะดีขึ้นได้จะต้องประสบความสำเร็จในการเจาะลึกการพัฒนาระดับโครงสร้างตั้งแต่ระบบเศรษฐศาสตร์จุลภาค

“การสร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขันต้องคำนึงถึงกลยุทธ์ทางการค้าขององค์กร ความต้องการในตลาด คู่ค้าที่จะสนับสนุนกิจการ สภาพเกื้อหนุน โดยปัจจัยเหล่านี้จะก่อให้เกิดโอกาสทางการค้าและมีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐบาล ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ” นายกัจเลอร์กล่าว

รศ.ดร. ภวิดา ปานะนนท์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความคิดเห็นว่า อุปสรรคของการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคคือ การลงทุนทางการค้าของกลุ่มประเทศอาเซียน มีความแตกต่างกันอย่างมาก อีกทั้งประเทศในอาเซียนมักจะผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ละประเทศจึงกลายมาเป็นคู่แข่งกันเองในสินค้าหลายๆรายการ การเปิดตลาดของอาเซียนจึงมีปัญหาตามมาดังนั้น การที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มประเทศอาเซียน จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย มิฉะนั้นการเติบโตของทั้งภูมิภาคจะเป็นไปได้ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น