xs
xsm
sm
md
lg

เดินเครื่องยุทธการฝูงห่าน ดัน SMEsไทยบุกอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
เดินเครื่อง “ยุทธการฝูงห่าน” ทุ่มงบกว่า 287 ลบ. ดัน SMEs ไทยเจาะตลาดอาเซียน ดึงบริษัทใหญ่ประคองบริษัทเล็กออกลุย พร้อมสนับสนุน SMEs พัฒนาตนเอง วางเป้าส่งเสริมธุรกิจหลัก 5 สาขา ได้แก่ อาหาร เฟอร์นิเจอร์ แฟชั่น การพิมพ์ และบริการท่องเที่ยว

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะส่งออกและการท่องเที่ยว รัฐบาลจึงมีนโยบายช่วยเหลือแก่ SMEs โดยตรงอีกทางหนึ่งคือการผลักดัน SMEs เข้าสู่ตลาดอาเซียน ใช้ประโยชน์จากการเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ(ASEAN Economic Community : AEC) เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ภูมิภาค สามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียทั้งจีนและอินเดีย ดังนั้น มอบให้ สสว. สานต่อออกมาเป็นรูปธรรม ภายใต้โครงการ SMEs Flying Geese หรือยุทธการฝูงห่าน

นายภักดิ์ ทองส้ม รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว.) เผยว่า มูลค่าการส่งออกของ SMEs สู่ตลาดโลกมีจำนวน 1.58 ล้านล้านบาท จำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคอาเซียนร้อยละ 24 หรือมีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) มูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท จึงเห็นได้ว่าตลาดในภูมิภาคอาเซียนนี้เป็นตลาดสำคัญสำหรับ SMEs ไทย

ดังนั้น แนวทางการส่งเสริม SMEs สู่ตลาดอาเซียนนี้ จะมุ่งให้บริษัทใหญ่จับมือกับบริษัทเล็กออกสู่ตลาดภูมิภาค สนับสนุนให้ SMEs บุกตลาดอาเซียน AEC ทั้งส่งเสริมให้ SMEs ไปลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น โดยที่ภาครัฐและเอกชน ร่วมกันผลักดันให้มีการค้า การลงทุนในอาเซียนมากขึ้น ทั้งนี้จะมุ่งสาขาเป้าหมายที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด 5 สาขา ได้แก่ สาขาอาหารและกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป สาขาเฟอร์นิเจอร์และหัตถกรรม สาขาแฟชั่น (สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง) สาขาสิ่งพิมพ์และพิมพ์สกรีน และสาขาบริการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง

สำหรับโครงการนี้ อยู่ภายใต้งบประมาณ 287 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1.การสร้างมูลค่าเพิ่มและการเป็นผู้นำของสาขาสิ่งพิมพ์ไทยในอาเซีย 2.การพัฒนา SMEs สาขาท่องเที่ยว และสาขาที่เกี่ยวเนื่องในการขยายตลาดสู่อาเซียน 3.การสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ SMEs สาขาพิมพ์สกรีนระดับอาเซียน ASEAN จนเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานของสาขาในภูมิภาค 4.การสร้างความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันด้านผลิต โดยการลดต้นทุนให้กับกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ และสาขาที่เกี่ยวข้อง (Thai – Laos - Vietnam Joint Raw Material Development) 5.กิจกรรม Thailand’s Brands to ASEAN หรือการพัฒนาตราสินค้าไทยในสาขาเป้าหมาย 6.กิจกรรม Thailand’s SMEs : Window to ASEAN หรือหน้าต่างสู่อาเซียนสำหรับ SMEs ในสาขาเป้าหมาย

“การดำเนินโครงการ SMEs Flying Geese จึงเป็นการส่งเสริม สนับสนุน พร้อมทั้งผลักดันให้ SMEs ของไทยที่ได้รับการพัฒนาหรือยกระดับแล้ว ให้กลายเป็น SMEs ต้นแบบ หรือเป็นผู้นำที่จะนำพา SMEs ไทยรายอื่นๆ ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งพัฒนาตนเองจนมีศักยภาพเพียงพอที่จะติดตามเดินทางนำสินค้าออกสู่ตลาดอาเซียนตามไปด้วยและขยายผลออกไปสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศในอนาคต” นายภักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายกอร์ปศักดิ์ ระบุว่า ส่วนตัวยังกังวลในเรื่องที่เอสเอ็มอีไทยจะเข้าสู่ตลาดอาเซียน เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ และมีผู้แข่งขันมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเสริมความรู้ในทุกๆ ด้าน เช่น ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ที่ปัจจุบันผู้ประกอบการอาเซียนได้ปรับให้มี 5 ภาษา ซึ่งในเรื่องนี้เอสเอ็มอีไทยยังให้ความสำคัญน้อย ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงการที่สินค้าไทยส่งไปตลาดอาเซียนไม่ได้หมายความว่าสินค้าจะขายเฉพาะกับผู้คนในแถบอาเซียนเท่านั้น ทว่า สามารถเจาะตลาดไปได้ทั่วโลก ซึ่งเอสเอ็มอีไทยควรให้ความใส่ใจในเรื่องดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น