xs
xsm
sm
md
lg

Kbank กวาดสินเชื่อSMEs ภูมิภาค500ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กสิกรฯรุกขยายปล่อยกู้ธุรกิจเอสเอ็มอีภูมิภาค ล่าสุดเตรียมจัดตลาดนัดสินเชื่อ“K-SME” ที่เชียงใหม่ ให้ข้อมูลคำแนะนำบริการทางการเงินครบวงจร ตั้งเป้ามียอดขอวงเงินสินเชื่อไม่ต่ำกว่า 500 ล้าน ขณะที่ยอดสินเชื่อ SME ของเชียงใหม่อยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้าน ตั้งเป้าปีนี้ขยายตัวอีก 20% พร้อมแนะผู้ประกอบการปรับตัวบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพสู้วิกฤติน้ำมันแพง

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยเตรียมจัดงานตลาดนัดสินเชื่อ K-SME ระหว่างวันที่ 16-17 ส.ค.51 ที่ห้างสรรสินค้าเซ็นทรัล แอร์พอร์ต จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำและบริการทางการเงินอย่างครบวงจร โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(SME)ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจ SME ในภูมิภาคเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาค

ทั้งนี้ การจัดพื้นที่ภายในงานจะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.พื้นที่ให้บริการทางการเงิน(Financial Zone) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าผู้ประกอบการด้านสินเชื่อในการทำธุรกิจและการลงทุนเพื่อขยายกิจการ 2.พื้นที่ให้บริการนอกเหนือจากบริการทางการเงิน (Non-Financial Zone) นำเสนอสินค้าและบริการของผู้ประกอบการสมาชิกชมรมเครือข่ายนักธุรกิจ K-SME Care ภาคเหนือ และการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจตามาโครงการ Online Business Matching และ 3.พื้นที่การจัดเวทีกลางแจ้ง

นายปกรณ์กล่าวอีกว่า สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายผู้ประกอบการ SME ขอใช้บริการสินเชื่อจากธนาคารไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยปัจจุบันในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ธนาคารมียอดวงเงินสินเชื่อเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SME ทั้งสิ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท และตั้งเป้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2551 นี้ร้อยละ 20

สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีพบว่ามีการขยายตัวแล้วประมาณร้อยละ 8-9 ซึ่งเชื่อว่าเมื่อถึงสิ้นปีการขยายตัวของสินเชื่อกลุ่มนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ นายปกรณ์ กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจของภาคเหนือว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจของภาคเหนือยังคงเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีปัจจัยบวกจากสินค้าเกษตรที่ราคาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการนั้น มองว่าในสภาพปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อให้ยังคงสามารถทำการแข่งขันอยู่ได้

ทั้งนี้ การปรับตัวที่สำคัญของผู้ประกอบการ ได้แก่ การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การลดการสูญเสียจากการผลิต การวางแผนการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ หรือการทำการตลาดด้วยการสร้างแบรนด์ที่ทำให้เห็นความแตกต่างและสร้างเอกลักษณ์ให้แก่สินค้าและบริการ เป็นต้น

"ในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ จะต้องไม่เป็นการลดคุณภาพและความพึงพอใจในสินค้าและบริการลงไปด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่เกิดผลดีต่อธุรกิจเลย อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมามองว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ SME สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี"นายปกรณ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น