ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – “กสิกรไทย” เตรียมจัดตลาดนัดสินเชื่อ “K-SME” ที่เชียงใหม่ ให้ข้อมูลคำแนะนำบริการทางการเงินครบวงจร มุ่งเจาะกลุ่มผู้ประกอบการการ SME ในภูมิภาค ตั้งเป้ามียอดขอวงเงินสินเชื่อเฉพาะในช่วงจัดงานอย่างต่ำ 500 ล้านบาท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการแบงก์รวงข้าวเผยยอดวงเงินสินเชื่อ SME ในปัจจุบันของเชียงใหม่อยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านบาท ตั้งเป้าตลอดทั้งปี 2551 ขยายตัวอีก 20% พร้อมแนะผู้ประกอบการปรับตัวด้วยการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพสู้วิกฤติน้ำมันแพง
นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยเตรียมจัดงานตลาดนัดสินเชื่อ K-SME ระหว่างวันที่ 16-17 ส.ค.51 ที่ห้างสรรสินค้าเซ็นทรัล แอร์พอร์ต จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำและบริการทางการเงินอย่างครบวงจร โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียง เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจ SME ในภูมิภาคเติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภูมิภาค
การจัดพื้นที่ภายในงานจะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.พื้นที่ให้บริการทางการเงิน(Financial Zone) เพื่อให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าผู้ประกอบการด้านสินเชื่อในการทำธุรกิจและการลงทุนเพื่อขยายกิจการ 2.พื้นที่ให้บริการนอกเหนือจากบริการทางการเงิน (Non-Financial Zone) นำเสนอสินค้าและบริการของผู้ประกอบการสมาชิกชมรมเครือข่ายนักธุรกิจ K-SME Care ภาคเหนือ และการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจตามาโครงการ Online Business Matching และ 3.พื้นที่การจัดเวทีกลางแจ้ง
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายผู้ประกอบการ SME ขอใช้บริการสินเชื่อจากธนาคารไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยปัจจุบันในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ธนาคารมียอดวงเงินสินเชื่อเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SME ทั้งสิ้นประมาณ 5,000 ล้านบาท และตั้งเป้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2551 นี้ร้อยละ 20
ในช่วง 6 เดือนแรกของปีพบว่ามีการขยายตัวแล้วประมาณร้อยละ 8-9 เชื่อว่าเมื่อถึงสิ้นปีการขยายตัวของสินเชื่อกลุ่มนี้จะเป็นไปตามเป้าหมายอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ นายปกรณ์กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจของภาคเหนือว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเศรษฐกิจของภาคเหนือยังคงเดินหน้าต่อไปได้ โดยมีปัจจัยบวกจากสินค้าเกษตรที่ราคาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกอบการนั้น มองว่าในสภาพปัจจุบันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวตามสถานการณ์เพื่อให้ยังคงสามารถทำการแข่งขันอยู่ได้
การปรับตัวที่สำคัญของผู้ประกอบการ ได้แก่ การบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การลดการสูญเสียจากการผลิต การวางแผนการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ หรือการทำการตลาดด้วยการสร้างแบรนด์ที่ทำให้เห็นความแตกต่างและสร้างเอกลักษณ์ให้แก่สินค้าและบริการ เป็นต้น
ทั้งนี้ ย้ำว่าในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ จะต้องไม่เป็นการลดคุณภาพและความพึงพอใจในสินค้าและบริการลงไปด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่เกิดผลดีต่อธุรกิจเลย อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมามองว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ SME สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดี