กระแสเจป๊อปในเมืองไทย ถูกนำมาใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจหลายรูปแบบ อย่างผู้ประกอบการธุรกิจแฟชั่นเสื้อยืด จำนวนมากนิยมหยิบภาพหรืออักษรญี่ปุ่นมาสกรีนเป็นลวดลาย เช่นเดียวกับแบรนด์ “ยูรัคโช” (Yu-Raku-Cho) นำสไตล์แดนซามูไรมาใช้เช่นกัน ทว่า มีจุดเด่นดีไซน์โดยต้นตำรับแท้ๆ พร้อมนำระบบสมาชิกมาเสริมการตลาดให้ยิ่งน่าสนใจ
ผู้อยู่เบื้องหลังธุรกิจ คือ เคนทาโร วาตานาเบ สามีชาวญี่ปุ่น และยุวธิดา ตันติเสรีรัตน์ ภรรยาชาวไทย ซึ่งเดิมทั้งสองเคยทำงานอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนตัดสินใจมาสร้างธุรกิจของตัวเองในประเทศไทย
“เราฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง เลยเลือกกลับมาบุกเบิกที่เมืองไทย เพราะญี่ปุ่น ต้นทุนเริ่มต้นสูง และคู่แข่งมาก ส่วนเหตุที่เลือกจะทำธุรกิจเสื้อยืด เพราะพี่เคน (สามี) ชอบงานออกแบบกราฟฟิก และมีเพื่อนรู้จักโรงงานผ้าผลิตเสื้อยืด อีกทั้ง ตอนอยู่ญี่ปุ่นเห็นเสื้อยืดผ้าแปลกๆ ลวดลายสวยๆ เมื่อรวมปัจจัยทุกอย่าง จึงคิดว่า น่าจะทำธุรกิจนี้ได้” ยุวธิดา เผยและเล่าให้ฟังต่อว่า
ใช้ทุนส่วนตัวประมาณ 2 แสนบาท ผลิตสินค้า และเปิดร้านขายในตลาดนัดสวนจตุจักร เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทว่า ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่หวังไว้ เนื่องจากแบบเวลานั้น ยังเป็นสไตล์ญี่ปุ่นเรียบๆ ไม่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับขายได้แค่ 8 วันต่อเดือน ไม่คุ้มกับค่าเช่า จึงย้ายมาเปิดร้านที่ ชั้น1 เจเจมอลล์ เมื่อประมาณหนึ่งปีครึ่งมาแล้ว โดยสร้างแบรนด์ใหม่ ชื่อ Yu-Raku-Cho พร้อมกับพลิกดีไซน์ใหม่ทั้งหมด
ยุวธิดา อธิบายว่า หน้าที่ออกแบบทั้งหมดเป็นของเคนทาโร ดีไซน์จะเน้นความเป็นญี่ปุ่นแท้ๆ ผสมผสานระหว่างสไตล์ร้อนแรง กับแบบคลาสสิก ซึ่งการออกแบบสไตล์ญี่ปุ่น โดยชาวญี่ปุ่นจริงๆ ทำให้เข้าใจในรายละเอียดลึกซึ้ง ภาพ ตัวอักษร หรือลวดลายทั้งหมดที่นำมาใช้สกรีน ล้วนมีเรื่องราวสามารถอธิบายที่มาที่ไปได้ ผ่านการศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์มาอย่างละเอียด
ทั้งนี้ ร้าน Yu-Raku-Cho ใช้ทุนเริ่มต้นประมาณ 3 แสนบาท เป็นค่าเช่า ค่าตกแต่งร้าน และผลิตสินค้า โดยช่วง 6 เดือน ยอดขายน้อยมาก เนื่องจากเวลานั้น เจเจมอลล์ ยังไม่เป็นที่นิยมของนักชอปปิ้ง จึงพยายามเพิ่มตลาด ด้วยวิธีแจกนามบัตรแนะนำสินค้าให้มากที่สุด รวมถึง ออกบูทตามแหล่งลูกค้าเป้าหมาย ช่วยให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และเกิดการบอกต่อ จนยอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงขณะนี้เกือบเจ็ดหลักต่อเดือน นับว่า โตสวนกระแสเศรษฐกิจชะลอตัว
“เราค่อนข้างมั่นใจในตัวสินค้าอยู่แล้ว ทั้งคุณภาพผ้าและดีไซน์ ขอแค่ให้ลูกค้าได้เห็นสินค้า และลองใช้ ซึ่งหลังผ่าน 6 เดือนแล้ว ยอดขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีลูกค้าหลากหลาย ตั้งแต่อายุ 20-40 ปี ทั้งคนที่ชอบเกี่ยวกับญี่ปุ่น และคนที่ชอบเสื้อยืดลายแปลกๆ ยอดขาย 70% คือ ขายปลีกหน้าร้าน ส่วนอีก 30% มีตัวแทนรับไปขายส่งต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ สเปน อิตาลี และเมืองโอซาก้า ญี่ปุ่น” ยุวธิดา ระบุ
ในร้าน นอกจากสินค้าขายดีอันดับ1 คือ เสื้อยืด (ราคา 250 , 290 บ.) แล้ว ยังมีสินค้าแฟชั่นเกี่ยวกับญี่ปุ่นอีกหลายรายการ เช่น กางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ต และเครื่องแต่งกายแบบญี่ปุ่นแท้ๆ อย่างเสื้อคลุมหน้าร้อน หมวก และเข็มขัด ทำจากผ้าไหมเกียวโต เป็นต้น รวมแล้วมีมากกว่า 100 แบบ
ในแง่การตลาด วิธีหนึ่งที่ร้าน Yu-Raku-Cho นำมาใช้อย่างได้ผล และน่าสนใจ คือ ระบบสมาชิก โดยให้ลูกค้าที่สนใจลงทะเบียนสมัครได้ฟรี ซึ่งสมาชิกจะได้อภิสิทธิ์ซื้อสินค้าในร้านทุกรายการลด 10% และทุก 20 บาทที่ซื้อ จะได้แต้มสะสม 1 แต้ม เมื่อสะสมครบ 500 แต้ม ได้บัตรซื้อสินค้าในร้านมูลค่า 500 บาท
เคนทาโร อธิบายว่า ระบบสมาชิกจะช่วยสร้างความใกล้ชิดระหว่างร้านกับลูกค้า และระหว่างลูกค้ากับลูกค้าด้วยกันเอง นอกจากนั้น ช่วยตัดปัญหาลูกค้าต่อราคา ซึ่งในมุมมองของเขา คิดว่า ถ้ายอมขายถูก ก็จะลดคุณค่าสินค้าไปด้วย อีกทั้ง ส่งผลเสียให้ผู้ขายทุกราย ก็ต้องยอมขายถูกตัดราคากันเอง ดังนั้น ร้านนี้เลือกที่จะไม่ลดราคา แต่ทดแทนด้วยการบริการเสริมอื่นๆ เช่น สมาชิกได้ส่วนลดอัตโนมัติ จัดโปรโมชั่นพิเศษ วันเกิดของสมาชิกจะมีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ มอบให้ เป็นต้น เท่าที่ผ่านมาสมาชิกมีอัตรากลับมาซื้อซ้ำสูงมาก นับถึงเดือนพฤษภาคมนี้ ร้านมีสมาชิกประมาณ 1,000 คน และมีปริมาณเพิ่มขึ้น 200 คนทุกเดือน
จากความสำเร็จที่ผ่านมา ร้าน Yu-Raku-Cho เตรียมเปิดสาขา 2 ที่ จ.เชียงใหม่ รวมถึง กำลังก้าวสู่ตลาดโลกอย่างจริงจัง โดยมีคู่ค้ารายใหญ่ขอซื้อสิทธิ์เป็นตัวแทนจำหน่ายรายเดียวในประเทศสหรัฐฯ และในอนาคตจะนำข้อมูลของสมาชิกที่มีอยู่ต่อยอดธุรกิจต่อไป
เคนทาโร ทิ้งท้ายว่า หลักคิดในการทำธุรกิจของชาวญี่ปุ่น คือ นำกำไรส่วนใหญ่มาพัฒนาธุรกิจ ซึ่งปัจจุบัน แฟชั่นของไทยยังตามญี่ปุ่นอยู่ 7 ปี ดังนั้น แนวทางที่จะเดินต่อไป เขาจะพัฒนาสินค้าของร้านให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นไป ใกล้เคียงกับต้นตำรับมากที่สุด เพื่อให้สินค้าและแบรนด์ ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองในระยะยาว
*******************
ชื่อ Yu-Raku-Cho เป็นการผสมคำระหว่าง “Yu” มาจากชื่อ “ยุวธิดา” ส่วน “Raku-Cho” เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า อาณาจักรแห่งความสุข เมื่อรวมกันอยากสื่อว่า ธุรกิจของคุณยุวธิดาที่ต้องการมอบความสุขแก่ลูกค้า ส่วนโลโก้เป็นนกกระเรียนสองตัว สื่อถึง “เคนทาโร” และ “ยุวธิดา” บินอยู่ ฉากหลังเป็นภูเขาไฟฟูจิ และดวงอาทิตย์ หมายถึงเดินทางจากญี่ปุ่นมาสู่เมืองไทย ในดวงอาทิตย์มีตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น อ่านว่า “ยุ” หมายถึงตัวเจ้าของธุรกิจ ส่วนสีที่ใช้คือ น้ำเงิน ขาว และแดง ซึ่งเป็นสีประจำธงชาติไทย เพื่อแสดงความคารวะแก่ประเทศไทยที่ให้พวกเขาสร้างอาชีพ ทั้งนี้ ในบัตรสมาชิกนกกระเรียนจะเพิ่มเป็น 3 ตัว โดยตัวที่เพิ่มขึ้นมา หมายถึงสมาชิก ที่มาร่วมเป็นพวกพ้อง และบินไปพร้อมกัน |
ร้าน Yu-Raku-Cho เลขที่ F269A ซ.10 ชั้น1 เจเจมอลล์ โทร.081 971 5096 , 083 825 5630 หรือ http://raku-at-jjmall.hi5.com