xs
xsm
sm
md
lg

นักดาราศาสตร์พบ “การเกิดดาวเคราะห์ดวงใหม่” นับเป็นครั้งแรกของโลกที่พบการก่อตัวรอบดาวฤกษ์ดวงอื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การก่อเกิดของดวงดาวในจักรวาลอันกว้างใหญ่ เป็นหนึ่งในปริศณาที่นักดาราศาสตร์ได้พยายามศึกษาข้อมูลเพื่อไขปริศนาการกำเนิดโลก ดาวเคราะห์ต่างๆ ในระบบสุริยะของเรา ล่าสุดทีมนักดาราศาสตร์ได้พบข้อมูลใหม่ โดยเป็นการก่อกำเนิดของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของโลกที่พบการก่อตัวของดาวเคราะห์รอบดาวดวงอื่น

การก่อกำเนิดดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้เกิดขึ้นในระบบดาวHOPS-315ที่อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 1,300 ปีแสง และมีดาวฤกษ์ศูนย์กลางที่มีความคล้ายกับดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาที่เพิ่งเกิดใหม่ หรือที่เรียกว่า ดาวฤกษ์ก่อนเกิด (protostar) โดยการพบข้อมูลสำคัญและเป็นครั้งแรกของโลกนี้ เป็นการทำงานร่วมกันของ กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์(James Webb Space Telescope) ที่มีประสิทธิภาพในการบันทึกภาพในช่วงคลื่นอินฟราเรด และ กล้องโทรทรรศน์วิทยุอัลมา (Atacama Large Millimeter/submillimeter Array: ALMA) ตั้งอยู่ที่ประเทศชิลี ที่มีประสิทธิภาพในการบันทึกภาพในในช่วงคลื่นวิทยุ


ทีมนักดาราศาสตร์ได้สังเกตการณ์พื้นที่บริเวณจานมวลสารที่โคจรรอบดาว HOPS - 315 ที่เป็นดาวฤกษ์ก่อนเกิดในระยะที่กำลังพัฒนาเป็นดาวฤกษ์ในอนาคต ซึ่งดาวฤกษ์ในระยะนี้มักมีจานฝุ่นแก๊สที่เรียกว่า "จานฝุ่นแก๊สก่อกำเนิดดาวเคราะห์" (Protoplanetary disk) ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถสังเกตและศึกษาสสารก่อกำเนิดดาวเคราะห์ที่กระจุกตัวกันรอบดาวฤกษ์ได้ และสามารถพบเหตุการณ์การเกิดดาวเคราะห์ดวงใหม่นี้

บริเวณจานมวลสารที่โคจรรอบดาวฤกษ์จะพบ ซิลิคอนมอนอกไซด์ (Silicon Monoxide: SiO) และ ซิลิเกต (silicate) ซึ่งนักดาราศาสตร์ได้พบสสารนี้ในอุกกาบาตโบราณที่ชนโลกในช่วงเริ่มต้นของการก่อตัวของระบบสุริยะ สสารเหล่านี้สามารถควบแน่นเป็นของแข็งได้ในสภาวะที่อุณหภูมิสูง เช่น บริเวณจานฝุ่นแก๊สก่อกำเนิดดาวเคราะห์ เมื่อเวลาผ่านไปบรรดาของแข็งจากสสารเหล่านี้จะรวมตัวกันกลายเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการก่อตัวของดาวเคราะห์

การศึกษาก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ได้มีการพบจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด ในระบบดาวแห่งอื่นมาแล้ว แต่ยังไม่เคยมีครั้งไหนที่ได้ตรวจพบวัตถุที่เป็นของแข็งส่วนแรกของดาวเคราะห์ได้ ซึ่งการพบผลึกซิลิคอนมอนอกไซด์ในระบบดาว HOPS-315 จึงเป็นการพบครั้งแรก

กล้องโทรทรรศน์วิทยุอัลมา
นอกจากการพบการก่อกำเนิดของดาวเคราะห์ ทีมนักดาราศาสตร์ยังได้ข้อมูลเพิ่มว่าสสารซิลิคอนมอนอกไซด์ที่อยู่รอบดาวที่กำลังกำเนิดใหม่นั้น มีทั้งในสถานะแก๊สและในสถานะผลึกของแข็ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสสารก่อกำเนิดดาวเคราะห์เพิ่งเริ่มแข็งตัว และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะมีการเพิ่มขนาดมวลขึ้นและจะพัฒนาจนกลายเป็นดาวเคราะห์ เหมือนอย่างเช่นโลกหรือดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในระบบสุริยะของเรา

การก่อเกิดดาวเคราะห์ในระบบดาว HOPS-315 ถือได้ว่าเป็นข้อมูลใหม่ในการไขปริศนาของระบบสุริยะของเรา และยังรวมถึงศึกษาการก่อตัวของดาวเคราะห์ในระยะแรกเริ่มในระบบดาวอื่นๆ ในกาแล็กซีอันกว้างใหญ่ และการค้นพบในครั้งนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิจัย Nature เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2025 ที่ผ่านมา


ข้อมูล - รูปอ้างอิง 
- - - - - - - - - - - - - - -
- narit.or.th
(สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ)
- eso.org
(ALMA image of HOPS-315, a still-forming planetary system)
- eso.org
(For the first time, astronomers witness the dawn of a new solar system)


กำลังโหลดความคิดเห็น