xs
xsm
sm
md
lg

NARIT เผยภาพ ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ ปรากฏการณ์หาชมยากและเป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT เผยภาพ “ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” ครั้งแรกของปี บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ เมื่อช่วงเช้ามืด 25 กรกฎาคม 2567 ในช่วงเริ่มต้นปรากฏการณ์ ขณะดาวเสาร์เริ่มสัมผัสขอบดวงจันทร์ฝั่งเสี้ยวสว่าง ก่อนค่อยๆ ลับหายไปด้านหลังของดวงจันทร์

ปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ ครั้งแรกของปี 2567 เกิดขึ้นในช่วงเช้ามืดวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลาประมาณ 03:09 - 04:27 น. (ตามเวลากรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน) ช่วงดังกล่าวตรงกับดวงจันทร์แรม 4 ค่ำ มีดาวเสาร์ปรากฏเป็นจุดดาวเล็ก ๆ ใกล้กับดวงจันทร์ ขณะเริ่มต้นปรากฏการณ์ ดวงจันทร์ฝั่งเสี้ยวสว่างค่อย ๆ เคลื่อนที่ไปบังดาวเสาร์ จนดาวเสาร์หายลับไป กินเวลานานประมาณ 1 ชั่วโมง 18 นาที จนกระทั่งโผล่พ้นออกมาทั้งดวงอีกครั้งในฝั่งพื้นผิวส่วนมืด ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ครั้งนี้สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในหลายพื้นที่ของไทย สดร. จัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมีประชาชนติดตามชมกันเป็นจำนวนมาก


“ดวงจันทร์บังดาวเสาร์” เป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เกิดจากดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวเสาร์ในช่วงเวลาหนึ่ง เป็นมุมมองจากโลกในแนวสายตา เมื่อมองจากโลกออกไปจึงเห็นว่าดวงจันทร์บังดาวเสาร์ สำหรับปีนี้เกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งต่อไปตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม 2567 ในช่วงเช้ามืด เวลาประมาณ 02:19 - 03:00 น. สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในพื้นที่ภาคเหนือ บางส่วนของภาคกลาง บางส่วนของภาคตะวันตก และบางส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน)


การบังกันของวัตถุท้องฟ้า (Occultations) เป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้าหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านหน้ามาบังอีกวัตถุหนึ่งเมื่อสังเกตจากแนวสายตา อาทิ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังกันเอง เป็นต้น เราสามารถใช้ปรากฏการณ์นี้คำนวณหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวัตถุ คำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ตรวจหาและศึกษาโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ตรวจหาวงแหวนของดาวเคราะห์ชั้นนอกได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์




กำลังโหลดความคิดเห็น