ข่าวดาราศาสตร์สำคัญประจำปี 2023 ที่ผ่านมา มี 3 ข่าว ดังนี้ ข่าวแรก คือ ข่าวการพบดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะได้เพิ่มขึ้นอีก 6 ดวง รวมเป็น 5,502 ดวง และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปี 2024 นี้ สถิติจำนวนก็ได้เพิ่มเป็น 5,606 ดวงแล้ว
ข่าวที่สอง คือ นักดาราศาสตร์ได้พบว่า บนดวงจันทร์ Enceladus ของดาวเสาร์ มีมหาสมุทรอยู่ใต้ผิวดาวที่เป็นน้ำแข็ง และที่ขั้วใต้ของดาวมีรอยแตกแยกเป็นระยะทางยาวปล่อยให้น้ำทะเลทะลักขึ้นมาเป็นน้ำพุ การวิเคราะห์องค์ประกอบของธาตุที่มีในน้ำพุ แสดงให้เห็นว่าน้ำนั้นมีอะตอมของธาตุ carbon, hydrogen, nitrogen, oxygen, sulfur และ phosphorus ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต และให้พลังงานแก่สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้
ข่าวที่สาม คือ องค์การ NASA ได้วิเคราะห์หินและดินบนดาวเคราะห์น้อย 101055 Bennu ที่มีอายุมากพอ ๆ กับโลก คือ 4,600 ล้านปี และ Bennu โคจรไปรอบดวงอาทิตย์ในทุก 1.2 ปี โดย NASA ได้ส่งยาน OSIRIS-REx ออกเดินทางจากโลกตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2016 และไปถึง Bennu เมื่อปี 2018 แล้วใช้เวลาอีก 2 ปี เพื่อค้นหาตำแหน่งที่เหมาะสมในการร่อนลงจอดบนดาว ครั้นเมื่อหุ่นยนต์ได้ขุดหินและดินได้ในปริมาณมากตรงตามความมุ่งหมายแล้ว ยานก็ได้เดินทางกลับโลกเมื่อปี 2021 และถึงโลกในปี 2023 ผลการวิเคราะห์ดินและหินบน Bennu ให้ข้อมูลที่แสดงว่า เนื้อดาวมีสารประกอบ carbon ในปริมาณมาก นอกจากนี้ก็ยังได้พบหลักฐานที่แสดงว่า บน Bennu มีโมเลกุลของน้ำด้วย
ความจริงข่าวการพบดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะมิได้มีความสำคัญที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าข่าวการพบสิ่งมีชีวิตต่างดาว ซึ่งจุดประสงค์นี้ได้เป็นเป้าหมายในการค้นหาของนักดาราศาสตร์มาเป็นเวลานานแล้ว และตราบจนวันนี้ก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่นั่นมิได้หมายความว่าเอกภพไม่มีสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่นอกโลกเลย นอกจากที่มีบนโลกของเรา ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าเทคนิคการตรวจหาสิ่งมีชีวิตที่เรามี ณ วันนี้ ยังไม่ดีพอจะช่วยให้เราพบชีวิตในรูปแบบที่นักวิทยาศาสตร์ไม่คาดฝันว่าจะมีก็ได้ หรือเราได้ค้นหา “ชีวิต” บนดาว ในขณะที่สิ่งมีชีวิตบนดาวนั้นยังไม่ทันได้จุติ เราก็เลยสรุปว่า บนดาวดังกล่าวไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ยิ่งเมื่อรู้ว่าจุลินทรีย์ตัวแรกที่อุบัติบนโลกได้ถือกำเนิดเมื่อ 3,500 ล้านปีก่อน ดังนั้นถ้ามนุษย์ต่างดาวได้ส่งยานอวกาศมาสำรวจโลกเมื่อก่อน 3,500 ล้านปีก่อน เขาก็คงกลับไปโดยได้ข้อสรุปว่า โลกไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างแน่นอน
เหตุผลนี้จึงได้ชี้นำให้นักดาราศาสตร์พยายามศึกษาธรรมชาติทุกรูปแบบบนดาวเคราะห์ต่างๆ เพื่อจะได้เห็นเหตุการณ์และเข้าใจว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต และปัจจัยเหล่านั้น ได้มารวมตัวกันอย่างไร โดยอาศัยกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ที่เรารู้ดีแล้ว หรือใช้หลักการอื่นๆ ที่เรายังไม่รู้ และความเข้าใจนั้นจะช่วยให้รู้สาเหตุที่ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างดาวมีลักษณะที่แตกต่างหรือเหมือนกับสิ่งมีชีวิตบนโลก
เมื่อครั้งที่ Charles Darwin (1809–1882) เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการ โดยการคัดสรรตามธรรมชาติ เมื่อปี 1859 Darwin มิได้กล่าวถึงขั้นตอนการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิตว่า อะตอมอันเป็นสิ่งไม่มีชีวิตได้มารวมกันและจับคู่กันเป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ที่มีชีวิตภายใต้สภาวะแวดล้อมรูปแบบใด แม้วันเวลาจะผ่านไปนานร่วม 165 ปี นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์แบบสำหรับเรื่องนี้เลย
ในปี 1953 โลกได้เห็นงานวิจัยสองชิ้น ที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สนใจจะสร้างสิ่งมีชีวิตบ้าง เพราะได้รู้เส้นทางและวิธีที่จะต้องดำเนินการ งานวิจัยชิ้นแรกเป็นของ James Dewey Watson (1928–ปัจจุบัน) กับ Francis Crick (1916-2004) ที่ได้เสนอโครงสร้างของ DNA (deoxyribonucleic acid) ว่ามีลักษณะเป็นรูปเกลียวคู่ เพื่อใช้ในการอธิบายว่า สิ่งมีชีวิตสามารถถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมได้อย่างไร ในเวลาต่อมางานวิจัยนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดไปเป็นโครงการ Human Genome Project
ส่วนงานวิจัยชิ้นที่สอง คือ ผลงานของ Stanley Miller (1930–2007) กับ Harold C. Urey (1893-1981) ซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลเคมีปี 1934 โดยคนทั้งสองได้เสนองานวิจัยเรื่อง “ A Production of Amino Acids Under Possible Primitive Earth Conditions” ที่กล่าวถึง การสร้างกรด amino รูปแบบต่าง ๆ ภายใต้สภาพแวดล้อมของโลกเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อน ใจความสำคัญของงานวิจัยนี้ คือ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า สารอนินทรีย์สามารถให้กำเนิดชีวโมเลกุลได้ โดย Miller ได้แนวคิดนี้จาก Darwin ซึ่งได้กล่าวว่า สิ่งมีชีวิตสามารถถือกำเนิดได้จากปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารอนินทรีย์ที่อยู่ในของเหลวภายใต้ความดันและอุณหภูมิที่พอเหมาะ
ในการทดลองครั้งนั้น Miller ได้นำแก๊ส methane, ammonia และ hydrogen ใส่ในขวดแก้วทดลองที่มีน้ำเดือดอยู่ครึ่งขวด แล้วผ่านกระแสไฟฟ้าลงไปในแก๊สผสมนั้น เสมือนกับว่าแก๊สได้รับประจุไฟฟ้า จากปรากฏการณ์ฟ้าแลบและฟ้าผ่าในบรรยากาศโลกยุคดึกดำบรรพ์ ขณะที่โลกเพิ่งถือกำเนิดใหม่ ๆ หลังจากนั้น Miller ก็นำผลการสังเคราะห์ที่ได้ไปวิเคราะห์ และได้พบสารประกอบอินทรีย์มากมายหลายชนิดอยู่ในขวดแก้ว เช่น amino acids ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของโปรตีน hydroxyl acid, aliphatic acid และ urea เป็นต้น
แต่ปรากฏว่า โลกไม่สนใจงานวิจัยชิ้นนี้มาก เพราะทุกคนกำลังตื่นเต้นกับข่าวการพบโครงสร้างของ DNA และอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใครก็ไม่ตื่นเต้นนั้น คือ ไม่มีใครมีความรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพของโลกในอดีตเมื่อหลายพันล้านปีก่อนอย่างแน่ชัด ดังนั้นการตรวจสอบสมมติฐานของ Miller ที่แสดงว่าสิ่งมีชีวิตตัวแรกได้ถือกำเนิดในน้ำ แล้วทฤษฎีของ Darwin ก็ได้ดำเนินการด้านวิวัฒนาการต่อจากนั้น จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ด้านนักชีววิทยาบางคน เช่น Günter Wächtershäuser (1938-ปัจจุบัน) ก็ได้เสนอข้อคิดว่า สิ่งมีชีวิตตัวแรกอาจจะถือกำเนิดบนผิวของโลหะ sulfide ถ้าโลหะนั้นอยู่ใกล้ปล่องน้ำพุร้อนใต้ทะเล ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับต้นเหตุที่ให้กำเนิดของสิ่งมีชีวิตในเวลานั้น จึงมีมากมายหลายทฤษฎี
แต่ก็มีนักดาราศาสตร์หลายคนที่มีความเชื่อเหมือน Anaxagoras (500-428 ก่อนคริสตกาล) ผู้เคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 5 ศตวรรษก่อนคริสตกาล ว่าเอกภพน่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ทุกหนแห่ง ทั้งในอวกาศและบนดาวต่าง ๆ โดยอาจจะล่องลอยอยู่บนฝุ่น ละอองดาว เมฆในอวกาศ บนอุกกาบาต และดาวหาง ตลอดจนถึงดาวเคราะห์น้อย คือ อาจจะอยู่ในสภาพของเซลล์สืบพันธุ์ (germ) และสปอร์ (spore) ดังนั้นเวลาอุกกาบาตหรือดาวตกพุ่งชนโลกที่มีสภาวะแวดล้อมเหมาะสมสำหรับเจริญเติบโต จุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตก็จะมีวิวัฒนาการเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูงต่อไปได้
ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน ปี 1969 ที่เมือง Murchison ในรัฐ Victoria ของออสเตรเลีย ซึ่งมีอุกกาบาตขนาดใหญ่ก้อนหนึ่งได้ระเบิดในท้องฟ้าเหนือเมือง การวิเคราะห์ซากอุกกาบาตได้พบข้อมูลที่น่าประหลาดใจมาก เช่น อุกกาบาตนั้น หนักประมาณ 100 กิโลกรัม มีอายุประมาณ 7,000 ล้านปี จึงมีอายุมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา ประมาณ 2,000 ล้านปี การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของหินและแร่บนอุกกาบาตได้พบสารประกอบ isovaline, pseudoleucine, glycine, alamine, glutamic acid และ alkane เหมือนๆ กับสารประกอบที่พบในการทดลองของ Miller กับ Urey นอกจากนี้ก็ยังได้พบสาร serine และ diamino acid ด้วย
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้พบโมเลกุลบนต่างดาวเป็นจำนวนมากกว่า 200 ชนิดแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นโมเลกุลที่มีโครงสร้างง่ายๆ เช่น methanol, ethanol, glycolaldehyde, benzene, ethanimine และ buckyball โดยบางโมเลกุลมาจากเมฆที่ล่องลอยอยู่ในอวกาศระหว่างดาว และบางโมเลกุลก็ลอยอยู่ในบรรยากาศเหนือดาว ซึ่งทุกโมเลกุลจะเปล่งแสงออกมา โดยแสงมีความยาวคลื่นตามชนิดของโมเลกุลที่มีอยู่ในเมฆนั้น ข้อมูลที่สามารถบอกชนิดของโมเลกุลยังช่วยให้เรารู้อีกด้วยว่า บนดาวต่าง ๆ มีอุณหภูมิต่าง ๆ กันเพียงใด เพราะอุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่สามารถทำให้ปฏิกิริยาเคมีเกิด หรือไม่เกิด หรือเกิดช้า และนักเคมีก็ยังไม่มีความรู้มากเกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมีที่จะเกิดภายใต้อุณหภูมิที่เย็นจัดหรือที่ร้อนจัด เพราะถ้าปฏิกิริยาเคมีบังเกิดได้จริง โอกาสการพบสิ่งมีชีวิตก็จะมีค่าสูงด้วย
เช่น ที่บริเวณขั้วโลกเหนือ ซึ่งมีน้ำแข็งในทะเลที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส ได้มีการพบกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถดำรงชีพอยู่ในน้ำแข็งได้ และที่รอยแตกแยกของเปลือกโลก (vent) ที่อยู่ใต้ทะเลลึก ในบางแห่งก็มีน้ำพุร้อนพุ่งขึ้นจากบริเวณรอยแยกนั้น โดยน้ำมีอุณหภูมิสูงถึง 400 องศาเซลเซียส และน้ำมีสารพิษ เช่น hydrogen sulfide, cadmium, arsenic และตะกั่ว ปน และแม้สภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นจะเป็นพิษรุนแรง แต่นักชีววิทยาก็ยังพบกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ด้วยการบริโภคสารพิษในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงจนสามารถต้มไข่ให้สุกได้
จุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัดและเย็นจัด เป็นที่รู้จักในนาม extremophile (ที่แปลว่า ผู้ชอบอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบสุดขั้ว) ได้ทำให้นักชีววิทยาต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับหลักการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิตตลอดเวลาที่ผ่านมาจนทำให้คิดว่า จุลินทรีย์อาจจะถือกำเนิดและสามารถดำรงชีพอยู่ใต้ผิวดาวอังคาร หรือใต้น้ำแข็งบนดวงจันทร์ Europa ของดาวพฤหัสบดี หรือในทะเล ethane บนดวงจันทร์ Titan ของดาวเสาร์ก็ได้
Christiaan Huygens (1629-1695) เป็นนักดาราศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ที่ได้เห็น Titan เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ปี 1655
Titan เป็นดวงจันทร์บริวารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์ และใหญ่เป็นที่สองรองจากดวงจันทร์ Ganymede ของดาวพฤหัสบดี เพราะมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 5,149 กิโลเมตร จึงใหญ่กว่าดาวพุธและดวงจันทร์ของโลกเรา การมีมวลเพียง 1/45 เท่าของโลก ทำให้ความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงบน Titan มีค่าเพียง 1.3 เมตร/วินาที^2 ส่วนอุณหภูมิที่ผิวดาวมีค่าต่ำถึง -180 องศาเซลเซียส (ข้อสังเกต คือ ที่อุณหภูมิ-196 องศาเซลเซียส แก๊สไนโตรเจนจะกลายเป็นของเหลวแล้ว) ในขณะที่อุณหภูมิที่ผิวของ Europa กับ Enceladus มีค่า -163 กับ -198 องศาเซลเซียสตามลำดับ ดังนั้นแก๊ส ethane และ methane ที่มีในบรรยากาศของ Titan ก็จะกลายสภาพเป็นของเหลวหมด ทะเลบน Titan จึงเป็นทะเล ethane กับ methane
สำหรับความดันบรรยากาศบน Titan นั้นมีค่าสูงประมาณ 1.5 เท่าของความดันบรรยากาศบนโลก และดาวโคจรไปรอบดาวเสาร์ในทุก 16 วัน ความน่าสนใจมากที่สุดของ Titan ในมุมมองของนักดาราศาสตร์ คือ จากบรรดาดาวเคราะห์ทุกดวงของระบบสุริยะ มีแต่ Titan เท่านั้น ที่มีสภาพของบรรยากาศใกล้เคียงกับบรรยากาศของโลกในยุคดึกดำบรรพ์มากที่สุด เพราะมีแก๊สไนโตรเจน methane และ carbon dioxide ในปริมาณมาก
เมื่อปี 2004 NASA ได้ส่งยาน Cassini โคจรผ่านดาวเสาร์ที่ระยะใกล้ 20,000 กิโลเมตร และในวันที่ 14 มกราคม ปี 2005 ยาน Cassini ได้ปลดปล่อยยานลูกชื่อ Huygens ร่อนลงสู่ผิว Titan นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ส่งยานไปเยือนดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ดวงอื่นนอกจากโลก
ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าที่อุณหภูมิ -180 องศาเซลเซียส ปฏิกิริยาเคมีบนดาวดำเนินไปอย่างช้ามาก และใต้ผิวดาวมีมหาสมุทรที่มีน้ำทะเลในปริมาณมากประมาณ 12 เท่าของปริมาณน้ำในมหาสมุทรบนโลก แต่ก็ยังน้อยกว่าน้ำในทะเลใต้ผิวของดวงจันทร์ Enceladus, Europa และ Ganymede
ประเด็นการพบน้ำบน Titan อาจทำให้ใครๆ คิดว่า บน Titan จะต้องมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่อย่างแน่นอน
แต่ Catherine Neish แห่งมหาวิทยาลัย Western University ในรัฐ Ontario ของแคนาดา ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยของเธอในวารสาร Journal Astrobiology เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2024 ว่า อาจจะไม่มีสิ่งมีชีวิตบน Titan ก็ได้ โดยเธอให้เหตุผลว่า ถ้าจะให้สิ่งมีชีวิตสามารถอุบัติบนดาวได้ อินทรีย์โมเลกุลที่มีอยู่บนดาวนั้นจะต้องเคลื่อนที่มาปะทะกัน และโมเลกุลเหล่านี้จะต้องมีในปริมาณมาก มันจึงจะสามารถแพร่กระจายไปถึงบริเวณที่มีน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งดำรงชีวิตของจุลินทรีย์ และเส้นทางการเคลื่อนที่ดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้า Titan ถูกดาวหางหรืออุกกาบาตพุ่งชน ความรุนแรงในการชนที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดพลังงานความร้อนที่สามารถหลอมละลายน้ำแข็งที่ผิวดาว จนกลายเป็นแอ่งน้ำที่มีอินทรีย์โมเลกุล และเมื่อน้ำเหลวมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำแข็ง น้ำเหลวก็จะแฝงอยู่ใต้น้ำแข็ง และถ้าผิวดาวถูกอุกกาบาตหรือดาวหางชนบ่อย น้ำเหลวในแอ่งก็จะมีปริมาณมากขึ้น ๆ และจะไหลลงสู่ทะเลในที่สุด
Neish ได้คำนวณพบว่าโมเลกุล glycine อาจจะเกิดขึ้นได้บน Titan ในปริมาณ 7,500 กิโลกรัม/ปี ซึ่งนับว่ามีค่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำทั้งหมดที่มีในมหาสมุทรบน Titan ดังนั้น glycine ที่ได้ จึงมีไม่มากเพียงพอที่จะเป็นแหล่งพลังงานให้จุลินทรีย์สามารถดำเนินชีวิตได้
ดังนั้นเธอจึงสรุปว่า โอกาสที่สิ่งมีชีวิตจะถือกำเนิดบน Titan นั้น มีค่อนข้างน้อย
ในอนาคตอีก 4 ปี NASA มีโครงการจะส่งยานอวกาศและหุ่นยนต์ไปสำรวจ Titan เพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิต โดยกำหนดจะส่งไปในเดือนกรกฎาคม ปี 2028 และมียาน Dragonfly ที่มีมวล 460 กิโลกรัม บินเหินฟ้าเหนือ Titan เหมือน helicopter โดยจะเริ่มงานสำรวจ ในปี 2034 การบินขึ้น-ลงตามสถานที่ต่างๆ บนดาว ก็เพื่อเก็บสารตัวอย่างที่มีทั้งน้ำเหลวและของเหลว hydrocarbon ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิต และสำรวจการได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ จากรังสี cosmic ตลอดจนถึงพลังงานจากอนุภาคที่ถูกสนามแม่เหล็กของดาวเสาร์กระทำ ซึ่งอาจทำให้โมเลกุลที่มีโครงสร้างซับซ้อนสามารถถือกำเนิดจากโมเลกุลที่มีโครงสร้างง่ายๆ ได้
ปัญหาที่น่าสนใจในลำดับต่อไป คือ สิ่งมีชีวิตต่างดาวจะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปจากสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างไร หรือไม่
ในการตอบปัญหานี้ Charles Cockell (1967-ปัจจุบัน) ได้เสนอความเห็นว่า หลักการฟิสิกส์เดียวกันที่โลกกับต่างดาวมีร่วมกัน จะเป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้กำหนดการเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางชีววิทยาให้เป็นไปตามทฤษฎีวิวัฒนาการ นั่นคือ ฟิสิกส์จะกำหนดกฎเกณฑ์ และชีววิทยาจะกำหนดโอกาสของวิวัฒนาการ ไม่ว่าเหตุการณ์นั้นจะอยู่บนโลกหรืออยู่บนต่างดาว แล้วนั่นก็หมายความว่า สิ่งมีชีวิตต่างดาวน่าจะมีรูปร่างและลักษณะ เหมือนๆ กับสิ่งมีชีวิตบนโลก
เพราะกฎฟิสิกส์จะทำให้ลำดับ DNA แปลงไปเป็น amino acid ในรูปแบบเดียวกัน และจาก amino acid เราก็จะได้ protein ที่มีรูปแบบเดียวกัน แล้วกฎฟิสิกส์ก็ได้บังคับให้โปรตีนเกิดขึ้น โดยเป็นแบบเกลียว (α helices) กับแบบแผ่น (β sheets)
เมื่ออะตอมทุกตัวในกาแล็กซีทางช้างเผือกก็เหมือนกับอะตอมทุกตัวในกาแล็กซี Andromeda ฯลฯ และน้ำในทุกกาแล็กซีก็ยังเป็นตัวทำละลายที่ดี คาร์บอนก็ยังเป็นอะตอมที่ว่องไวในการสร้างอินทรีย์โมเลกุล กฎต่าง ๆ ทาง thermodynamics ก็ยังเป็นกฎเดียวกันสำหรับสสารทั้งบนโลกและนอกโลก วัวที่อยู่บนดาว ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวเป็น 10 เท่าของโลก ก็จะต้องมีเท้าที่แข็งแรงกว่าวัวบนโลก 10 เท่า นั่นจึงหมายความว่า มนุษย์ต่างดาวก็จะมีรูปลักษณ์ที่ไม่ต่างไปจากมนุษย์บนโลกมาก
อ่านเพิ่มเติมจาก “The Equations of Life: How Physics Shapes Evolution” โดย Charles S. Cockell จัดพิมพ์โดย Basic Books (June 19, 2018)
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์