ในวันอังคารที่ 27 กันยายนที่จะถึงนี้ ขณะเวลา 6.15 น. (ตามเวลากรุงเทพฯ) ยานอวกาศของ NASA ในโครงการ Double Asteroid Redirection Test (DART) จะพุ่งชนดวงจันทร์น้อย Dimorphos ซึ่งเป็นดาวบริวารของดาวเคราะห์น้อย Didymos (จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Didymoon) ขณะเกิดการชนกันนั้น ระบบดาวคู่ (Didymos กับ Dimorphos) ทั้งสองดวงอยู่ห่างจากโลก 11 ล้านกิโลเมตร จุดมุ่งหมายของโครงการ DART คือ เพื่อทดสอบกลไกที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสามารถจะปกป้องโลกให้ปลอดภัยจากการถูกดาวเคราะห์น้อย หรือดาวหางพุ่งชนได้ โดยใช้แรงกระแทกและหลักการทรงโมเมนตัมในการชน เบี่ยงทิศการโคจรของดวงจันทร์น้อยให้เบนไป จนทำให้ชาวโลกมีความมั่นใจว่า ถ้าเกิดมีดาวเคราะห์น้อยดวงใดจะพุ่งมาชนโลกในอนาคต เทคโนโลยี DART ก็จะสามารถคุ้มครองโลกมนุษย์ มิให้เป็นอันตรายใดๆ ได้
แม้ในความเป็นจริง Didymos และ Dimorphos จะไม่มีโอกาสพุ่งชนโลกได้เลยก็ตาม แต่การทดลองครั้งนี้ก็มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการทดลองครั้งแรกที่ NASA จะใช้ดาวจริงและกระสุนจริง สำหรับข้อมูลที่ได้จากการทดลองครั้งนี้ นอกจากจะสามารถบอกโครงสร้างภายในของดวงจันทร์น้อยได้แล้ว ผลที่ได้ก็ยังสามารถเป็นข้อมูลพื้นฐานให้นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีใช้ในการบรรเทาภัยที่จะเกิด เวลาอุกกาบาตขนาดใหญ่ หรือดาวเคราะห์น้อยที่มีมวลมาก จะพุ่งมาชนโลกในอนาคต
ในอวกาศนอกโลกของเรา มีดาวเคราะห์น้อยที่โคจรใกล้โลกเป็นจำนวนมากกว่า 25,000 ดวง และดาวเหล่านี้มีความเร็วต่าง ๆ กัน กำลังโคจรในวงโคจรที่อาจจะตัดกันในบางเวลา ดังนั้นเหตุการณ์การชนกันจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มาก และหลังจากที่ชนกันแล้ว ชิ้นส่วนหรือสะเก็ดหินที่เกิดขึ้นก็อาจจะเคลื่อนที่พุ่งตรงมาสู่โลกก็ได้ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง “วันสิ้นโลก” ก็จะมาถึง เพราะสิ่งมีชีวิตหลายชนิดและมนุษย์ทั้งโลกก็อาจจะสูญพันธุ์
ในอดีตเมื่อ 42 ปีก่อนนี้ ไม่มีใครในโลกรู้ว่า ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ได้อย่างไร อะไรคือสาเหตุที่ทำให้มันสูญพันธุ์ จนกระทั่ง Luis (ผู้พ่อ) และ Walter (ผู้ลูก) ในตระกูล Alvarez ได้เสนอหลักฐานและอธิบายด้วยเหตุผลว่า โลกได้ถูกดาวเคราะห์น้อย ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 10 กิโลเมตร พุ่งชนที่คาบสมุทร Yucatán ใน Mexico เมื่อประมาณ 65 ล้านปีก่อน และผลของการชนครั้งนั้น ได้ทำให้เกิดหลุมอุกกาบาตใต้ทะเล ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 180 กิโลเมตร ที่อ่าว Mexico การพบชั้นดินที่มีแร่ iridium ในปริมาณมากบนโลก ซึ่งแร่ชนิดนี้ตามปกติมีพบมากในอุกกาบาต เพราะผลที่เกิดจากแรงปะทะในครั้งนั้นได้ทำให้เกิดมหาสมุทรฝุ่นและเถ้าถ่าน เป็นเมฆขนาดใหญ่ปกคลุมโลกอย่างหนาทึบ จนสภาพอากาศบนโลกได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสุดขั้ว เพราะมีทั้งคลื่นสึนามิยักษ์ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทวีปต่าง ๆ อย่างรุนแรง ภูเขาไฟจำนวนมากได้ระเบิด และไฟป่าได้ลุกลามทั่วโลก ทำให้ไดโนเสาร์จำนวนมากล้มตายจนสูญพันธุ์ และหลังจากนั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ขึ้นมาครองโลกแทน
ต่อจากนั้นอีกนาน คือในปี 1908 ก็มีเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 50 เมตร ได้พุ่งผ่านบรรยากาศโลกเหนือบริเวณใกล้แม่น้ำ Tunguska ในไซบีเรียของรัสเซีย การเสียดสีกับบรรยากาศได้ทำให้ดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นระเบิดตัวเอง มีผลทำให้ต้นไม้ในป่าที่มีพื้นที่ 2,150 ตารางกิโลเมตร ล้มระเนระนาด นักวิทยาศาสตร์ได้คำนวณพลังงานที่เกิดจากการระเบิดครั้งนั้นและพบว่า มีคาบเทียบได้กับระเบิดปรมาณูที่อเมริกาใช้ถล่มเมือง Hiroshima ของญี่ปุ่น จำนวน 330 ลูก ที่ระเบิดพร้อมกัน
เมื่อถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของปี 2013 ที่ประเทศรัสเซีย ก็มีรายงานการเห็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็ก ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 20 เมตร ซึ่งได้พุ่งผ่านท้องฟ้าเหนือเมือง Chelyabinsk แล้วระเบิดจบชีวิตของตัวมันเองในอากาศอีก ซึ่งมีผลทำให้ผู้คน 1,600 ชีวิตต้องบาดเจ็บ และอาคารบ้านเรือนเสียหายประมาณ 7,300 หลัง ความรุนแรงของการทำลายล้างนี้ คิดเทียบได้กับการระเบิดของระเบิดปรมาณูที่ใช้ถล่ม Hiroshima จำนวน 33 ลูก
ตัวอย่างของเหตุการณ์ยมบาลจากสวรรค์มาเยือนโลกดังที่กล่าวมานี้ ทำให้ชาวโลกตระหนักได้ว่า มัจจุราชที่สถิตบนสวรรค์มีจริง และเมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ การรู้ตัวล่วงหน้าเป็นเวลานาน ๆ เพื่อเตรียมการป้องกันภัย โดยการติดตามเฝ้าดูวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยและดาวหาง (ทั้งใหญ่-กลาง-เล็ก) อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่นักวิทยาศาสตร์ของบางชาติจะต้องกระทำเพื่อมนุษย์ทุกชาติ (เพราะชาติส่วนใหญ่ในโลก ไม่มีงบประมาณ ไม่มีบุคลากร และไม่มีอุปกรณ์ใด ๆ ที่จะใช้ในการป้องกันภัยประเภทนี้จากอวกาศ) เพื่อจะให้รู้อย่างแม่นยำว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงที่กำลังจะพุ่งชนโลกนั้น มีขนาดใหญ่เพียงใด เป็นก้อนเดียวหรือประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายก้อน และจะพุ่งชนโลกที่เมืองใด เมื่อใด ด้วยความเร็วเท่าใด เพื่อจะได้ประเมินความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และเพื่อจะได้อพยพผู้คนออกจากพื้นที่อันตรายให้ได้มากที่สุด หรือถ้าดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นพุ่งตกในทะเลลึก ภัยสึนามิที่จะเกิดขึ้น จะทำลายเกาะหรือประเทศที่ตั้งอยู่ริมทะเลประเทศใดบ้าง และในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์กับนักเทคโนโลยีก็จำเป็นต้องหาวิธีกำจัดภัยเหล่านี้ด้วย ซึ่งก็อาจทำได้หลายวิธี เช่น ใช้ระเบิดนิวเคลียร์ระเบิดดาวเคราะห์น้อยให้แหลกละเอียดเป็นจุล แต่เทคนิคนี้จำต้องใช้เวลานาน (ประมาณ 10 ปี เพื่อสร้างจรวดนำระเบิดไป) อีกทั้งต้องมั่นใจว่า ซากของดาวเคราะห์น้อยที่แตกกระจุยกระจายนั้น จะต้องไม่ตกกลับสู่โลก ในลักษณะห่าระเบิด ซึ่งจะเป็นภัยอันตรายมาก หรืออาจจะใช้วิธียิงกระสุนไปปะทะดาวเคราะห์น้อย เพื่อให้มันเบนทิศการโคจรที่จะมุ่งมาชนโลก และเทคนิคนี้เป็นเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้เป็นครั้งแรก ในวันอังคารที่จะถึงนี้
ดังได้กล่าวแล้วว่า ดาวเคราะห์น้อยในอวกาศมีมากเป็นจำนวนนับ 6 แสนดวง ดังนั้นการเฝ้าติดตามบรรดาดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้อย่างจริงจังตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะดาวเคราะห์น้อยอาจชนกันเอง จนทำให้ดาวแตกกระจาย ดังนั้น NASA จึงกำหนดให้ใช้กล้องโทรทรรศน์ 3 กล้อง ซึ่งติดตั้งอยู่ที่รัฐ Arizona, New Mexico และ Hawaii เพื่อส่งข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยทุกดวงไปที่ศูนย์วิจัยดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet Center) ที่เมือง Cambridge ในรัฐ Massachusetts เพื่อวิเคราะห์วิถีโคจรของดาวทุกดวง ร่วมกับศูนย์วิจัยดาวเคราะห์น้อยที่ Jet Propulsion Laboratory ในรัฐ California และที่มหาวิทยาลัย Pisa ในอิตาลี เพื่อคำนวณโอกาสที่ดาวเคราะห์น้อยแต่ละดวงจะพุ่งชนโลก และถ้าความหวั่นกลัวนี้เป็นจริง ก็ให้ศูนย์วิจัยบอกสังคมด้วยว่าประเทศใด และเมืองใดจะถูกดาวเคราะห์น้อยถล่มเมื่อใด
ณ วันนี้ศูนย์วิจัยทั้ง 3 ศูนย์มีข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยที่โคจรใกล้โลกประมาณ 20,000 ดวงแล้ว และบรรดา Near-Earth Object (NEO) นี้ ต่างก็เป็นดาวที่มีโอกาสจะโคจรใกล้โลก คิดเป็นระยะทางน้อยกว่า 1.3 A.U. (Astronomical Unit) โดยที่ 1 A.U. คือ ระยะทางโดยเฉลี่ยจากโลกถึงดวงอาทิตย์ = 150 ล้านกิโลเมตร ดังนั้นดาวเคราะห์น้อยดวงใดที่เป็น NEO ก็จะถูกจัดกลุ่มว่าเป็นดาวอันตราย
แต่ดาวเคราะห์น้อยเหล่านี้ก็มีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก สำหรับดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่นั้น นักดาราศาสตร์ได้ตั้งเกณฑ์ว่า จะต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่า 1 กิโลเมตร และศูนย์ฯ ก็มีข้อมูลของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ประมาณ 98% ของทั้งหมดแล้ว ส่วนดาวเคราะห์น้อยที่มีที่มีขนาดกลาง คือ มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวตั้งแต่ 140 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร ศูนย์ฯ ก็มีข้อมูลประมาณ 50% ของจำนวนทั้งหมดแล้ว และสำหรับกลุ่มที่มีขนาดเล็ก แม้จะมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ใครรู้สึกกังวลมาก เพราะมันจะถูกเผาไหม้ไปจนหมด ขณะตกผ่านชั้นบรรยากาศของโลก
ในปี 1998 รัฐสภาสหรัฐฯ ได้เคยอนุมัติเงินวิจัยประมาณ 4 ล้านดอลลาร์/ปี ให้ NASA เพื่อใช้ในการค้นหาดาวเคราะห์น้อยที่เป็นภัย เมื่อเกิดเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยระเบิดเหนือเมือง Chelyabinsk ในปี 2013 งบประมาณการวิจัยเรื่องนี้ก็ได้เพิ่มเป็น 20 ล้านดอลลาร์/ปี ในทันที
ตามปกติเวลาเราจะศึกษาผลที่เกิดจากการชนกันระหว่างดาว เราจำเป็นต้องรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของดาวคู่กรณี ซึ่งในที่นี้ คือ ดวงจันทร์น้อย Dimorphos กับยาน DART และเพื่อจะให้รู้ผลที่เกิดขึ้นว่าจะนำความหายนะมาสู่มนุษย์หรือไม่นั้น เราจำเป็นต้องรู้โครงสร้างภายในของดวงจันทร์น้อย Dimorphos ก่อน ว่าเป็นของแข็งตันหรือทรงกลมกลวง หรือประกอบด้วยกองหินขนาดใหญ่หลายก้อนที่มาจับกลุ่มอยู่ด้วยกัน (ภายใต้แรงโน้มถ่วง) อย่างหลวม ๆ ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลัง ผลที่จะเกิดขึ้นหลังการชน ก็คือ การกระจายของชิ้นส่วนที่เป็นองค์ประกอบของดวงจันทร์น้อย ซึ่งถ้าตกสู่โลก มันก็จะสร้างภัยอันตรายให้แก่ชาวโลกมาก เพราะสะเก็ดหลังการชนจะทำตัวเสมือนเป็นระเบิดดาวกระจาย (cluster bombs) ดังนั้นภาระงานที่นักดาราศาสตร์ในอนาคตจะต้องทำ ก็คือ นอกจากจะศึกษาดูลักษณะภายนอกของดาวเคราะห์น้อยแล้ว เขาต้องรู้โครงสร้างภายในของดาวเคราะห์น้อยด้วย
ดังการทดลองตัวอย่างที่ NASA ได้ทำไปเมื่อปี 2005 คือ ได้ให้ยานอวกาศ Deep Impact ยิงกระสุนทองแดงที่หนัก 372 กิโลกรัม เข้าพุ่งชนดาวหาง Temple 1 ที่มีลักษณะเป็นแท่งยาว 14 กิโลเมตร ด้วยความเร็วประมาณ 100 เท่าของความเร็วของกระสุนปืนไรเฟิล (rifle) แล้วเก็บข้อมูลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่านักดาราศาสตร์ได้เห็นดาวหางดวงนี้มาเป็นเวลานาน แต่กลับไม่รู้อะไร ๆ ที่เกี่ยวกับโครงสร้างภายในของดาวหางเลย ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น เวลาดาวหางถูกระดมยิงด้วยกระสุนที่มีความเร็วสูงเช่นนั้น คำพยากรณ์ที่หลายคนคาดว่า มีโอกาสจะเป็นไปได้ คือ จะมีหลุมอุกกาบาตเกิดขึ้นบนดาวหาง หรือกระสุนจะจมหายไปใต้ผิวดาว หรือดาวหางจะแตกกระจัดกระจาย
ในการทดลองยิงดาวหางครั้งนั้น ก่อนการยิงจะเกิดขึ้นประมาณ 24 ชั่วโมง ยานอวกาศ Deep Impact ได้ปล่อยกระสุนที่ยาว 1 เมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1 เมตร โดยให้กระสุนมีกล้องถ่ายภาพติดตัวไปด้วย และให้พุ่งชนดาวหาง Temple 1 ด้วยความเร็ว 36,720 กิโลเมตร/ชั่วโมง (หรือประมาณ 10 กิโลเมตร/วินาที) หลังการชน ยานอวกาศ Deep Impact ก็ได้ถูกบังคับให้โคจรผ่านดาวหางที่ระยะห่าง 500 กิโลเมตร
การรู้ข้อมูล ขนาด มวล และความเร็วของกระสุน รวมถึงข้อมูลทางกายภาพของดาวหาง ได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์รู้ความหนาแน่น และความพรุนของดาวหาง โดยการศึกษาขนาดของหลุมอุกกาบาตที่เกิดขึ้นบนดางหาง ซึ่งอาจจะมีขนาดต่าง ๆ กัน
เพราะเหตุว่าดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยได้ถือกำเนิดมาในเอกภพพร้อม ๆ กับสุริยจักรวาล ดังนั้นมันจึงเป็นเสมือนยานเวลาที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์รู้เหตุการณ์ในอดีตเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อนได้ ยิ่งเมื่อมีนักดาราศาสตร์บางคนที่สงสัยว่า ในเมื่อบนดาวหางมีสารอินทรีย์และน้ำแข็ง ดังนั้นเวลาดาวหางพุ่งชนโลก สิ่งมีชีวิตบนดาวหางก็จะได้โอกาสลงมาจุติบนโลก และทะเลบนโลกก็อาจจะถือกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งที่มีบนดาวหางก็ได้
ผลการสังเกตหลังจากที่กระสุนจากยาน Deep Impact พุ่งชนดาวหาง Temple 1 แล้ว เพียงไม่กี่มิลลิวินาที ก็ได้เห็นเนื้อดาวพุ่งกระจัดกระจายออกจากหลุม ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตร/วินาที และส่วนมากเป็นสารประเภท silicate ที่มีจุดหลอมเหลวอยู่ที่อุณหภูมิ 3,800 เคลวิน ข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า หยด silicate ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 10 ถึง 100 นาโนเมตร เป็นหยดที่ถือกำเนิดจากเนื้อดาวหางที่ระดับลึกตั้งแต่ 20 ถึง 30 เมตร การติดตามดูผลที่เกิดขึ้นจากการชนยังแสดงอีกว่า ได้มีคลื่นกระแทกเกิดขึ้นภายในตัวดาวหางเป็นเวลานานถึง 5 นาที ข้อมูลเหล่านี้จึงแสดงว่า เนื้อดาวหางมีลักษณะร่วน คือมิได้เป็นเนื้อแน่น แม้ฝุ่นละอองที่พุ่งกระจายออกมาจะมีมากถึง 10 ล้านกิโลกรัมก็ตาม แต่นั่นก็คิดเป็นเพียง 0.000001% ของมวลดาวหาง และฝุ่นที่เกิดขึ้นนี้ก็มีความเร็วประมาณ 1 เมตร/วินาที ซึ่งก็มากพอที่จะทำให้ฝุ่นหลุดหนีจากสนามโน้มถ่วงของดาวหางได้บ้าง ดังนั้น 95% ของฝุ่นทั้งหมดก็ได้ตกลงสู่ดาวหางอีก
ภาพถ่ายของดาวหางหลังการชน 800 วินาที ได้แสดงให้เห็นว่า มีหลุมอุกกาบาตที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 100 เมตร และลึก 30 เมตร ได้เกิดขึ้นบนดาวหาง
ดาวหาง Temple 1 จึงเป็นดาวที่ประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็ก ซึ่งยึดติดกันด้วยแรงโน้มถ่วง เนื้อดาวจึงมีสภาพพรุน โดยมีความหนาแน่นประมาณ 60% ของน้ำแข็ง และมีค่าต่ำกว่าน้อยกว่า 25% ของความหนาแน่นของหินบนโลก
สำหรับโครงการ DART ที่ NASA ได้กำหนดให้พุ่งชนดวงจันทร์น้อย Dimorphos ในวันที่ 27 กันยายนนั้น เป็นยานที่ได้รับการออกแบบโดยทีมนักฟิสิกส์ประยุกต์ ในสังกัดที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ในสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ศึกษาธรรมชาติของระบบดาวเคราะห์น้อยคู่ 65803 Didymos (คำนี้แปลว่า คู่แฝด และเป็นดาวที่ Joseph Montani แห่งหอดูดาว Kitt Peak ที่เมือง Tucson ในรัฐ Arizona เป็นผู้พบ เมื่อวันที่ 11 เมษายน ปี 1996) โดยดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ถูกพบเป็นลำดับที่ 65803 ว่ามีลักษณะกลม คือ มีรัศมียาวประมาณ 390 เมตร มีมวล 523,200 ล้านตัน และโคจรรอบดวงอาทิตย์ มีคาบการโคจรนาน 770 วัน โดยมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ตั้งแต่ 150 ถึง 348 ล้านกิโลเมตร
ครั้นเมื่อถึงปี 2003 Petr Pravec ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ชาวเชคโกสโลวาเกีย ก็ได้พบว่า Didymos มีดาวบริวารดวงหนึ่ง มันจึงเป็นดวงจันทร์น้อยของดาวเคราะห์น้อย และเขาได้ตั้งชื่อมันว่า Dimorphos (ซึ่งแปลว่า สองรูป) ดวงจันทร์น้อยดวงนี้ มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวเพียง 160 เมตรเท่านั้นเอง ดังนั้นมันจึงเป็นเทหวัตถุอวกาศที่มีขนาดเล็กที่สุดดวงหนึ่ง และเหมาะสำหรับการทดลองครั้งบุกเบิกนี้ โดย Dimorphos มีมวล 4.8 ล้านตัน และโคจรรอบ Didymos โดยใช้เวลา 11.93 ชั่วโมง
ด้านยาน DART ที่ NASA จะให้พุ่งชน Dimorphos นั้น มีมวล 550 กิโลกรัม และขณะพุ่งชน DART จะมีความเร็ว 6.6 กิโลเมตร/วินาที แต่ก่อนการชนจะเกิดขึ้น 2สัปดาห์ ยาน DART ก็ได้ปล่อยดาวเทียม LICIACube ซึ่งได้รับการออกแบบโดยองค์การ Italian Space Agency ให้ออกจากยาน เพื่อจะไปถ่ายภาพของเหตุการณ์ชนที่ระยะใกล้มาก ๆ แล้วส่งข้อมูลทั้งหมดกลับมายังโลก โดยใช้กล้องถ่ายภาพสองกล้องชื่อ LUKE กับ LEIA เพื่อจะให้ได้ภาพของเหตุการณ์ใน 3 มิติ และให้กล้องทั้งสองตรวจสอบการทำงานของกันและกันด้วย
การคำนวณโดยใช้กลศาสตร์ธรรมดาได้แสดงให้เห็นว่า ถ้าให้ความเร็วของ DART มีทิศตั้งฉากกับความเร็วของ Dimorphos และถ้า DART ทำลายตัวเอง โดยการเข้าไปฝังตัวอยู่ใน Dimorphos อย่างสมบูรณ์ มุมเบี่ยงเบนของ Dimorphos จะมีค่ามากที่สุด และความเร็วของ Dimorphos จะเปลี่ยนไปประมาณ 0.4 มิลลิเมตร/วินาที แม้ความเร็วที่เปลี่ยนไปนี้จะมีค่าน้อยนิด แต่ในระยะเวลาที่นานหลายปี ระยะทางที่เบี่ยงเบนจะมากเป็นหลายพันกิโลเมตร ซึ่งก็จะทำให้โลกปลอดภัย และ Dimorphos เอง ก็จะมีคาบการโคจรที่ลดลงไปประมาณ 10 นาที
ในการติดตามผลที่เกิดจากการชนครั้งนี้ ในปี 2024 NASA มีแผนจะส่งยานอวกาศ HERA ขึ้นอวกาศ และให้ยานอวกาศ HERA เดินทางถึงระบบดาวคู่ทั้งสอง ในปี 2027
บน HERA จะมีดาวเทียมอีก 2 ดวง ชื่อ Milani และ Juventas เพื่อจะใช้ศึกษาและวัดคาบการโคจร รวมถึงระยะทางที่ Dimorphos ได้เปลี่ยนไปหลังการถูกพุ่งชนในวันอังคารที่จะถึงนี้ แล้วเราก็จะรู้ว่า เทคโนโลยี DART ทำงานได้ผลหรือไม่ และถ้าได้ผลจริง Dimorphos ก็จะได้ชื่อว่า เป็นดาวดวงแรกในระบบสุริยะ ที่ถูกมนุษย์เปลี่ยนแปลงวิถีโคจรได้สำเร็จ
อ่านเพิ่มเติม “The Double Asteroid Redirection Test (DART)” โดย Andrew S. Rivkin et al. ใน The Planetary Science Journal ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม ปี 2021
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์