สมมติมีนักดาราศาสตร์คนหนึ่งบังเอิญได้เห็นจุดสว่างขนาดเล็กกำลังเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ ไปในท้องฟ้าในเวลากลางคืน เขาจึงติดตามดูดาวที่ต้องสงสัยอย่างใกล้ชิด และพบว่ามันเป็น "ดาวเคราะห์น้อย" ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 200 เมตร มีความเร็ว 15 กิโลเมตร/วินาที อยู่ห่างจากโลกประมาณ 50 ล้านกิโลเมตร และกำลังมุ่งหน้ามายังโลก การคำนวณแสดงว่ามันจะถึงโลกในวันที่ 27 เมษายน ค.ศ.2027 คือ ในอนาคตอีก 5 ปี
คำถามที่ยังไม่มีคำตอบ คือ คนทั้งโลกจะต้องทำอะไร เพราะถ้าดาวดวงนั้นตกบนโลก ซึ่งมีพื้นที่เป็นน้ำมากถึง 2 ใน 3 ของพื้นที่ผิวทั้งหมด คลื่นมหาสึนามิที่เกิดจะทำให้สัตว์น้ำหลายสายพันธุ์ต้องสูญพันธุ์ และบ้านเรือนริมทะเลทั่วโลกจะถูกคลื่นถล่ม
แต่ถ้าดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนพื้นแผ่นดินใหญ่ ปัญหาก็จะจบ (เพราะผู้คนตรงบริเวณ ground zero จะตายหมด) ส่วนคนที่อยู่นอกบริเวณก็จะได้รับความหายนะจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น แผ่นดินไหว ไฟป่าลุกไหม้ ฝุ่นละอองและเขม่าจะลอยขึ้นไปในท้องฟ้าอย่างหนาแน่นจนบดบังแสงอาทิตย์มิให้กระทบโลกนานเป็นเดือน จากนั้นความทุกข์ยากจะบังเกิด เพราะการทำเกษตรกรรมจะไร้ผล และสภาพดินฟ้าอากาศจะแปรปรวนมาก จนผู้คนนับแสนต้องอดอาหารและล้มตาย
ซึ่งถ้าผลการคำนวณหรือการพยากรณ์ทั้งหมดนี้เป็นจริง ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้ และใครควรทำอะไรบ้าง (นอกจากสวดมนต์)
คำถามเช่นนี้ มิใช่คำถามที่มีในจินตนาการแนว sci-fi อีกต่อไป แต่เป็นคำถามที่อาจจะเป็นจริงได้ในอนาคต เพราะตั้งแต่อดีตเมื่อ 690 ล้านปีก่อน ได้มีอุกกาบาต ดาวเคราะห์น้อย ดาวหางทั้งขนาดใหญ่และเล็กได้พุ่งชนโลกนับ 2,000 ครั้ง เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ประเทศมหาอำนาจด้านอวกาศของโลก เช่น อเมริกา รัสเซีย จีน อินเดีย ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี ฯลฯ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบ และโอกาสความเป็นไปได้ในการเกิดภัยดาวเคราะห์น้อยชนโลก เพื่อหาทางป้องกันภัย เพราะนักดาราศาสตร์ตระหนักดีว่า ในอวกาศมีวัตถุท้องฟ้านานาขนาดเป็นจำนวนมาก และในบางเวลาวัตถุเหล่านี้ได้โคจรเข้าใกล้โลก และอาจพุ่งชนโลกได้ ดังนั้นชาวโลกจึงต้องพยายามหาทางป้องกันภัยที่จะเกิด และที่สำคัญ คือ ทุกคนรู้ดีว่าประสิทธิภาพในการป้องกันภัยจะสูง ถ้าได้รู้ตัวล่วงหน้าเป็นเวลานานๆ
ในอดีตเมื่อ 120 ปีก่อนนี้ ชาวโลกได้เคยอกสั่นขวัญเสียมาแล้วถึงสองครั้ง คือ ครั้งแรก ในเช้าวันอังคาร ที่ 30 มิถุนายน ปี 1980 (รัชสมัยสมเด็จพระปิยมหาราช) ขณะเวลา 7.17 นาฬิกา ชาวบ้านเผ่า Tunga ในดินแดน Siberia แถบตะวันตกของประเทศรัสเซีย ได้เห็นลูกไฟขนาดใหญ่ลูกหนึ่งพุ่งผ่านท้องฟ้า เหนือป่าที่อยู่ใกล้แม่น้ำ Podkamennaya โดยลูกไฟได้มุ่งหน้าต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จากนั้นอีก 3 วินาทีต่อมา ทุกคนก็ได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว พร้อมกันนั้นก็เห็นเปลวไฟลุกสว่างบนพื้นดิน ทุกคนที่เห็นเหตุการณ์จึงตกใจกลัว เพราะคิดว่าวันสิ้นโลกหรือวันโลกาวินาศได้มาถึงแล้ว รถไฟที่กำลังแล่นอยู่ใกล้บริเวณเกิดเหตุได้หยุดเดิน เพื่อให้ผู้โดยสารในรถได้ออกมายืนดูเหตุการณ์ แต่เพราะสถานที่วัตถุท้องฟ้าตกเป็นป่าที่แทบไม่มีคนอาศัยอยู่เลย ดังนั้นจึงไม่มีใครเสียชีวิต แต่ผลกระทบของเหตุการณ์ครั้งนั้นยังมีให้หลายคนได้เห็นต่อไปอีกหลายวัน เช่น ท้องฟ้าในยุโรปและทางตอนเหนือของเอเชีย ในยามกลางคืนมีแสงสว่างค่อนข้างมากอย่างผิดปกติ เหมือนเมื่อครั้งที่ภูเขาไฟ Krakatoa ในประเทศอินโดนีเซียระเบิดเมื่อปี 1883 และความสว่างยังได้ช่วยให้ชาวลอนดอนสามารถอ่านหนังสือพิมพ์กลางถนน ในเวลากลางคืนได้อย่างสบายๆ
แม้ท้องฟ้าจะระเบิด และแผ่นดินจะสะเทือนมากสักปานใด แต่ก็ไม่มีนักวิทยาศาสตร์รัสเซียคนใดสนใจหรือติดตามไปดูเหตุการณ์ ณ สถานที่เกิดเหตุ เพราะปี 1908 เป็นช่วงเวลาใกล้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1914-1918) และประชาชนทุกคนจึงสนใจเรื่องความขัดแย้งและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศยิ่งกว่า นอกจากเหตุผลดังกล่าวนี้แล้ว ประเทศรัสเซียใกล้จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และสถานที่อุกกาบาตตกก็อยู่ในป่าลึก ทำให้การเดินทางไปสำรวจซากอุกกาบาตไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง คือ ใครจะไปก็ได้ แต่อาจจะกลับออกมาไม่ได้
ลุถึงปี 1921 ซึ่งเป็นเวลา 3 ปี หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 1 ยุติ Leonid Kulik ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยาจาก Museum of the Soviet Academy of Sciences ก็ได้เดินทางไปที่เมือง Kansk เพื่อค้นหาชิ้นส่วนของอุกกาบาตที่ตก รวมทั้งหลุมอุกกาบาตที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย แต่ไม่ได้พบร่องรอยอะไรเลย
อีกหกปีต่อมา Kulik ได้ออกเดินทางไปค้นหาและรวบรวมสะเก็ดดาวอีก จึงได้เดินบุกเข้าไปในป่าลึก เป็นระยะทางประมาณ 700 กิโลเมตร โดยมีมัคคุเทศก์เป็นคนนำทาง และใช้เลื่อนบรรทุกสัมภาระที่มีกวางเรนเดียร์ลาก ในที่สุด Kulik ก็ได้เห็นบริเวณที่มีต้นไม้จำนวนมากล้มระเนระนาดแบบถอนรากถอนโคน เสมือนป่าไม้ถูกพายุพัดจนต้นล้มระเนระนาด การเห็นเช่นนี้ทำให้คนนำทางรู้สึกกลัวมาก เพราะเป็นคนที่เชื่อเรื่องภูตผีและเทวดา เขาจึงบอก Kulik ว่า เทพเจ้า Ogda แห่งไฟ ได้เสด็จลงมาจากสวรรค์แล้ว และทรงเผาป่าด้วยพระองค์เองก่อนเสด็จกลับ คนนำทางจึงทิ้ง Kulik ให้อยู่สำรวจต่อตามลำพัง และก็ไม่ได้พบอะไรเพิ่มเติม ด้านหมอผี Ivan Ivanovich Aksenov ของชาวบ้านแถบนั้น ก็ได้สาบานในทำนองเดียวกันว่า ได้เห็นปีศาจสองตา ที่มีไฟลุกท่วมตัวเหาะผ่านท้องฟ้าด้วยความเร็วสูงยิ่งกว่าเครื่องบินใด ๆ ขณะผ่านไปเหนือหมู่บ้านที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ในเต็นท์ ขณะอุกกาบาตตก พลังระเบิดได้ทำให้สัตว์สี่เท้า เช่น แกะ วัว หลายตัวกระเด็นลอยแล้วตกลงมาตาย เป็นต้น เมื่อไม่มีวัตถุพยานใด ๆ และข่าวที่ได้รับมีแต่เรื่องไสยศาสตร์ ทางการรัสเซียจึงได้ออกคำสั่งให้ชาวรัสเซียทุกคนปกปิดข่าวนี้เป็นความลับสุดยอด
จนกระทั่งถึงปี 1958 ที่โลกเริ่มมีเทคโนโลยีสำรวจระยะไกล ซึ่งช่วยนักวิทยาศาสตร์ให้สามารถถ่ายภาพของพื้นที่ได้โดยใช้เวลาไม่นาน การนำภาพทุกภาพที่ได้มาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ได้แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ 2,000 ตารางกิโลเมตรที่อยู่ภายในวงกลมที่มีรัศมี 65 กิโลเมตร มีต้นไม้ประมาณ 40,000 ต้น ที่ได้ล้มระเนระนาด การวิเคราะห์เศษแร่ที่พบในบริเวณที่อุกกาบาตตก แสดงว่าเป็นธาตุ nickel , cobalt , copper และ germanium เหมือน ๆ กับแร่ที่พบในอุกกาบาตทั่วไป การจำลองเหตุการณ์โดยคอมพิวเตอร์ได้แสดงให้เห็นว่า ดาวเคราะห์น้อยได้พุ่งจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนจะระเบิดตัวเองในอากาศเหนือเมือง Vanavara แต่ก็มีบางคนที่เชื่อว่า ดาวที่ตกในครั้งนั้น คือ ดาวหาง Encke แต่เมื่อไม่มีนักดาราศาสตร์คนใดรายงานการได้เห็นดาวหางในปีนั้นเลย สมมติฐานที่ว่า ดาวที่ตก คือ ดาวหางจึงตกไป ด้านนักวิทยาศาสตร์บางคน เช่น Alexander Kazantsev คิดว่าเหตุการณ์ที่เห็นเป็นการระเบิดของยาน UFO ที่เดินทางมาจากดาวดวงอื่น และเป็นยานที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานปรมาณู การระเบิดในอากาศจึงรุนแรงยิ่งกว่าระเบิดปรมาณูที่เคยถล่มเมือง Hiroshima ถึง 1,000 เท่า แต่บางคนกลับคิดว่า เหตุการณ์ที่เห็นเกิดจาก ดาวที่เป็นปฏิสสาร (antimatter) ปะทะกับสสาร (matter) บนโลก ทำให้เกิดรังสีแกมมา จึงไม่มีเศษอะไรหลงเหลือให้เห็น
ด้าน M. Boslough แห่งห้องปฏิบัติการ Sandia National Laboratories ในประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ได้ใช้ข้อมูลกายภาพต่าง ๆ ที่นักสำรวจวัดได้ แล้วใช้หลักฟิสิกส์ในการสร้างสถานการณ์จำลองขึ้นมา เขาก็ได้ข้อสรุปว่าตำแหน่งที่ดาวเคราะห์น้อย ตก คือ ที่จุดตัดระหว่างเส้นรุ้งที่ 60° 54′ 59.58′′ เหนือ กับเส้นแวงที่ 101° 57′ ตะวันออก และดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 40 เมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 15 กิโลเมตร/วินาที และได้ระเบิดตัวเองที่ระยะสูง 5-10 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน โดยพุ่งตัวทำมุม 45° กับผิวโลก นอกจากนี้การระเบิดก็ได้ทำให้แผ่นดินไหวอย่างรุนแรงที่ระดับ 5 ในมาตรา Richter
สำหรับปริศนาหลุมอุกกาบาตที่จะต้องเกิดตามมานั้น Kulik อ้างว่า ณ บริเวณจุดตก มีทะเลสาบชื่อ Cheko ที่นั่นจึงน่าจะเป็นหลุมที่ต้องการ แต่นักภูมิศาสตร์ชาวรัสเซียคนอื่น ๆ ก็อ้างว่า ทะเลสาบ Cheko ได้มีมานาน ก่อนปี 1908 ที่ดาวเคราะห์น้อยจะตกเสียอีก นอกจากนี้บริเวณขอบของทะเลสาบก็มิได้เป็นขอบสูงเหมือนขอบหลุมอุกกาบาตทั่วไป นอกจากนี้ที่ท้องทะเลสาบ Cheko ก็ไม่ได้มีการพบ “แร่” iridium ซึ่งมักพบในอุกกาบาตด้วย
แม้โลกไม่มีรายละเอียดมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่นักดาราศาสตร์ทุกคนก็รู้ว่า ในอนาคตจะต้องมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน เพราะมีดาวเคราะห์น้อยที่โคจรใกล้โลก (Near-Earth Object NEO) จำนวนมากหลายแสนดวง ซึ่งมีขนาดต่าง ๆ กัน และประมาณ 90% ของ NEO เหล่านี้ มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่า 1 กิโลเมตร และอีก 10% ที่เหลือมีขนาดเล็กกว่า ทุกดวงต่างก็มีโอกาสจะพุ่งชนโลกได้ ยิ่งเมื่อทุกคนได้เห็นดาวหาง Shoemaker–Levy 9 พุ่งชนดาวพฤหัสบดี เมื่อวันที่ 16-22 กรกฎาคม ปี 1994 แล้วว่าได้ทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่า 12,000 กิโลเมตร (คือ ใหญ่เท่าโลก) ความรุนแรงเช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้ทุกคนรู้สึกกลัว เพราะถ้าดาวหางดวงนั้นพุ่งชนโลกบ้าง ความรุนแรงของการระเบิดก็จะมากเท่าระเบิดปรมาณู 600 ลูก ระเบิดพร้อมกัน
เหตุการณ์โลกถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งเข้าใกล้ แต่ไม่ชน ได้บังเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปี 2013 ขณะเวลา 9.30 นาฬิกา ในท้องฟ้าเหนือเมือง Chelyabinsk ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของเทือกเขา Ural ดาวเคราะห์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 18 เมตรนี้ ได้ระเบิดตัวเองเหนือพื้นที่ระยะสูง 23.3 กิโลเมตร ขณะมีความเร็ว 18.6 กิโลเมตร/วินาที และการระเบิดได้ทำให้ชาวเมืองจำนวน 1,800 คน บาดเจ็บ เพราะร่างกายถูกเศษแก้วและเศษกระจกหน้าต่างที่แตกละเอียดบาดเนื้อตัวจนเป็นแผล ราวอาคารในเมืองได้ถูกดินระเบิดที่หนัก 400 กิโลตันถล่ม ในเวลาต่อมานักดาราศาสตร์ได้พบว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ มีต้นกำเนิดจากการชนกันระหว่างดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากที่กำลังโคจรอยู่ในแถบ asteroid belt ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี
ภาพถ่ายของเหตุการณ์ในวันนั้นยังแสดงให้เห็นอีกว่า เหตุการณ์นี้มีความรุนแรงน้อยกว่าเหตุการณ์ที่ Tunguska และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ออกมาจากดาวเคราะห์น้อยเป็นคลื่นชนิด infrasound ทีมสำรวจยังได้พบอีกว่า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ตกที่ทะเลสาบ Chebarkul ซึ่งอยู่ห่างจากเมือง Chelyabinsk ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 70 กิโลเมตร เพราะเวลานั้นเป็นฤดูหนาว น้ำที่ผิวทะเลสาบจึงเป็นน้ำแข็ง และดาวเคราะห์น้อยได้ทะลุผ่านชั้นน้ำแข็งลงไป ทำให้เกิดรูกลมขนาดใหญ่ การวิเคราะห์องค์ประกอบของดาวเคราะห์น้อย Chelyabinsk แสดงให้เห็นว่า มันถูกอากาศเสียดสี จนแตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ส่วนที่เหลือเป็นสารประกอบ chondrite ซึ่งประกอบด้วยแร่ silicate แต่ไม่ได้พบโมเลกุลอินทรีย์ใด ๆ ในสะเก็ดเหล่านั้นเลย
คำถามที่น่าสนใจ ซึ่งได้จากการศึกษาเหตุการณ์ทั้งสองนี้ คือ ในอนาคต ถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้อีก เราจะต้องทำอะไร และอย่างไร
ย้อนไปในอดีตเมื่อ 50 ปีก่อน เราจะเห็นว่าไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจเรื่องความหายนะประเภทนี้เลย นอกจากบรรดานักดาราศาสตร์อาชีพ แต่สาเหตุที่ทำให้คนทั้งโลกสนใจเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อย/ดาวหางพุ่งชนดาวเคราะห์ได้เกิดขึ้นในปี 1997 เมื่อ Luis Alvarez (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1968) กับ Walter Alvarez บุตรชาย ซึ่งเป็นนักธรณีวิทยา ได้ศึกษาหินที่ขุดได้จากหมู่บ้าน Gubbio ในประเทศอิตาลี ซึ่งมีอายุ 65 ล้านปี และพบว่าประกอบด้วยหินปูน 2 ชั้น ชั้นหนึ่งเป็นหินที่เกิดขึ้นในยุค Cretaceous กับอีกชั้นหนึ่งเกิดในยุค Tertiary และระหว่างชั้นทั้งสองเป็นดินเหนียวที่อุดมด้วยแร่ iridium มากกว่าปกติถึง 300 เท่า และแร่นี้เกิดขึ้นภายในเวลา 1,000 ปี (แต่ไม่พบธาตุ plutonium-244 ซึ่งตามปกติจะมาจากการระเบิดของดาว supernova) สองพ่อลูกจึงเสนอความเห็นว่า เมื่อ 65 ล้านปีก่อน โลกได้ถูกดาวเคราะห์น้อยพุ่งชน ช่วงเวลาที่เกิดเหตุเป็นรอยต่อระหว่างยุค Cretaceous กับยุค Tertiary จึงเรียกว่าเขตแดน KT (K จากคำ Kreide ในภาษาเยอรมัน ซึ่งตรงกับ Cretaceous ในภาษาอังกฤษและ T มาจากคำ Tertiary) โดยดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 10 กิโลเมตร การสืบค้นหาสถานที่ตกบนโลก พบว่าตกที่คาบสมุทร Yucatan ใกล้อ่าวเม็กซิโก ในมหาสมุทรแอตแลนติก
และอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกสนใจเรื่องนี้ คือ เหตุการณ์ดาวหางชนดาวเคราะห์ เพราะในปี 1994 ทุกคนได้เห็นดาวหาง Shoemaker–Levy 9 พุ่งชนดาวพฤหัสบดี ผลที่ตามมา คือ ฮอลลีวูดได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง Armageddon และ Deep Impact ซึ่งได้ทำให้ใคร ๆ ก็รู้จัก NEO หลังจากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้กำหนดให้ NASA ทำหน้าที่ค้นหา NEO ทุกดวงที่กำลังโคจรในอวกาศ โดยเฉพาะดวงที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่า 1 กิโลเมตร โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ทั้งบนโลกและในอวกาศ รวมทั้งกล้องถ่ายภาพ charge-coupled device (CCD) ศึกษาวงโคจร ขนาด ระยะทางจากโลก องค์ประกอบ และให้คำนวณโอกาสที่ดาว NEO เหล่านี้ว่า ดวงใดว่าโอกาสจะพุ่งชนโลกได้บ้าง เพื่อหาวิธีลดภัยอันตรายชนิดนี้ และ NASA ก็ได้พบว่า NEO มีเป็นจำนวนมาก จนทำให้ดูเสมือนว่าโลกกำลังอยู่ในทะเลดาวเคราะห์น้อยหลายดวงที่มีวงโคจรตัดกับวงโคจรของโลก ซึ่งการตัดกันของวงโคจร แสดงว่า ดาวดังกล่าวมีโอกาสชนโลก
ตามปกติดาวเคราะห์น้อย ซึ่งได้ถือกำเนิดมาพร้อมๆ กับโลก สามารถโคจรอยู่ได้ในหลายบริเวณ เช่น ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี คือ ที่ระยะทาง 2-4 A.U. (1 A.U. = ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ คือ ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร) บริเวณนี้จึงเรียกแถบ asteroid หรือ asteroid belt กลุ่มที่สองโคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ตั้งแต่ 30-10,000 A.U. เรียกแถบ Edgeworth–Kuiper ซึ่งอยู่นอกวงโคจรของดาวเคราะห์ Neptune กับกลุ่มที่สาม คือ พวกที่อยู่ในเมฆ Oort (Oort cloud) โดยอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ตั้งแต่ 2,000-200,000 A.U.เพราะเรามีดาวเคราะห์น้อยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นดาวเหล่านี้จึงมีโอกาสชนกันบ่อย และผลที่อาจจะเกิดตามมา คือ มันจะเบนวิถีโคจรให้ผ่านเข้าใกล้โลกจนเป็น NEO ดาวเหล่านี้ตามปกติประกอบด้วยหิน สารประกอบคาร์บอน (carbonaceous) และแร่โลหะ
สถานการณ์จำลองโดยคอมพิวเตอร์ยังแสดงให้เห็นอีกว่า ถ้าดาวเคราะห์น้อยที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 กิโลเมตร พุ่งชนโลกและตกในมหาสมุทร Pacific ใกล้ประเทศ Chile ในทวีปอเมริกาใต้ จะทำให้เกิดหลุมที่กว้างถึง 60 กิโลเมตร และลึกถึง 5 กิโลเมตร จะเกิดคลื่นสึนามิที่สูง 70 เมตรในทะเล ซึ่งจะเคลื่อนที่ไปถึง Siberia ภายในเวลา 20 ชั่วโมง แต่โอกาสที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นน้อย คือ 1 ครั้งในทุกแสนปี
แต่จากตารางถ้าพิจารณาดูดาวเคราะห์น้อยขนาดที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางสั้นกว่า 3 เมตรแล้ว เราจะเห็นว่าโอกาสที่จะมีคนตายด้วยดาวเคราะห์น้อยนี้ มีค่าประมาณ 1/20,000 คือ มากพอ ๆ กับการเสียชีวิต เพราะเครื่องบินตก
สำหรับประเด็นบริเวณที่ดาวเคราะห์น้อยอาจจะตกนั้น เราสามารถดูได้จากจำนวนหลุมอุกกาบาตที่ยังปรากฏเป็นหลักฐานอยู่บนโลก จำนวนทั้งหมด 190 หลุม (เพราะหลุมส่วนมากได้ถูกสภาพดินฟ้าอากาศทำลายไปหมดแล้ว)
ใน เอเชียและรัสเซีย ซึ่งมีพื้นที่ 30% ของโลก จำนวนหลุม 31
แอฟริกา 11% จำนวนหลุม 20
อเมริกาเหนือ16% จำนวนหลุม 60
อเมริกาใต้ 12% จำนวนหลุม 11
แอนตาร์กติกา 9%จำนวนหลุม 0
ยุโรป 7% จำนวนหลุม 41
ออสเตรเลีย 6% จำนวนหลุม 27
และ สถิติสุดท้าย คือ ยังไม่มีมนุษย์คนใดถูกอุกกาบาตหรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนจนตายเลย
ในส่วนของวิธีป้องกันภัยจากดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลกนั้น วิธีการหลักที่ NASA จะใช้ คือ ใช้วิธีเบี่ยงเบนวิถีโคจร หรือโดยใช้ระเบิดนิวเคลียร์ทำให้มันแตกกระจาย แต่วิธีการหลังนี้ ต้องกระทำอย่างระมัดระวัง เพราะชิ้นส่วนที่แตกกระจัดกระจาย อาจจะตกกลับมาสู่โลกได้อีก ดังนั้นวิธีนี้จึงไม่เหมาะ นอกจากนี้ระเบิดนิวเคลียร์ที่หนัก ทำให้ต้องใช้จรวดที่ทรงพลังในการนำขึ้น และการเตรียมจรวดเพื่อการนี้ต้องใช้เวลานาน หรืออีกวิธีหนึ่ง คือใช้แสงเลเซอร์พลังงานสูงมากระดมยิงที่ผิวของดาวเคราะห์น้อย เพื่อให้มวลบางส่วนระเหิดไป ซึ่งจะทำให้เกิดแรงดันดาวเคราะห์น้อยดวงนั้นให้เคลื่อนที่หนีจากโลกได้ การคำนวณพลังงานของแสง และตำแหน่งที่จะให้แสงกระทบ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หรืออาจจะใช้พลังงานแสงจากดวงอาทิตย์ให้ไปกระทบที่บรรดาดาวเทียมจำนวนมาก แล้วโฟกัสแสงให้ไปรวมกันที่ผิวดาวเคราะห์น้อย เพื่อผลักดันดาวเคราะห์น้อยให้เบี่ยงเบนวิถีโคจรไป นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีความเป็นไปได้สูง
ส่วนวิธีพุ่งชนตรงๆ ด้วยยาน DART ในโครงการ Double Asteroid Redirection Test ที่จะเบนดาวเคราะห์น้อยคู่แฝด Didymos กับ Dimorphos ซึ่งเป็นดวงใหญ่กับดวงเล็ก 800 เมตรกับ 160 เมตรนั้น ก็จะมีการทดลองยิงดาวดวงเล็ก ในปีนี้ (26 กันยายน 2022) และถ้ายังไม่ได้ผล เราก็จะมีดาวเคราะห์น้อย 99942 Apophis ที่จะโคจรมา “ใกล้” โลกอีกในวันที่ 13 เมษายน ปี 2029 ให้ลองซ้อมเทคนิคเบนวิถีโคจรของมันอีก เพื่อให้ชาวโลกทุกคนจะได้สบายใจว่า นักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีมีวิธีป้องกันโลกให้ปลอดภัยจากศัตรูนอกโลกครับ
อ่านเพิ่มเติมจาก Asteroid Impact Tsunami: A Probabilistic Hazard Assessment , Icarus , 145(1), 64-78 โดย S.N.Ward กับ E.Asphaug ปี 2000
ตารางแสดงสมบัติทางกายภาพของดาวเคราะห์น้อยมีดังนี้
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์