"บัว" เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันทั่วโลก ในฐานะที่เป็นไม้ดอกและไม้ประดับ ชาวอียิปต์เมื่อ 4,500 ปีก่อน ใช้บัวที่ออกดอกดาษดื่นในแม่น้ำไนล์เป็นสัญลักษณ์แสดงความอุดมสมบูรณ์ของอาณาจักรฟาโรห์ ภาพบัวที่ปรากฏตามผนังพีระมิด แสดงให้เห็นว่าในสมัยนั้นบัวมีหลายสายพันธุ์ แม้แต่ที่หัวเสาของโบสถ์และวิหารศักดิ์สิทธิ์ก็มีลวดลายที่แกะสลักเป็นดอกบัว นักประวัติศาสตร์กรีก Herodotus (484-425 ก่อนคริสตกาล) ได้บรรยายเหตุการณ์เวลาน้ำท่วมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำไนล์ว่า เวลาฟ้าสาง บัวจะบานสะพรั่ง และดอกจะหุบเวลาโพล้เพล้ การบานและหุบของดอกบัวที่เกิดขึ้นพร้อมกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ ทำให้ชาวอียิปต์เชื่อว่า สุริยเทพ Horus ทรงถือกำเนิดจากดอกบัว
ชาวอินเดียก็รู้จักบัวมานานร่วม 5,000 ปี เพราะนักโบราณคดีได้ขุดพบรูปปั้นดินเหนียวที่เป็นรูปเทพธิดาเปลือย ที่พระเกศามีดอกบัวประดับ รูปปั้นนั้นอยู่ใต้ซากเมืองของอารยธรรม Harappa ในลุ่มแม่น้ำสินธุ คนที่นับถือศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า บัวเป็นสถานบรรทมในพระพรหมและพระสุรัสวดี ซึ่งเป็นพระชายาก็ทรงถือดอกบัวในพระหัตถ์ตลอดเวลา ส่วนพระลักษมี ซึ่งเป็นพระชายาในพระนารายณ์ เวลาประสูติได้ประทับในดอกบัวที่โผล่ขึ้นจากทะเล
ด้านพุทธศาสนิกชนก็ยึดมั่นว่า บัวเป็นดอกไม้ประจำศาสนาพุทธ และมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบัวมากมาย เช่น พระนางสิริมหามายาทรงพระสุบินในคืนวันที่พระนางทรงครรภ์ว่า ทรงทอดพระเนตรเห็นดอกบัวขาว และเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเจริญพระชนมายุได้ 7 พรรษา พระราชบิดาสุทโธทนะทรงโปรดให้ขุดสระโบกขรณีเป็นที่ปลูกบัว ให้พระโอรสทรงพระเกษมสำราญ
ชาวพุทธทั่วไปยังเชื่ออีกว่า คนเราแม้จะถือกำเนิดในครอบครัวที่มีฐานะแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็มีโอกาสจะเป็นคนดีได้ ถ้าใฝ่ชอบ เหมือนบัวที่เกิดในโคลนตม แต่ก็สามารถโผล่ดอกพ้นน้ำให้ผู้คนชื่นชมได้ ในทำนองเดียวกับพระพุทธเจ้าซึ่งทรงประสูติกลางทะเลกิเลส แต่ทรงบำเพ็ญตน จนบรรลุบาปเป็นองค์ศาสดาได้ ด้วยสาเหตุเหล่านี้ ชาวพุทธจึงนิยมใช้บัวเป็นดอกไม้บูชาพระ เพราะบัวเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ผุดผ่อง และยังนิยมสร้างพระพุทธรูปให้ทรงประทับเหนือดอกบัว เวลาแสดงพระธรรมเทศนา เป็นต้น
คนจีนเป็นอีกชาติที่นิยมและชื่นชมดอกบัว โดยยึดถือมันเป็นสัญลักษณ์การมาถึงของฤดูร้อน เหมือนดอกท้อที่ใช้แทนการมาถึงของฤดูหนาว และกล้วยไม้แทนฤดูใบไม้ผลิ ส่วนดอกเบญจมาศนั้นใช้แทนฤดูใบไม้ร่วง
แม้ว่าบัวจะมีถิ่นกำเนิดในอินเดียก็ตาม แต่คนจีนก็ได้ถือว่า บัวเป็นดอกไม้ประจำชาติจีนไปเรียบร้อยแล้ว และเวลาไหว้เจ้าแม่กวนอิม ก็นิยมพับกลีบดอก เพราะเชื่อว่าเจ้าแม่ทรงโปรดปรานดอกบัว เราจึงมักเห็นดอกบัวที่กลีบมีการตกแต่งวางขายในบริเวณรอบวัด
นอกจากจะมีคุณค่าด้านความสวยงามและความเชื่อแล้ว กลิ่น กลีบดอก ใบ และ เม็ด หรือแทบทุกส่วนของบัวก็ยังมีคุณค่าเชิงโภชนาการและเภสัชกรรมให้คนจีนได้ใช้เป็นยาพื้นบ้าน และอาหารบำรุงด้วย เช่น ใช้รากบัวหรือเหง้าบัวเป็นยาแก้ร้อนใน หรือใช้เชื่อมน้ำตาลเป็นของหวาน ใช้ชุบแป้งทอดเป็นอาหารว่าง ใช้เกสรตัวผู้ของดอกบัวเป็นยาหอมชูกำลัง และแก้อาการหน้ามืดวิงเวียนศีรษะ และเป็นยาขยายหลอดเลือด ส่วนเม็ดบัวนั้นใช้ต้มเป็นของหวาน และเป็นยาบำรุงครรภ์ กลีบบัวแห้งใช้ทำมวนบุหรี่ ใบบัวอ่อนใช้เป็นผักจิ้ม ส่วนใบแก่ใช้ห่ออาหารแทนใบตอง
ยอดอ่อนสีเขียวที่แฝงอยู่ในเม็ดบัวมีรสขมมาก เมื่อแห้งสามารถใช้เป็นยาระบายความร้อนจากร่างกายที่เมื่อยล้าได้ และรักษาสิวก็ได้ เด็กสาวที่ต้องการจะมีผิวใสอาจดื่มน้ำรสขมที่ต้มยอดอ่อนนี้ก็ได้ ด้านรากบัวเวลาแปรสภาพเป็นแป้ง สามารถใช้เป็นอาหารเสริมหรือทำเป็นขนมชูกำลังคนชราและคนอ่อนแอได้
สำหรับเม็ดบัวนั้น ตามปกติจะมีรสหวานมัน อาจจะใช้กินสด หรือนำมาตากแห้ง แล้วกินก็ได้ หรือนำมาต้มเป็นซุป หรือบด จนละเอียดเพื่อใช้ทำขนม เพราะเชื่อกันว่า สตรีคนใดที่บริโภคเม็ดบัว จะให้กำเนิดลูกชาย
บัวมีสรรพคุณเด่น คือ ใช้เกสรเป็นยาบำรุงหัวใจ สงบประสาท แก้ไข้ แก้ร้อนใน บำรุงกำลัง แก้อาการหน้ามืด ดีบัวใช้ชงเป็นชาเพื่อให้คลายเครียดและนอนหลับสบาย
ในระยะหลัง ๆ รากบัวได้รับความสนใจเป็นอาหารสุขภาพมากขึ้น เพราะอุดมด้วยวิตามินซี บี และมีแร่ธาตุ เช่น ทองแดง เหล็ก สังกะสี ที่ช่วยบำรุงสมอง ลดน้ำตาลในเลือด ด้านนักเคมีก็ได้พบว่า ใบบัวอ่อนมีสาร nelumbine, nuciferine, nonucuferine ส่วนรากบัวมีสาร polyphenol และ liensinine ดังนั้นบัวจึงเป็นพืชที่มีอะไร ๆ มากกว่าการเป็นดอกไม้ที่ใช้ไหว้พระ แต่เป็นทั้งอาหารและยาบำรุงด้วย
ปัจจุบันนี้ชาวจีนปลูกบัวกันมาก ในมณฑล Hubei และรอบเมือง Wuhan ตลอดจนถึงบริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำเหลือง และแม่น้ำแยงซี ไปจนจรดเกาะ Hainan
คนบางคนอาจจะคิดว่า บัวเป็นพืชในเอเชีย แต่ในยุโรปก็มีการปลูกบัวด้วย คงเพราะได้อ่านวรรณกรรมเรื่อง Odyssey ของกวี Homer ที่เขียนขึ้นเมื่อ 800 ปีก่อนคริสตกาลว่า มีเกาะ ๆ หนึ่งในทะเล Mediterranean ที่ชาวเกาะปลูกบัวเพื่อกินดอกและเม็ดเป็นอาหาร ซึ่งจะทำให้คนกินมีอาการง่วง และจะหลับไปอย่างหมดสติ Homer เรียกชื่อชาวเกาะพวกนี้ว่า Lotus-eaters ครั้นเมื่อสงครามกรุง Troy ยุติ Odysseus ก็ได้เดินทางกลับบ้านเกิดที่ Ithaca แต่เรือได้ถูกเทพเจ้ากลั่นแกล้งโดยการเนรมิตพายุให้พัด
นานเป็นเวลา 7 วัน จน Odysseus พลัดหลงไปที่เกาะนี้ ครั้นเมื่อลูกเรือได้ขึ้นบก เพื่อหาเสบียงอาหารมาบริโภคและกินดอกบัว ก็ได้ประจักษ์ว่า ลูกเรือไม่คิดจะกลับบ้าน จน Odysseus ต้องใช้กำลังบังคับ เรือจึงเดินทางต่อไป
แต่บัวที่ Homer เขียนบรรยายไว้นั้น กลับมิใช่บัวทั่วไปที่ชาวเอเชียรู้จัก เพราะมันคือผล Ziziphus lotus ที่ผิวมีหนามแหลม และเนื้อมีรสหวานจนคนกรีกนิยมใช้ทำเครื่องดื่ม
ชาวไทยก็นิยมปลูกบัวเช่นกัน และพบว่ามีชื่อกับชนิดสายพันธุ์ต่างๆ กัน เช่น บัวผัน บัวหลวง บัวสาย บัวฝรั่ง ฯลฯ และมีสีสันมากมาย เช่น แสด ขาว ชมพู ม่วงน้ำเงิน แดง ฟ้า เหลือง ชมพู ม่วงแดง และสีเหลือบ โดยบัวแต่ละสายพันธุ์มีความน่าสนใจเฉพาะตัว เช่น บัววิคตอเรีย (Victoria amazonica) ซึ่งเป็นบัวประจำถิ่นในทวีปอเมริกาใต้ แต่ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นบัวชนิดนี้ได้ทั่วโลก และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ ใบบัวมีขนาดใหญ่มาก และจะลอยอยู่เหนือผิวน้ำ โดยอาจจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางของใบยาวถึง 3 เมตร ให้เด็กทารกนั่งบนใบได้ ดอกก็มีขนาดใหญ่ คือ อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวถึง 45 เซนติเมตร ความน่าสนใจของบัววิคตอเรีย คือ เวลาดอกบานครั้งแรกในเวลาเย็น ดอกสีขาวจะส่งกลิ่นสับปะรดออกมาฟุ้ง เพื่อล่อแมลง
ณ เวลานั้นอุณหภูมิของดอกอาจจะสูงกว่าอุณหภูมิของสภาพแวดล้อมได้ถึง 12 องศาเซลเซียส สีสว่าง กลิ่น และอุณหภูมิที่อบอุ่นของดอกจะดึงดูดแมลงเต่าทอง (Cyclocephala) ที่มีลำตัวเล็ก 1-2.5 เซนติเมตร ให้บินเข้ามาหาดอก เพื่อหาน้ำหวาน แมลงเต่าทองตัวใดเพลิดเพลินในการดื่มเป็นเวลานานก็จะถูกกักขังในดอก เพราะกลีบบัวจะหุบเวลาอุณหภูมิอากาศภายนอกเย็นลง กลิ่นดอกก็จะซาลง การดิ้นรนไป-มาของแมลงจะทำให้เกสรของดอกติดตามตัวมันไปทั่ว จนถึงเวลาเช้าของวันต่อมา ดอกก็จะบานอีก แมลงเต่าทองก็จะบินออกจากดอกบัวดอกนั้นไปสู่ดอกบัวอื่นๆ ต่อไป การได้พลังงานความร้อนจากดอก ทำให้มันสามารถบินไปได้ไกล เพื่อไปผสมพันธุ์กับดอกอื่น ๆ ส่วนบัวดอกนั้นหลังจากที่เต่าทองบินจากไปแล้วก็จะหุบกลีบ แล้วจมหายไปในน้ำ เพื่อโผล่ขึ้นมาในตอนเย็นให้แมลงบินมาหาอีก และทุกครั้งที่แมลงบินจากดอกไป เกสรตัวผู้ที่ติดตามขาและปีกของมันก็จะช่วยแพร่พันธุ์บัวต่อไป ด้วยการผสมกับรังไข่ที่สุกแล้วของอีกดอกหนึ่ง ด้วยเหตุนี้การผสมข้ามสายพันธุ์จึงเกิดขึ้นได้
บัวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo nucifera ในวงศ์ NELUMBONACEAE และมีชื่อเรียกในภาษาไทยมากมาย เช่น สัตตบงกช สัตตบุศย์ อุบล แดงเทียรชัย กัลยานี แม่พลอย ม่วงวิบูลลักษณ์ นางกวักฟ้า เป็นต้น ลักษณะทั่วไปบัวเป็นไม้น้ำ มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน ใบเดี่ยว ผลแห้งรูปรี สามารถขยายพันธุ์ได้โดยใช้เม็ดและใช้วิธีแยกกอ
ในปี 2001 นักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ Wilhelm Barthlott (1946-ปัจจุบัน) จากมหาวิทยาลัย Bonn ในเยอรมนี ได้ใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (scanning electron microscope) ศึกษาโครงสร้างของใบพืชนานาชนิดเป็นเวลานานกว่า 20 ปี และพบว่าโดยทั่วไปใบพืชที่หยาบและขรุขระมากที่สุดจะต้องการการทำความสะอาดน้อยที่สุด ให้ปลอดจากละออง ฝุ่น และสิ่งสกปรก Barthlott ยังได้พบอีกว่า ใบพืชที่สะอาดที่สุด คือ ใบบัวขาว ที่มีหนามแหลมเล็กระดับนาโนเมตรปักติดเต็มเหมือนเตียงตะปูของนักเล่นกล เพราะเวลาหยดน้ำหรือฝุ่นละอองตกกระทบใบบัว หยดน้ำจะพยายามทรงตัวบนปลายหนาม แต่ในที่สุดเวลาถูกลมพัด แม้แต่เพียงเบา ๆ หยดน้ำก็จะกลิ้งผ่านปลายหนามไป พร้อมกับนำฝุ่น และขยะที่เกาะติดบนใบบัวไปด้วย
ใบบัวจึงเป็นชีววัสดุที่สามารถทำความสะอาดตัวมันเอง โดยไม่ต้องอาศัยแมลงหรือคนช่วย
องค์ความรู้นี้มีชื่อว่า ปรากฏการณ์บัว (lotus effect) ที่ได้ถูกนำไปใช้ในการผลิตสีทาบ้านชื่อ Lotusan ของบริษัท StoColor ในเยอรมนี ซึ่งทางบริษัทได้รับรองว่า ผนังบ้านที่ถูกทาด้วยสีนี้จะเกลี้ยงสะอาดเป็นเวลา 5 ปี โดยที่เจ้าของบ้านไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ล้าง หรือกระดาษทรายขัดแต่อย่างใด ถึงวันนี้แผ่นวัสดุมุงหลังคาหรือผนังก็ได้ใช้ปรากฏการณ์บัวนี้เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างเช่นกัน
องค์ความรู้นี้จึงเป็นความรู้ทางชีววิทยาที่วงการอุตสาหกรรมได้นำมาใช้ในการแก้ปัญหาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เพราะกระบวนการทำไม่ต้องใช้สารเคมีในการทำความสะอาด) ใช้วัสดุน้อยทำให้ไม่สิ้นเปลือง การลงทุนจึงน้อยตามไปด้วย
ความรู้ในประเด็นนี้จึงทำให้เรารู้ว่า ธุรกิจต่างๆ ก็มีหลักในการทำงานเหมือนระบบการทำงานของสิ่งมีชีวิต คือ ต้องพยายามหาวิธีสร้างสถานการณ์ที่เหมาะสำหรับการดำรงชีวิต หลีกเลี่ยงการสร้างพิษภัยต่อสิ่งมีชีวิตทุกรูปแบบ และก็ได้พบว่าการศึกษาวิธีดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ในบางประเด็น ได้ช่วยให้ชีวิตของคนมีคุณภาพดียิ่งขึ้น
เช่น ในกรณีของเข็มฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง (hypodermic needle) ที่มีปลายเข็ม ซึ่งแหลมเหมือนเขี้ยวงูกะปะ (rattlesnake) เพื่อให้สามารถเจาะทะลุผิวหนังเข้าเส้นเลือดได้
ด้าน Robert J. Full ซึ่งเป็นนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley ก็ได้พบว่า แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลต่างชนิดกัน สามารถช่วยให้ตุ๊กแกก้าวเท้าไปบนเพดาน หรือตะกายผนังได้อย่างคล่องแคล่ว ด้วยความเร็วประมาณ 1 เมตร/วินาทีสบายๆ
เพราะ Full ได้ใช้กล้องจุลทรรศน์ศึกษาขนที่ตีนตุ๊กแก และพบว่าเวลาขนนี้อยู่ใกล้ผิวผนัง หรือเพดานบ้าน มันจะมีอันตรกิริยากับโมเลกุลของวัสดุที่ผิวอย่างรุนแรง และเวลามันย่างเดิน โดยการยกเท้า แรงดึงดูดนี้จะมากพอที่จะรับน้ำหนัก 40 กิโลกรัม ซึ่งนำไปแขวนที่เท้าของตุ๊กแกได้
ในการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยฟัง นักชีวฟิสิกส์ก็ได้พบว่า แมลง Ormia ในวงศ์ Tachinidae ซึ่งเป็นปรสิตของจิ้งหรีดก็ได้รับการศึกษา ณ State University of New York ที่ Binghamton เพราะได้มีการพบว่า จิ้งหรีดสามารถปกปิดตำแหน่งที่มันส่งเสียงร้องไม่ให้ศัตรูรู้ได้ แต่มันไม่สามารถจะหลอกแมลง Ormia ได้ เพราะแมลง Ormia ได้พัฒนาระบบการได้ยินของมันจนรู้ว่า โดยแท้ที่จริงแล้ว จิ้งหรีดตัวนั้นอยู่ ณ ที่ใด เพื่อมันจะได้บินไปวางไข่บนตัวจิ้งหรีด และต้นเหตุของความสามารถนี้ ก็คือ หูของแมลงได้รับการพัฒนาจนสามารถระบุทิศทางของเสียงได้อย่างแม่นยำ และนักวิจัยก็ได้พยายามสร้างหูฟังของคนให้เหมือนหูของแมลง Ormia เพื่อช่วยคนที่มีความบกพร่องในการได้ยินสามารถได้ยินเสียงต่างๆ ได้
ด้าน H. Yildirim Erbil จากมหาวิทยาลัย Kocaeli ที่เมือง Ismit ในตุรกี หลังจากที่ได้ศึกษาใบบัวแล้ว ก็ได้พัฒนาพลาสติกเคลือบผิววัสดุไม่ให้เปียกน้ำ เพื่อใช้ทำแผ่นป้ายโฆษณาสินค้า เสาอากาศ และหลังคาบ้านที่ปล่อยให้น้ำไหลไปเสมือนว่าผิววัสดุเป็นหลังเป็ด โดยการทำผิวให้มีร่องอากาศระหว่างปุ่มมากมายบนผิว เพราถ้าร่องมีพื้นที่ผิวน้อย น้ำก็จะมีโอกาสเปียกผิวยาก ผิวใบบัวมีสารเคลือบที่ทำให้หยดน้ำติดยากเช่นกัน จนใบไม่สามารถเปียกน้ำได้ ทำให้เรามีสำนวนว่า “เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว” หลังจากที่ได้พบองค์ความรู้นี้ Erbil จึงได้ละลายพลาสติกที่เป็นสาร isotactic polypropylene แล้วเติมสารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้พลาสติกตกผลึก เพื่อเคลือบผิวแก้ว เขาก็ได้วัสดุที่น้ำไม่สามารถทำอะไรได้เลย
เซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้กันทั่วไปมีข้อจำกัดหนึ่ง คือ ผิวเซลล์จะสะท้อนแสงอาทิตย์ที่มาตกกระทบกลับออกไปในปริมาณมาก แทนที่จะปล่อยให้แสงผ่านเข้าไปในเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้า
ในการจะเอาชนะอุปสรรคนี้ นักเทคโนโลยีได้ปรับรูปลักษณ์ของผิวเซลล์ ซึ่งตามปกติจะมีลักษณะแบนราบ โดยการทำผิวให้ขรุขระเป็นรูปโดมคว่ำที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวระดับนาโนเมตร
ในวารสาร Nano Letters, DOI : 10.1021/nI 9034237 Yi Cui แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ในสหรัฐอเมริกาได้รายงานการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งตามปกติทำด้วย silicon อสัณฐาน ที่สามารถเปลี่ยนแสงความยาวคลื่นตั้งแต่ 400-800 นาโนเมตรให้เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ แต่ผิวแสงนั้นจะสะท้อนแสงกลับออกไปมากถึง 35%
ในการทำให้พลังงานแสงสะท้อนกลับไปมีค่าเพียง 6% Cui กับคณะได้พัฒนาวัสดุที่มีผิวเป็นรูปโดมหรือกรวย ซึ่งมีขนาด 100 นาโนเมตร โดยให้อยู่ห่างกัน 450 นาโนเมตร วัสดุประดิษฐ์นี้ Cui ได้จัดให้มีหลายชั้น โดยมีชั้นล่างสุดเป็นหิน quartz ซึ่งเคลือบด้วยธาตุเงิน และทำหน้าที่เป็นตัวสะท้อนแสง เหนือชั้นนี้ขึ้นไปเป็น electrode เหนือชั้นนี้ขึ้นไปอีกเป็นแผ่น silicon ที่โปร่งแสง และชั้นบนสุดเป็นขั้ว electrode ที่โปร่งใส
ดังนั้นถ้ามองทางด้านข้าง ผิวของเซลล์สุริยะจะมีปุ่มรูปโดมหรือกรวยที่เรียงรายคล้ายถาดไข่ โดยโดมและกรวยจะทำหน้าที่คล้ายเส้นใยนำแสงและท่อนำคลื่นแสง(waveguide) สู่บริเวณในเซลล์ของสารกึ่งตัวนำที่เกิดอันตรกิริยา
การมีปุ่มที่มีลักษณะเป็นโดมจำนวนมากนี้ ทำให้ผิวเซลล์มีลักษณะเหมือนผิวใบบัวที่ผลักหยดน้ำออกไป ทำให้ผิวใบบัวไม่เปียก เพราะหยดน้ำจะทรงรูปของมันเป็นหยด (โดยไม่แตก) เพราะแรงตึงผิวที่มีค่ามาก จะทำให้หยดน้ำคงรูปได้ ผิวเซลล์ที่ได้รับการออกแบบให้เป็นปุ่มจำนวนมากนี้ สามารถรับแสงที่มีความยาวคลื่นถึง 1,500 นาโนเมตรได้ด้วย
นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงเชิงเรขาคณิตของผิวเซลล์ไฟฟ้า สามารถทำให้มันมีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้มากถึง 25% เพราะผิวจะไม่สะท้อนแสงมาก และสามารถทำให้ผิวสะอาดได้ด้วยตนเอง
ความรู้ทางชีววิทยา จึงมีบทบาทไม่น้อยในการทำให้ความรู้ทางเทคโนโลยีได้รับการพัฒนา
อ่านเพิ่มเติมจาก Kumar, Manish; Bhardwaj (2020). "Wetting characteristics of Colocasia esculenta (Taro) leaf and a bioinspired surface thereof". Scientific Reports. 10 (1): 935. Bibcode:2020NatSR..10..935K. doi:10.1038/s41598-020-57410-2. PMC 6976613. PMID 31969578
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์