ในปัจจุบันพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งจากภัยธรรมชาติหรือจากการถูกรุกรานโดยมนุษย์ และหากไม่มีการอนุรักษ์ไว้ พันธุ์พืชเหล่านี้อาจสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติและอาจหายไปจากโลกนี้เลยก็ได้
ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้มีการจัดตั้ง ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) ขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์พืชชนิดต่างๆ และเก็บรักษาไว้ ในอนาคตที่อาจจะสูญพันธุ์ไปได้ โดยธนาคารแห่งนี้เปรียบได้เหมือนกับเรือโนอาห์ (Noah’s ark) เรื่องเล่าขานในหนังสือปฐมกาลที่พระเจ้าไว้ชีวิตโนอาห์และครอบครัว เพื่อสร้างเรือยักษ์รวบรวมสัตว์นานาชนิด ให้รอดพ้นจากภัยพิบัติน้ำท่วมโลก
และหากพิจารณาเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น พายุฝนรุ่นแรง น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ก็คงไม่ต่างไปจากเรื่องราวของเรือโนอาห์ ที่ควรรีบมีการเก็บรักษาและอนุรักษ์พันธุ์พืช เพื่อไม่ให้สาบสูญจากโลกนี้ไปตลอดกาล
ดร.ศิษเฎศ ทองสิมา ผู้อำนวยการธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ เกิดขึ้นด้วยวิสัยทัศน์ของ สวทช. ที่มุ่งเป้าขับเคลื่อนให้เป็น “ขุมพลังหลักของประเทศ” ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของรัฐและเอกชน ชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญนำสู่การพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด จึงเกิดการจัดตั้งขึ้นในปี 2562 เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ ในการสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาว ภายใต้การบริหารจัดการของ สวทช. เพื่อเป็นคลังสำรองให้แก่ประเทศ รวมถึงสนับสนุนการใช้ข้อมูลชีวภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการดำเนินงานร่วมกันของนักวิจัยจาก 3 ธนาคาร คือ ธนาคารพืช (Plant bank) ธนาคารจุลินทรีย์ (Microbe bank) และ ธนาคารข้อมูลชีวภาพ (Data bank)
เป้าหมายสำคัญของ NBT ในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ คือ การสนับสนุนการจัดเก็บสิ่งมีชีวิตนอกสภาพธรรมชาติแบบระยะยาวด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเตรียมพร้อมฟื้นคืนทรัพยากรชีวภาพให้แก่ประเทศในยามที่เกิดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มากเกินพอดี เพื่อเป็นฐานที่สำคัญของการพัฒนาตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการเตรียมพร้อมรับมือสภาวะวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การสูญเสียทรัพยากรชีวภาพอย่างถาวรในธรรมชาติ
ผู้อวยการ NBT กล่าวต่อว่า ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ มีการจัดเก็บทรัพยากรชีวภาพผ่าน 2 ธนาคาร คือ “ธนาคารพืช” และ “ธนาคารจุลินทรีย์” ธนาคารพืชมีภารกิจด้านการเก็บอนุรักษ์พันธุกรรมพืชของประเทศไทย โดยให้ความสำคัญกับพืชถิ่นเดียว พืชที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ส่วนธนาคารจุลินทรีย์มีภารกิจด้านการเก็บสำรองจุลินทรีย์ที่มีศักยภาพในการนำไปใช้ประโยชน์และเป็นแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ
“เช่น มันสัมปะหลัง หากไม่มีความหลากหลายของมันสำปะหลัง หากเกิดโรคพืช และไม่มีทางแก้ไข ท้ายที่สุดโรคพืชเหล่านี้ก็อาจจะฆ่าพันธุ์มันสำปะหลังบางสายพันธุ์ให้สูญพันธุ์ไป แต่ถ้าเกิดมีการเก็บพันธุกรรมของมันสัมปะหลังไว้มากเพียงพอ ก็จะมีโอกาสที่เราสามารถหาวิธีการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อดึงเอาศักยภาพของการต้านทานโรคระบาดนั้นมาใช้ และได้พัฒนามันสำปะหลังสายพันธุ์ใหม่ให้เกิดขึ้น”
ธนาคารทรัพยากรฯ แห่งนี้ มีองค์ความรู้ของนักวิจัยเฉพาะทางและมีความพร้อมด้านเครื่องมือสำหรับจัดเก็บตัวอย่างทรัพยากรชีวภาพในรูปแบบคงสภาพหรือคงความมีชีวิตที่อุณหภูมิเยือกแข็งถึง 3 ระดับ
1. ระดับ - 20 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่บรรจุในหลอดขนาด 25 มิลลิลิตร จัดเก็บได้ 100,000 หลอด
2.ระดับ - 80 องศาเซลเซียส ใช้สำหรับจัดเก็บจุลินทรีย์และตัวอย่างชีววัสดุอื่น ๆ ที่บรรจุในหลอดขนาด 2.5 มิลลิลิตร จัดเก็บได้ 300,000 หลอด นอกจากนี้ยังมีถังไนโตรเจนเหลวขนาด 1,770 ลิตร
สำหรับจัดเก็บตัวอย่างเซลล์สิ่งมีชีวิตในสภาวะเย็นยิ่งยวดที่อุณหภูมิ - 196 องศาเซลเซียส
หัวใจสำคัญในการอนุรักษ์พันธุกรรมสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด คือ ความสามารถในการมีชีวิตรอดหลังการจัดเก็บในธนาคาร เพื่อให้มั่นใจว่าจะนำสิ่งมีชีวิตเหล่านี้กลับมาใช้ฟื้นฟูทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้คงความสมบูรณ์ต่อไปได้ในอนาคต