xs
xsm
sm
md
lg

25 ปีมว. ร่วมหนุนเทคโนโลยีผลิตอาหารสู่มาตรฐานระดับโลก ภายใต้แนวคิด “มาตรวิทยาเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ครัวไทยสู่ครัวโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานครบรอบ 25 ปี ภายใต้แนวคิด “มาตรวิทยาเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ครัวไทยสู่ครัวโลก” แสดงศักยภาพด้านการวัดของประเทศไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก และพร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีความเข้มแข็งในเรื่องของมาตรฐานในระดับสากล โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี และร่วมแสดงปาฐกถาพิเศษ พร้อมหลากหลายผู้ทรงคุณวุฒิของประเทศเข้าร่วมเสวนา ในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรมสวิสโซเทล กรุงเทพฯ

โดยงานนี้ นอกจาก มว. จะได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มาแสดงปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ประเทศไทยกับอาหารโลก” แล้ว ยังมีการบรรยายพิเศษ “Food Trend” โดย ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้อำนวยการฝ่ายเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis), การเสวนาเรื่อง “อนาคตการส่งออกอาหารมูลค่าสูง” โดย คุณศศิวิมล ทับแย้ม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ, ดร.พิเชฐ อิฐกอ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ศาสตราจารย์ ดร.ภาวิณี ชินะโชติ ที่ปรึกษา FoSTAT และหัวหน้าโครงการ Food Innovation & Regulation Network สอดรับกับประเด็นหลักเนื่องในวันมาตรวิทยาโลก ประจําปี 2023 คือ“Measurement supporting the global food system”
มีการนำเสนอเทคโนโลยีและงานวิจัยด้านอาหารที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยมาตรฐานสากลที่แสดงถึงศักยภาพด้านการวัดของประเทศ ในแนวคิด “ความสามารถทางการวัด เพื่อห่วงโซ่คุณค่าการผลิตอาหาร” อาทิ การตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร (Food contaminants), ไมโครพลาสติก นวัตกรรม vs ความปลอดภัย, การฆ่าเชื้อด้วย Sterilization, บริการมาตรวิทยา เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร, ผลักดันข้าวสู่นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต อีกทั้งยังมีบริการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการธุรกิจทางด้านอาหารด้วย

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 กล่าวถึงความจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีระบบมาตรวิทยาที่มีสมรรถนะและได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติก็ได้ดำเนินการต่างๆ มากมายหลายขั้นตอน จนวันนี้เราสามารถกล่าวได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ระบบมาตรวิทยาของประเทศไทยเข้มแข็ง ได้รับการยอมรับจากอุตสาหกรรมในประเทศและได้รับการยอมรับตามข้อตกลงยอมรับร่วมระหว่างประเทศทำให้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยที่ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศไทยสามารถส่งไปขายและแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตจากประเทศอื่นได้ทั่วโลก นับเป็นเรื่องดีที่เราจะผลิต probiotics และสารปรุงแต่งอาหารคุณภาพสูงใช้เองในประเทศ ซึ่งประเทศไทยของเรามีทรัพยากรมาก มีทุนทางวัฒนธรรมมหาศาล และผู้คนมีจินตนาการสูง ผมเชื่อว่าเรามีศักยภาพที่จะนำสิ่งต่างๆ ที่เรามีมาผสมผสานกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าและมูลค่ายิ่งขึ้นให้แก่โลกและให้แก่เรา ผมเชื่อว่าเราสามารถส่งมอบระบบอาหารที่คนปลูก คนปรุง คนขายและคนกินล้วนมีความสุขและสุขภาพดี ในขณะเดียวกัน ธรรมชาติก็มีความสุขและสุขภาพดีด้วย”
พลตํารวจโท นายแพทย์พรชัย สุธีรคุณ ผู้อํานวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า “เวลา 25 ปีที่สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติได้ร่วมขับเคลื่อนระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ(NQI) นี้ สถาบันฯทําหน้าที่หลัก ในการกําหนดมาตรฐานของประเทศให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล โดยสถาบันฯได้รับการยอมรับจากผู้ใช้บริการทั้งภายในและภายนอกประเทศ ห้องปฏิบัติการของสถาบันฯได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 และ ISO 17034 ครอบคลุมขอบข่ายการให้บริการที่หลากหลายสาขาเพื่อรองรับความต้องการของประเทศ โดยข้อมูลในปี 2565 พบว่าบริการทางการวัดจากสถาบันฯ ช่วยลดของเสียจากกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารได้ถึงร้อยละ 57 และลดต้นทุนในการทดสอบผลิตภัณฑ์ลงได้ร้อยละ 70”
ปัจจุบัน สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ให้บริการทางการวัดสําหรับเครื่องมือวัดมาตรฐานทั้งภายในและภายนอกประเทศ มากกว่า 3,700 เครื่อง มีวัสดุอ้างอิงรับรอง ไม่น้อยกว่า 730 รายการ มีบริการให้คําปรึกษาทางมาตรวิทยาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารไม่น้อยกว่า 80 รายการ สำหรับท่านที่สนใจพันธกิจและบริการของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ช่องทางสื่อสารออนไลน์ www.nimt.or.th และ https://www.facebook.com/NIMT2541/
































กำลังโหลดความคิดเห็น