“เอนก” ผลักดันการสร้างกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ สนับสนุนให้ ทำหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ปริญญาตรี - โท ร่วมกับ มหาวิทยาลัยต่างประเทศ และภาคเอกชน เพื่อสร้างการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ในไทย
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ศ(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน เซมิคอนดักเตอร์(Semiconductor) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ที่ใช้แพร่หลายในชีวิตประจำวัน เช่น สมาร์ทโฟน แทบเล็ต ยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆที่ต้องอาศัย AI คาดว่าความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศต่างๆ ก็เข้ามาแข่งขันในการลงทุนด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ ประเทศในยุโรป จีน เกาหลีใต้ ขณะที่ประเทศไทย ก็มีการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ แต่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนการประกอบและทดสอบ (assembly and testing) และเริ่มมีในส่วนของการออกแบบ (IC Design) บ้าง แต่ยังขาดในส่วนการผลิต ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์
รมว.อว.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญของการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ คือการลงทุนค่อนข้างสูงและความต้องการกำลังคนที่มีทักษะสูงค่อนข้างมาก สำหรับประเทศไทย หากจะให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการพัฒนากำลังคนในด้านนี้ที่มีคุณภาพ ให้มีปริมาณมากพอ เพื่อสร้างความมั่นใจในการลงทุน ทั้งการดึงดูดการลงทุนจากนอกประเทศและสร้างการลงทุนในประเทศ ตนจึงสั่งการให้มีการแสวงหาความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศและภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ชั้นนำทั้งในและนอกประเทศเพื่อให้เกิดการผลิตกำลังคนด้านนี้ให้รวดเร็วและมีปริมาณมากพอ
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.กล่าวว่า ขณะนี้ มีมหาวิทยาลัยไทย 9 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.สงขลานครินทร์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความสนใจในการทำหลักสูตรในการผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ โดยได้มีการร่วมหารือกับ มหาวิทยาลัยชั้นนำ 6 แห่งของไต้หวัน ที่มีการเรียนการสอนและทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน ในด้านเซมิคอนดักเตอร์รวมทั้ง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company หรือ TSMC บริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อร่วมมือกันจะมีทั้งการผลิตกำลังคนและงานวิจัย ซึ่งในการผลิตกำลังคนจะมีการจัดทำหลักสูตรในระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโท ด้าน Semiconductor ร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยไทยจะใช้วิธีการ Higher Education Sandbox ในการพัฒนาหลักสูตร ที่ไม่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการผลิตบัณฑิตให้ตอบสนองต่อการผลิตคนที่มีคุณภาพที่มีปริมาณมากและรวดเร็ว โดยตั้งเป้าให้มีนักศึกษาที่มีศักยภาพสูงในโปรแกรมไม่น้อยกว่า 200 คน/ปี ในสาขาที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ด้านเครื่องมือ ด้านวัสดุ ด้านการออกแบบ IC ด้านกระบวนการผลิต ด้านการทดสอบและแพ็กกิ้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่อง
นอกจากหลักสูตรในระดับปริญญาแล้ว มหาวิทยาลัยไต้หวันบางแห่งจะช่วยในการดำเนินการจัดฝึกอบรมระยะสั้นให้แก่ บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย เพื่อเพิ่มพูนทักษะในด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การส่งเสริมให้นักศึกษาไทยได้มีโอกาสในการฝึกปฏิบัติงานใน บริษัท Semiconductor ชั้นนำของโลกที่ไต้หวัน รวมถึงส่งเสริมให้นักวิจัยไทย ได้ทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยของไต้หวันทางด้าน Semiconductor เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาในด้านนี้ด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่า จะสร้างความพร้อมให้กับประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่เป็นอุตสาหกรรมขั้นสูงและมีความสำคัญในปัจจุบันและอนาคต