xs
xsm
sm
md
lg

NASA เผยยาน DART เปลี่ยนวงโคจรดาวเคราะห์น้อยได้สำเร็จด้วยการพุ่งชน ต่อยอดการปกป้องโลกจากอันตรายในอวกาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT ได้เผยว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ NASA ได้ยืนยันถึงการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยของยานในภารกิจ DART ช่วยเปลี่ยนลักษณะการโคจรของดาวเคราะห์น้อยเป้าหมาย

จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ของทีมงานในภารกิจ DART (Double Asteroid Redirection Test) ขององค์การนาซา แสดงให้เห็นว่าการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสของยานอวกาศ สามารถเบี่ยงวิถีของดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายได้สำเร็จ และกลายเป็นภารกิจเบี่ยงวิถีโคจรของวัตถุในอวกาศที่สำเร็จเป็นครั้งแรกของมนุษยชาติ ซึ่งจะใช้เป็นองค์ความรู้พื้นฐานของการปกป้องโลกจากการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยในอนาคตต่อไป


ก่อนหน้าการพุ่งชน ดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสใช้เวลาโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยดวงแม่ (ดาวเคราะห์น้อยดีดิมอส) นาน 11 ชั่วโมง 55 นาที แต่หลังจากการพุ่งชนของยาน DART เมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์จากทั่วโลก ตรวจวัดคาบการโคจรของดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสอีกครั้ง จนถึงตอนนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่า การพุ่งชนของยาน DART ทำให้คาบการโคจรของดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟอสเร็วขึ้นประมาณ 32 นาที ซึ่งคาบการโคจรที่เปลี่ยนไปบ่งชี้ว่า ดาวเคราะห์น้อยมีวงโคจรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หากดาวเคราะห์น้อยมีคาบการโคจรสั้นลง แสดงว่าวงโคจรใหม่จะหดลงเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อยดวงแม่มากขึ้น และในทางตรงข้าม หากมีคาบการโคจรที่นานขึ้น จะแสดงว่ามีวงโคจรใหม่ที่กว้างกว่าเดิม

แม้ว่าทีมนักวิทยาศาสตร์ในภารกิจ DART จะยืนยันว่าสามารถเบี่ยงวิถีดาวเคราะห์น้อยได้แล้ว แต่ก็ยังต้องการข้อมูลการสังเกตการณ์เพิ่มเติมจากเครือข่ายหอดูดาวทั่วโลก รวมไปถึงข้อมูลจากเรดาร์ของห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ขับเคลื่อนไอพ่น (JPL) ของนาซา และกล้องโทรทรรศน์วิทยุกรีนแบงค์ของ NRAO


ขณะนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ DART หันมาให้ความสนใจในเรื่องการถ่ายโอนโมเมนตัมจากยาน DART ที่พุ่งชนเป้าหมายด้วยอัตราเร็ว 22,530 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รวมถึงการวิเคราะห์ Ejecta หรือเศษวัสดุที่สาดกระเด็นไปในอวกาศ ซึ่งช่วยขยายแรงจากการพุ่งชนของยาน ในลักษณะเดียวกับกระแสลมที่พุ่งออกจากรูรั่วบนลูกโป่ง แล้วทำให้ลูกโป่งเคลื่อนไปในทิศตรงข้าม

อย่างไรก็ดี เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นข้างต้น นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องศึกษาคุณสมบัติทางกายภาพของดาวเคราะห์น้อยมากกว่านี้ อย่างเรื่องลักษณะและความแข็งแรงของพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนที่กำลังศึกษา

ข้อมูลจากยาน DART ในเสี้ยววินาทีสุดท้ายก่อนการพุ่งชน จะถูกนำมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลต่อไป ร่วมกับ LICIACube ดาวเทียมขนาดเล็กขององค์การอวกาศอิตาลี เพื่อวิเคราะห์หามวลและรูปร่างของดาวเคราะห์น้อย และในอนาคต ยานในโครงการเฮรา (Hera) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) มีแผนจะสำรวจระบบดาวเคราะห์น้อยดีดิมอส-ไดมอร์ฟอสอย่างละเอียด ในปี ค.ศ.2026 โดยเฉพาะร่องรอยที่เกิดจากการพุ่งชนของยาน DART และการวัดมวลของไดมอร์ฟอสอย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น


ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT


กำลังโหลดความคิดเห็น