ยานอวกาศของนาซาที่จงใจพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ประสบความสำเร็จในการสะกิดเบี่ยงดาวเคราะห์น้อยดวงดังกล่าว จากเส้นทางตามธรรมชาติเข้าสู่วิถีโคจรที่เร็วขึ้น ส่งผลให้มันกลายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มนุษยชาติทำการเปลี่ยนการเคลื่อนที่ของวัตถุในฟากฟ้าใดๆ จากคำแถลงของหน่วยงานอากาศของสหรัฐฯในวันอังคาร (11 ต.ค.)
ภารกิจทดสอบความเป็นไปได้ที่ใช้เวลาพัฒนา 7 ปี และมีมูลค่า 330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังเป็นตัวแทนของการทดสอบระบบป้องกันตนเองครั้งแรกของโลก ซึ่งออกแบบมาสกัดความเป็นไปได้ของวันสิ้นโลก ที่เกิดจากอุกกาบาตพุ่งชนพิภพแห่งมนุษยชาติ
ผลการค้นพบผ่านการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ ถูกเปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ในวอชิงตัน ซึ่งยืนยันว่าเที่ยวบินทดสอบพลีชีพของยานอวกาศดาร์ต เมื่อวันที่ 26 กันยายน บรรลุเป้าหมายในเบื้องต้น นั่นคือเปลี่ยนทิศทางของดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งผ่านแรงเสียดทานจลน์
การวัดทางดาราศาสตร์ตลอดช่วง 2 สัปดาห์หลังสุด พบว่า ดาวเคราะห์น้อยเป้าหมายถูกกระทบเบี่ยงเข้าใกล้ดาวเคราะห์น้อยคู่แฝดที่มีขนาดใหญ่กว่าในวงโคจรของมันเล็กน้อย และพบว่าระยะเวลาในการโคจรรอบของมันสั้นลง 32 นาที พวกนักวิทยาศาสตร์ระบุ
"นี่คือวินาทีแห่งการเปลี่ยนแปลงด้านการป้องกันโลกและวินาทแห่งการเปลี่ยนแปลงสำหรับมนุษยชาติ" บิล เนลสัน ผู้อำนวยการนาซาบอกกับผู้สื่อข่าวระหว่างแถลงผลลัพธ์ "มันรู้สึกเหมือนพล็อตเรื่องในภาพยนตร์ แต่นี่ไม่ใช่ภาพยนตร์ฮอลลีวูด"
ภารกิจพุ่งชนเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 10.9 ล้านกิโลเมตร อยู่ภายใต้การสังเกตการณ์แบบใกล้เคียงกับเวลาจริง จากศูนย์ปฏิบัติการภารกิจ ณ ซึ่งตั้งอยู่ที่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ (APL) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮ็อบกินส์ ในเมืองลอเรล รัฐแมริแลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่นาซาใช้ออกแบบและสร้างยานอวกาศลำดังกล่าว
เป้าหมายบนอวกาศของยานดาร์ต คือดาวเคราะห์น้อยรูปไข่ที่ชื่อว่า “ไดมอร์ฟัส” ที่มีขนาดพอๆ กับสนามอเมริกันฟุตบอล โดยมันกำลังโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยคู่แฝดดวงหนึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่า 5 เท่า ซึ่งมีชื่อว่า "ดิดีมอส" ทุก 11 ชั่วโมง 55 นาที
เที่ยวบินทดสอบจบด้วยการที่ยานอวกาศดาร์ต ซึ่งมีขนาดพอๆ กับตู้เย็น พุ่งเข้าชนไดมอร์ฟัสตรงๆ ด้วยความเร็วราวๆ 22,531 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อวัดจับคู่ระหว่างไดมอร์ฟัสกับดิดีมอส เปรียบเทียบก่อนและหลังการพุ่งชน พบว่า ช่วงเวลาการโคจรสั้นลงเหลือ 11 ชั่วโมง 23 นาที และไดมอร์ฟัสเบี่ยงเข้าใกล้ดิดีมอส มากกว่าเดิมหลายสิบเมตร
ทอม สตาทเลอร์ นักวิทยาศาสตร์ในโครงการดาร์ตของนาซา กล่าวว่า การชนกันทำให้ ไดมอร์ฟัส โยกเยกเล็กน้อย แต่จำเป็นต้องสังเกตการณ์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันในเรื่องนี้
ลอริ กลาซ ผู้อำนวยการแผนกวิทยาดาวเคราะห์ของนาซา ระบุว่า "ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าเรามีศักยภาพเบี่ยงดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นอันตรายในขนาดเท่านี้ หากเราสามารถตรวจพบมันล่วงหน้านานพอ กุญแจสำคัญคือการตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ"
บรรดานักวิทยาศาสตร์ของนาซาระบุว่า ดาวเคราะห์น้อยทั้ง 2 ดวง และยานอวกาศดาร์ต หรือชื่อเต็มว่า Double Asteroid Redirection Test ต่างไม่ได้เสี่ยงเป็นภัยคุกคามใดๆ กับโลก แต่ทาง แนนซี ชาโลท์ ผู้ประสานงานโครงการดาร์ตของห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮ็อบกินส์ บอกว่าขนาดของดาวเคราะห์น้อยพอๆ กับไดมอร์ฟัส เป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญลำดับต้นๆ สำหรับการปกป้องโลก
แม้ดาวเคราะห์น้อยขนาดพอๆ กับไดมอร์ฟัส จะไม่มีศักยภาพก่อภัยคุกคามแก่โลกในวงกว้าง แต่มันอาจทำลายเมืองใหญ่หนึ่งๆ ราบเป็นหน้ากองหากว่าพุ่งชนตรงๆ
พวกนักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่าแรงกระแทกของดาร์ต จะลดวิถีโคจรจองไดมอร์ฟัส ลงอย่างน้อย 10 นาที แต่การเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างน้อย 73 วินาที ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงมากกว่าครึ่งชั่วโมง จึงถือกว่ายังเกินความคาดหมาย
ยานอวกาศดาร์ต ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดลำหนึ่งของบริษัทสเปซเอ็กซ์ในเดือนพฤศจิกายน 2021 วิถีการเดินทางส่วนใหญ่ของมันอยู่ภายใต้การนำทางตามคำสั่งการบินของนาซา ก่อนยกให้ระบบนำทางอัตโนมัติบนยานเป็นผู้ควบคุมยานในชั่วโมงท้ายๆ ของการเดินทาง
ไดมอร์ฟัส และดิดีมอส ถือว่าเป็นขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์น้อย “ชิคซูลับ” ซึ่งพุ่งเข้าชนโลกเมื่อราวๆ 66 ล้านปีก่อน และก่อให้เกิดความพายนะอย่างรุนแรงและฉับพลัน โดยทำให้ประมาณสามในสี่ของสปีชีส์พืชและสัตว์ที่มีอยู่ในโลกเวลานั้น รวมทั้งพวกไดโนเสาร์ด้วยสูญพันธุ์ไป
อย่างไรก็ดี ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กลงมาคือสิ่งที่พบเห็นได้ง่ายกว่ากันมาก รวมทั้งสร้างความกังวลในทางทฤษฎีในระยะใกล้มากกว่า ดังนั้นจึงทำให้ขนาดของไดมอร์ฟัส และดิดีมอส มีความเหมาะสมยิ่งกว่าที่จะนำมาทดสอบ
(ที่มา : รอยเตอร์)