ยานอวกาศ "ดาร์ต" ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) ประสบความสำเร็จในการพุ่งเข้าชนดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่งที่โคจรอยู่ในอวกาศบริเวณห่างไกลจากโลกเมื่อวันจันทร์ (26 ก.ย.) ด้วยความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก ในการทดสอบระบบป้องกันตนเองครั้งแรกของโลก ซึ่งออกแบบมาสกัดความเป็นไปได้ของวันสิ้นโลก ที่เกิดจากอุกกาบาตพุ่งชนพิภพแห่งมนุษยชาติ
ความพยายามครั้งแรกของมนุษย์ที่จะเบี่ยงเบนการเคลื่อนตัวของดาวเคราะห์น้อย หรือวัตถุบนฟากฟ้าใดๆ ก็ตามทีในครั้งนี้ มีการถ่ายทอดสดทางเว็บแคสต์ของนาซา จากศูนย์ปฏิบัติการภารกิจ ซึ่งตั้งอยู่นอกกรุงวอชิตัน ทั้งนี้ หลังจากยานอวกาศดาร์ต ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศประมาณ 10 เดือน
การถ่ายทอดสดผ่านทางออนไลน์ดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นภาพที่ถ่ายโดยกล้องซึ่งติดอยู่กับตัวของยานอวกาศดาร์ต ในระหว่างที่ยานรูปทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ลำนี้ ซึ่งมีขนาดพอๆ กับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ พร้อมกับแผงโซลาร์เซลล์ที่กางออก 2 ข้าง พุ่งเข้าชนดาวเคราะห์น้อย “ไดมอร์ฟัส” ที่มีขนาดพอๆ กับสนามอเมริกันฟุตบอล ตอนราวๆ 19.00 น. วันจันทร์ ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ (ตรงกับ 06.00 น.เช้าวันอังคาร ในเมืองไทย) ขณะอยู่ห่างจากโลกประมาณ 11 ล้านกิโลเมตร
การปฏิบัติภารกิจที่มีมูลค่า 330 ล้านดอลลาร์ และใช้เวลาในการพัฒนาราว 7 ปีคราวนี้ จัดทำขึ้นมาเพื่อหาข้อสรุปว่า ยานอวกาศลำหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนวิถีโคจรของดาวเคราะห์น้อยคู่หนึ่งได้หรือไม่ โดยเพียงแค่อาศัยพลังงานจลน์ (ซึ่งก็คือพลังงานจากการเคลื่อนที่ของยานอวกาศเอง) สะกิดมันแค่ให้พอหลุดจากเส้นทางที่เป็นอันตรายกับโลก โดยไม่ต้องมีการใช้อาวุธหรือวัตถุระเบิดใดๆ
อย่างไรก็ตาม กว่าที่จะทราบว่านอกเหนือจากความสำเร็จในการพุ่งเข้าชนแล้ว ภารกิจครั้งนี้ยังจะประสบความสำเร็จในการเบี่ยงเบนเส้นทางการเคลื่อนตัวของดาวเคราะห์น้อยหรือไม่ จำเป็นต้องรอผลการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้เพิ่มเติมจากกล้องโทรทรรศน์ทางสถานีภาคพื้นดินในเดือนหน้า กระนั้นพวกเจ้าหน้าที่นาซาต่างพากันยินดีและยกย่องผลลัพธ์เฉพาะหน้าซึ่งออกมาจากการทดลองในวันจันทร์ (26) โดยบอกว่ายานอวกาศลำดังกล่าวทำหน้าที่ได้ตามที่ออกแบบไว้
ยานอวกาศดาร์ต ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศโดยจรวดลำหนึ่งของบริษัทสเปซเอ็กซ์ในเดือนพฤศจิกายน 2021 วิถีการเดินทางส่วนใหญ่ของมันอยู่ภายใต้การนำทางตามคำสั่งการบินของนาซา ก่อนยกให้ระบบนำทางอัตโนมัติบนยานเป็นผู้ควบคุมยานในชั่วโมงท้ายๆ ของการเดินทาง
การพุ่งชนเป้าหมายได้อย่างแม่นยำในช่วงค่ำวันจันทร์ (ตามเวลาภาคตะวันออกของสหรัฐฯ) ครั้งนี้ อยู่ภายใต้การสังเกตการณ์แบบใกล้เคียงกับเวลาจริง จากศูนย์ปฏิบัติภารกิจ ซึ่งตั้งอยู่ที่ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ (APL) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮ็อบกินส์ ในเมืองลอเรล รัฐแมริแลนด์
มีเสียงเชียร์ดังสนั่นจากห้องควบคุม ในระหว่างที่มองเห็นภาพในแต่ละวินาทีที่ดาวเคราะห์น้อยซึ่งเป็นเป้าหมายขยับเข้าใกล้ขึ้นๆ และใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และท้ายที่สุดก็เต็มจอทีวีที่เผยแพร่เว็บแคสต์สดของนาซา ก่อนสัญญาณของยานอวกาศขาดหายไป ซึ่งเป็นการยืนยันว่ามันประสบความสำเร็จในการพุ่งชนดาวเคราะห์น้อยไดมอร์ฟัส
ไดมอร์ฟัส ที่เป็นเป้าหมายบนฟากฟ้าของ ดาร์ต เป็นดาวเคราะห์น้อยรูปวงรี ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 170 เมตร มันเป็น “ดวงจันทร์น้อย” ที่โคจรรอบๆ ดาวเคราะห์น้อยดวงพ่อแม่ของมัน ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามันราว 5 เท่าตัว และมีชื่อว่า “ดิดีมัส”
ทั้ง “ไดมอร์ฟัส” และ “ดิดีมัส” ต่างไม่ได้เป็นภัยคุกคามจริงใดๆ ต่อโลก และพวกนักวิทยาศาสตร์นาซากล่าวว่า การทดสอบโดยใช้ดาร์ต หากเกิดความผิดพลาดก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายใหม่ๆ ขึ้นมา
ไดมอร์ฟัส และดิดีมัส ถือว่าเป็นขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับดาวเคราะห์น้อย “ชิคซูลับ” ซึ่งพุ่งเข้าชนโลกเมื่อราวๆ 66 ล้านปีก่อน และก่อให้เกิดความพายนะอย่างรุนแรงและฉับพลัน โดยทำให้ประมาณสามในสี่ของสปีชีส์พืชและสัตว์ที่มีอยู่ในโลกเวลานั้น รวมทั้งพวกไดโนเสาร์ด้วยสูญพันธุ์ไป
อย่างไรก็ดี ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเล็กลงมาคือสิ่งที่พบเห็นได้ง่ายกว่ากันมาก รวมทั้งสร้างความกังวลในทางทฤษฎีในระยะใกล้มากกว่ากันนักหนา ดังนั้นจึงทำให้ขนาดของ ไดมอร์ฟัส และดิดีมัส มีความเหมาะสมยิ่งกว่าที่จะนำมาทดสอบ ทั้งนี้ตามคำอธิบายของพวกนักวิทยาศาสตร์นาซา และผู้เชี่ยวชาญด้านการพิทักษ์ป้องกันดาวโลก ดาวเคราะห์น้อยในขนาดของ ไดมอร์ฟัส ไม่สามารถสร้างภัยคุกคามในระดับทั่วทั้งพิภพได้ก็จริง แต่ก็อาจทำให้เมืองขนาดใหญ่ๆ พังราบไปทั้งเมืองถ้ามันพุ่งมาชนถูกจังๆ
(ที่มา : รอยเตอร์)