xs
xsm
sm
md
lg

27 ก.ย. ชวนชม “ดาวพฤหัสบดี” ดาวเคราะห์ใหญ่สุดแห่งระบบสุริยะ ใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดาวพฤหัสบดี” ดาวเคราะห์ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจะโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ในวันที่ 27 กันยายน 2565 ซึ่งทำให้ ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี จะเรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง เป็นตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี ห่างจากโลกประมาณ 591 ล้านกิโลเมตร ปกติแล้วดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาใกล้โลกทุกปี และครั้งนี้ยังถือเป็นการโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 59 ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2506


วันดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏสว่างมากทางทิศตะวันออก ดูได้ด้วยตาเปล่า ทุกภูมิภาคทั่วไทย หากฟ้าใส ไร้เมฆฝน สังเกตได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว และมีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะสามารถสังเกตเห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดี และดวงจันทร์กาลิเลียน 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนิมีด คัลลิสโต ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งคืนดังกล่าวยังมีโอกาสเห็นเหตุการณ์ขณะที่ดวงจันทร์ไอโอเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี ในช่วงเวลาประมาณ 21:48 - 00:04 น. รวมถึงยังคงเห็นดาวเสาร์ปรากฏสว่างถัดจากดาวพฤหัสบดีไปทางทิศตะวันตกอีกด้วย


ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่มีรวดลายสวยงามดวงนี้ อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 5 ถัดจากดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ เป็นดาวเคราะห์ที่มีดาวบริวารมากที่สุดในระบบสุริยะ 67 ดวง โดยดวงจันทร์ดวงใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสคือ “แกนิมีด” เป็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ ใหญ่กว่าดาวพุธและดาวพลูโต


ดาวเคราะห์ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะดวงนี้ ยังเป็นดาวเคราะห์ที่หมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเร็วสูงที่สุดในระบบสุริยะ รอบหนึ่งใช้เวลาเพียง 9 ชั่วโมง 55 นาที และใช้ใเวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 12 ปี จุดเด่นเมื่อดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ คือชั้นเมฆที่ห่อหุ้มดาวพฤหัส เด่นชัดที่สุดคือ จุดแดงใหญ่ ซึ่งเป็นพายุหมุนที่มีขนาดใหญ่กว่าโลก โดยทั่วไปดาวดวงนี้เป็นวัตถุที่สว่างที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ในท้องฟ้า รองจากดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวศุกร์


อ้างอิงข้อมูลจาก :  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT


กำลังโหลดความคิดเห็น