เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ภาพระบบดาวเคราะห์น้อย พร้อมระบุว่า ยานอวกาศขนาดเล็ก LICIACube (Light Italian CubeSat for Imaging of Asteroids) โดยองค์การอวกาศอิตาลี (ASI) เผยภาพถ่ายระบบดาวเคราะห์น้อย Didymos/Dimorphos ภายหลังจากถูกชนโดยยานอวกาศในโครงการ Double Asteroid Redirection Test (DART) ไปเมื่อเวลา 06:16 น. ของเช้าวันที่ 27 กันยายน 2022 ตามเวลาประเทศไทย
โครงการ Double Asteroid Redirection Test (DART) ขององค์การอวกาศนาซา ร่วมกับ Johns Hopkins Applied Physics Laboratory (APL) เป็นโครงการที่ถูกส่งขึ้นไปศึกษา และทดสอบความเป็นไปได้ของการป้องกันภัยอันตรายจากนอกโลกโดยการพุ่งชนด้วยยานอวกาศเพื่อเบี่ยงวิถีการโคจร ด้วยหวังว่าในอนาคตหากเราสามารถตรวจพบดาวเคราะห์น้อยที่จะมาพุ่งชนเข้ากับโลก เราจะมีวิธีที่ได้รับการยืนยันที่จะสามารถเบี่ยงวิถีวงโคจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การชนครั้งนี้ เป็นเพียงการชนเข้ากับดวงจันทร์บริวาร Dimorphos ที่มีขนาดเล็กกว่า และจะเป็นเพียงการเปลี่ยนวิถีวงโคจรของดวงจันทร์บริวารนี้ ทำให้คาบเปลี่ยนไปเพียง 10 นาที จาก 11.92 ชั่วโมง ซึ่งจะสามารถสังเกตได้ผ่านทางกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นโลก
แต่อีกหนึ่งในโครงการที่ติดตามไปกับยาน DART ด้วย ก็คือ LICIACube ขององค์การอวกาศอิตาลี ที่แยกตัวออกมาก่อนการชนกัน เพื่อบันทึกภาพการชนกันอย่างห่าง ๆ ก่อนจะโฉบเข้าไปใกล้เพื่อศึกษารายละเอียดของหลุมที่อาจเกิดขึ้น
จากภาพถ่ายสุดท้ายของ DART ก่อนพุ่งชน ทำให้เราทราบแล้วว่าพื้นผิวของ Dimorphos นั้นเต็มไปด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ที่ยึดเกาะกัน ซึ่งสอดคล้องกับพื้นผิวที่พบบนดาวเคราะห์น้อยอื่นๆ ทั่วไป เนื่องจากดาวเคราะห์น้อยมีแรงโน้มถ่วงที่น้อยมาก การชนพื้นผิวของดาวเคราะห์น้อยย่อมส่งผลให้เศษชิ้นส่วนฟุ้งกระจายออกไป สามารถสังเกตเห็นได้จากกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้น[2] และภาพจากระยะใกล้โดย LICIACube ก็เปิดเผยให้เห็นถึงเศษหินที่ฟุ้งไปทั่วทิศทางออกมาจากตำแหน่งของดวงจันทร์ Dimorphos ราวกับภาพที่หลุดออกมาจากนิยายวิทยาศาสตร์
การสังเกตการณ์ที่ตามมาในภายหลังทั้งจาก LICIACube และภาคพื้นดิน จะช่วยบอกเราได้ถึงประสิทธิภาพในการชนกันครั้งนี้ ว่าเราจะสามารถเปลี่ยนวิถีวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยได้ดีแค่ไหน เราจะสามารถถ่ายเทโมเมนตัมจากการชนไปเปลี่ยนวงโคจรตามที่คาดเอาไว้หรือไม่? หรือพลังงานจะสูญเสียไปแค่ไหนกับการฟุ้งไปของฝุ่น? หรือจะมีเหตุการณ์อะไรนอกเหนือไปจากความคาดหมายอื่นอีก? คำตอบของคำถามเหล่านี้ จะเป็นสิ่งที่กำลังจะตามมาในอนาคตอันใกล้
นอกจากนี้ องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ร่วมมือกับองค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) และ ภาคีความร่วมมือระหว่าง อิตาลี/สาธารณรัฐเช็ค/ฟินแลนด์ ก็มีแผนที่จะส่งยานอวกาศ Hera ตามไปยัง Didymos/Dimorphos ในปี 2026 เพื่อสังเกตการณ์หลุมอุกกาบาต และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการชนกันในครั้งนี้โดยละเอียดในภายหลัง