xs
xsm
sm
md
lg

นาซาพร้อมส่งยานโรเวอร์ลำใหม่ไปดาวอังคารแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจำลองของยานโรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์ (Handout / NASA/JPL-CALTECH / AFP)
ทุกอย่างพร้อมมาก “นาซา” เตรียมส่งยานโรเวอร์ลำใหม่ไปดาวอังคารภายในสัปดาห์นี้ เป้าหมายเพื่อค้นหาสัญญาณของจุลินทรีย์ดึกดำบรรพ์บนดาวเคราะห์เพื่อนบ้าน

จิม ไบรเดนสไตน์ (Jim Bridenstine) ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กล่าวถึงความพร้อมในการนำส่งยานโรเวอร์ลำใหม่ที่ชื่อ “เพอร์เซเวียแรนซ์” (Perseverance) ไปลงดาวอังคารภายในสัปดาห์นี้ว่า การตรวจทานความพร้อมในการส่งยานทุกด้านเสร็จสมบูรณ์ และนาซาก็พร้อมในการส่งยานอย่างแน่นอน

ยานโรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์เป็นยานโรเวอร์ลำที่ 5 ของนาซาที่จะส่งไปดาวอังคาร โดยเป็นยานอวกาศที่มีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด ตัวยานมี 6 ล้อ มีขนาดประมาณรถอเนกประสงค์เอสยูวี (SUV) และหนัก 1,040 กิโลกรัม อีกทั้งยานยังติดตั้งเฮลิคอปเตอร์ขนาดเล็กที่ชื่อว่า “อินเจนูอิตี” (Ingenuity) ซึ่งจะเป็นเฮลิคอปเตอร์ลำแรกที่บินบนดาวเคราะห์ดวงอื่น รวมถึงติดตั้งแขนกลและแผงกล้องกับไมโครโฟนคู่หนึ่ง

เครื่องมือต่างๆ ที่ติดตั้งบนยานเพอร์เซเวียแรนซ์จะใช้เพื่อภารกิจค้นหาร่องรอยของแบคทีเรียดึกดำบรรพ์ที่กลายเป็นฟอสซิล โดยยานโรเวอร์จะใช้แสงเลเซอร์และรังสีเอกซ์เพื่อช่วยวิเคราะห์ทางเคมี นอกจากนั้นยานโรเวอร์ยังจะเก็บตัวอย่างหินและดิน เพื่อรองรับภารกิจในอนาคตที่จะนำตัวอย่างจากดาวอังคารดังกล่าวกลับมายังโลกเพื่อศึกษาต่อไป ซึ่งภารกิจดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาว่า องค์ประกอบอินทรีย์ที่มีอยู่นั้นเกิดจากกระบวนการของสิ่งมีชีวิตจริงๆ

ภารกิจของยานโรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์จะเดินทางวงโคจรเดิมและจุดลงจอดเดิมของภารกิจก่อนหน้า ซึ่งตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานว่า ดาวอังคารอันแห้งแล้งและเหน็บหนาวอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนั้น เมื่อในอดีตหลายพันล้านปีก่อนเคยเป็นดาวเคราะห์ที่อบอุ่นและชุ่มชื้นมากกว่าปัจจุบันอย่างมาก ซึ่งสภาพแวดล้อมดังกล่าวน่าจะคงอยู่นานพอที่จะเกื้อหนุนให้เกิดสิ่งมีชีวิตอย่างจุลินทรีย์ขึ้นได้

“ตอนนี้เราอยู่ในช่วงเวลาที่เวลาที่ไม่ธรรมดามากๆ ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโคโรนา และเราก็มีความบากบั่นอย่างมาก และเราต้องปกป้องภารกิจนี้ไว้ เพราะมันสำคัญอย่างยิ่ง” ผู้อำนวยการนาซากล่าว

ทั้งนี้ ตามกำหนดภารกิจส่งยานเพอร์เซเวียแรนซ์จะเกิดขึ้นเวลา 18.50 น.ของวันที่ 30 ก.ค.2020 ตามเวลาประเทศไทย โดยยานจะถูกส่งจากฐานปล่อยจรวดในแหลมคานาเวอรัล ฟลอริดา สหรัฐฯ และมีจรวดแอตลาส 5 (Atlas V) ของสหรัฐฯ ทำหน้าที่ส่งยานเข้าสู่วงโคจร มุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร ซึ่งนาซาจะถ่ายทอดสดภารกิจดังกล่าวผ่านทางยูทิวบ์ (YouTube) และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ ของนาซา

หลังจากนั้นยานเพอร์เซเวียแรนซ์จะใช้เวลาเดินทางนาน 7 เดือนไปถึงดาวอังคาร และมีกำหนดลงจอดที่ดาวเคราะห์ดังกล่าวบริเวณหลุมอุกกาบาตเจซีโร (Jezero Crater) ในวันที่ 18 ก.พ.2021

การส่งยานอวกาศของนาซาในวันพฤหัสบดีครั้งนี้ จะทำให้สหรัฐฯเป็นชาติที่ 3 ที่ส่งยานไปเยือนดาวอังคารภายในเดือน ก.ค.นี้ โดยก่อนหน้านั้นจีนได้ส่งยานโรเวอร์ชื่อว่า “เทียนเวิ่น-1” (Tianwen-1) ไปเยือนดาวอังคารเช่นกัน โดยชื่อยานโรเวอร์ของจีนนั้นมีความหมายว่า “คำถามต่อสรวงสวรรค์”

หากเทียนเวิ่น-1 ลงจอดได้สำเร็จก็จะทำให้จีนกลายเป็นชาติที่ 2 รองจากสหรัฐฯ ที่ส่งยานโรเวอร์ไปลงดาวเคราะห์อื่นได้ แม้ว่าก่อนหน้านี้จีนจะเคยส่งยานโรเวอร์ 2 ลำไปลงดวงจันทร์แล้วก็ตาม แต่เป็นเพียงการส่งยานไปลงบริวารของโลกเท่านั้น

ก่อนหน้านี้ภายในเดือนเดียวกันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ได้ส่งยานโคจร (orbital probe) จากญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า “อัลอะมัล” (Al-Amal) ที่มีความหมายว่า “ความหวัง” มุ่งหน้าสู่ดาวอังคาร และนับเป็นภารกิจสู่ดาวอังคารภารกิจแรกจากโลกอาหรับ

สำหรับสหรัฐฯ นั้นยังคงเป็นผู้นำทางด้านอวกาศแต่ช่วงหลังมีหลายชาติเข้าร่วมการแข่งขันทางอวกาศมากขึ้น อย่างจีนนั้นได้ทุ่มเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อใช้ในโครงการแข่งขันทางด้านอวกาศ โดยเอเอฟพีรายงานว่าจีนนับเป็นชาติที่ 3 ของโลกตามหลังสหรัฐฯ และรัสเซียที่สามารถส่งมนุษย์ไปอวกาศด้วยตัวเองได้เมื่อปี ค.ศ.2003

อีกทั้งในปี ค.ศ.2020 นี้ ปักกิ่งยังประสบความสำเร็จในความก้าวหน้าทางอวกาศหลายๆ ด้าน ซึ่งนอกจากส่งยานลำแรกไปดาวอังคารแล้ว ยังรวมถึงการส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายของดาวเทียมระบุพิกัดที่ชื่อว่า “เป่ยโตว” (Beidou) ซึ่งเป็นระบบระบุพิกัดที่จีนพัฒนาขึ้นเองเพื่อแข่งขันกับระบบดาวเทียมระบุพิกัดจีพีเอส (GPS) ของสหรัฐฯ และจีนยังมีเป้าหมายที่สร้างสถานีอวกาศขนาดใหญ่ให้แล้วเสร็จภายในปี ค.ศ.2022

ส่วนสหรัฐฯ นอกจากส่งยานโรเวอร์ไปเยือนดาวอังคารภายในเดือน ก.ค.นี้ ทางด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังมีคำสั่งให้นาซาเร่งโครงการที่จะกลับไปเยือนดวงจันทร์ภายใน ค.ศ.2024 นี้ แทนที่จะเป็น ค.ศ.2028 ตามกำหนดเดิม

วิศวกรและช่างเทคนิคติดตั้งหลอดเก็บตัวอย่าง 39 หลอดใต้ท้องยานโรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์ โดยยานจะติดตั้งหลอดเก็บตัวอย่างทั้งหมด 43 หลอด (Handout / NASA/JPL-CALTECH / AFP)

ภาพระหว่างการผลิตยานโรเวอร์เพอร์เซเวียแรนซ์ (Kim SHIFLETT / NASA / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น