เอพี - จีนปล่อยยานสำรวจดาวอังคารขึ้นสู่วงโคจรในวันพฤหัสบดี (23 ก.ค.) นับเป็นก้าวแรกเพื่อเทียบชั้นอเมริกา หากสามารถบังคับยานลงจอดบนพื้นผิวดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้สำเร็จ ซึ่งตามแผนการนั้นกำหนดไว้ว่า จะเป็นเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมปีหน้า
จรวดลองมาร์ช-5 พร้อมยานสำรวจเทียนเหวิน-1 ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยจรวดบนเกาะไห่หนานเมื่อเวลา 12.40 น. ในวันพฤหัสบดี ท่ามกลางสายตาสักขีพยานราว 2,000 คน บนชายหาดที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งของอ่าว
จาง เสวียอี้ ผู้ควบคุมการปล่อยจรวดประกาศในห้องควบคุมว่า สภาพการบินของจรวดเป็นปกติหลังผ่านไป 45 นาที และเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดไว้อย่างแม่นยำ
ภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจการเดินทางสู่ดาวอังคารครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์นี้ หลังจากที่ยานสำรวจอามาล (ความหวัง) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าโดยอาศัยจรวดนำส่งของญี่ปุ่นเมื่อวันจันทร์ (20 ก.ค.) ซึ่งถือเป็นภารกิจท่องอวกาศครั้งแรกของโลกอาหรับ และสัปดาห์หน้าอเมริกาเตรียมปล่อยยานเพอร์เซเวียแรนซ์ ซึ่งเป็นยานสำรวจดาวอังคารที่มีระบบซับซ้อนที่สุด จากรัฐฟลอริดาขึ้นสู่วงโคจรในสัปดาห์หน้า
ยานโคจรและยานสำรวจพื้นผิวของจีนจะใช้เวลา 7 เดือน ในการเดินทางถึงดาวอังคาร ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน เทียนเหวิน-1 จะปฏิบัติภารกิจในการสำรวจหาแหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งถ้าพบจะถือเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า เคยมีสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดวงนี้เมื่อนานมาแล้ว
นี่ไม่ใช่ความพยายามในการเดินทางไปดาวอังคารครั้งแรกของจีน โดยในปี 2011 ยานโคจรของจีนที่ร่วมภารกิจกับรัสเซียสูญหายไป หลังจากไม่สามารถออกสู่วงโคจรของโลกได้ สุดท้ายถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ
โครงการอวกาศที่ปิดลับของจีนพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ทศวรรษนี้ หยาง หลี่เวย เป็นนักบินอวกาศคนแรกของจีนในปี 2003 และปีที่แล้วฉางเอ๋อ-4 เป็นยานลำแรกของโลกที่ลงจอดบนด้านมืดของดวงจันทร์
ดร.โจนาธาน แม็กโดเวลล์ นักดาราศาสตร์ของศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน กล่าวว่า แม้การปล่อยยานขึ้นสู่วงโคจรถือเป็นความกล้าหาญ แต่ยังมีความท้าทายรออยู่คือการเข้าสู่วงโคจรและลงจอดบนดาวอังคารโดยสวัสดิภาพ
การลงจอดบนดาวอังคารเป็นภารกิจที่ยากมาก มีเพียงอเมริกาชาติเดียวที่ทำสำเร็จและนำยานลงจอดบนดาวเคราะห์สีแดงมาแล้ว 8 ครั้งนับตั้งแต่ปี 1976 และยานสำรวจอินไซต์และคิวริโอซิตี้ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของอเมริกา (นาซา) ยังปฏิบัติภารกิจอยู่จนถึงวันนี้
นอกจากนั้น ยังมียานอีก 6 ลำ กำลังสำรวจโดยการโคจรรอบดาวอังคาร ได้แก่ 3 ลำของสหรัฐฯ, 2 ลำของยุโรป และอีก 1 ลำของอินเดีย
จีนนั้นควบคุมข้อมูลโครงการสำรวจดาวอังคารอย่างเคร่งครัด แม้แต่ชื่อยานสำรวจพื้นผิวยังไม่มีการเปิดเผย และความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติทำให้อเมริกาจำกัดการร่วมมือระหว่างนาซากับโครงการอวกาศของจีน
ตามแผนการนั้น เทียนเหวิน-1 จะเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า และค้นหาจุดลงจอดบนยูโทเปียแพลนิเทีย ซึ่งเป็นบริเวณพื้นราบที่นาซาพบชั้นน้ำแข็งใต้พื้นดิน จากนั้นยานจะพยายามลงจอดในเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม ซึ่งหากเป็นไปตามแผน ยานสำรวจพื้นผิวจะปฏิบัติภารกิจราว 3 เดือน และ 2 ปีสำหรับยานโคจร
แม้จีนกำลังสร้างระบบนำทางด้วยดาวเทียมแข่งกับอเมริกา รัสเซีย และยุโรป แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ปักกิ่งไม่ได้กำลังพยายามเอาชนะอเมริกาในฐานะผู้นำการสำรวจอวกาศ แถมล่าช้ากว่าญี่ปุ่นและอินเดียที่กำลังตั้งตนเป็นมหาอำนาจอวกาศแห่งเอเชีย