xs
xsm
sm
md
lg

จีนปล่อยดาวเทียมดวงสุดท้ายสำเร็จ “เป่ยโต่ว” พร้อมชิงเค้ก “จีพีเอส” อเมริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพจากสำนักข่าวซินหวา แสดงให้เห็นจรวดลองมาร์ช ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ณ ศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีฉาง ในมณฑลเสฉวน วันอังคาร (23 มิ.ย.)  เพื่อนำดาวเทียมดวงสุดท้ายของระบบระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ “เป่ยโต่ว” ของจีนขึ้นสู่วงโคจร
เอเจนซีส์ - จีนประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมดวงสุดท้ายในระบบระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแข่งขันกับเครือข่าย “จีพีเอส” ของอเมริกาโดยเฉพาะ นับเป็นก้าวย่างสำคัญในการชิงส่วนแบ่งตลาดมูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์นี้ อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญตะวันตกเชื่อว่า “เป่ยโต่ว” ยังห่างชั้นจากจีพีเอส รวมถึง “กาลิเลโอ”ของยุโรป

ในวันอังคาร (23) สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวีของทางการจีนได้เผยแพร่ภาพการปล่อยดาวเทียมเป่ยโต่ว-3 จีอีโอ 3 จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีฉาง ในมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ที่เดิมกำหนดไว้เมื่อวันอังคารที่แล้ว (16) แต่ต้องยกเลิกในนาทีสุดท้าย เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคซึ่งตรวจพบระหว่างการทดสอบก่อนการปล่อยจรวดลองมาร์ช-3บี ที่จะใช้ขนส่งดาวเทียมดวงนี้ขึ้นสู่วงโคจร

ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า การปล่อยดาวเทียมครั้งนี้ทำให้เครือข่ายดาวเทียมของจีนครบถ้วนสมบูรณ์ และส่งให้จีนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญอีกรายหนึ่งในตลาดบริการการระบุตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่มีมูลค่าหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์

เป่ยโต่ว หรือ “กลุ่มดาวกระบวยใหญ่” เป็นดาวเทียมดวงที่ 35 และดวงสุดท้ายในระบบนำทางของจีนซึ่งเป็นโครงการมูลค่าราว 10,000 ล้านดอลลาร์ และ ถูกกำหนดบทบาทให้เป็นคู่แข่งของระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (จีพีเอส) ของอเมริกา, โกลนาสส์ของรัสเซีย และกาลิเลโอของสหภาพยุโรป (อียู)

โจนาธาน แมคโดเวลล์ นักดาราศาสตร์ของศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน มองว่า การปล่อยดาวเทียมเป่ยโต่ว-3 ขึ้นสู่วงโคจรเป็นปรากฏการณ์สำคัญ และเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่ทำให้จีนเป็นอิสระจากระบบดาวเทียมของอเมริกาและยุโรป

จีนเริ่มสร้างระบบนำทางทั่วโลกเมื่อต้นทศวรรษ 1990 เพื่อให้กองทัพลดการพึ่งพิงระบบจีพีเอสที่ดำเนินการโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ รวมทั้งช่วยนำทางรถยนต์ เรือประมง และรถถังโดยใช้ข้อมูลการจัดทำแผนที่จากดาวเทียมของตนเอง

ปัจจุบัน บริการนี้สามารถรองรับโทรศัพท์มือถือนับล้านเครื่องเพื่อค้นหาร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน หรือโรงภาพยนตร์ นำทางแท็กซี่ ขีปนาวุธ และอากาศยานไร้คนขับ

เขตครอบคลุมสัญญาณของเป่ยโต่วถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2012 โดยระยะแรกจำกัดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเท่านั้น ก่อนที่จะสามารถให้บริการทั่วโลกได้นับจากปี 2018

ระบบนี้ทำงานบนเครือข่ายดาวเทียมกว่า 30 ดวง และปัจจุบันมี 120 ประเทศ อาทิ ไทย และปากีสถาน ใช้บริการของเป่ยโต่วสำหรับการติดตามการจราจรบริเวณท่าเรือ นำทางปฏิบัติการกู้ภัยระหว่างเกิดภัยพิบัติ และภารกิจอื่นๆ


ปักกิ่งนั้นฝากความหวังไว้กับโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือเส้นทางสายไหมใหม่ เพื่อโน้มน้าวให้ประเทศที่เข้าร่วมอื่นๆ ใช้เทคโนโลยีของตน สานแผนแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากระบบจีพีเอสของอเมริกา แม้ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังไม่เชื่อว่า จีนจะทำได้สำเร็จก็ตาม

ตัวอย่างเช่น แมคโดเวลล์ที่ไม่คิดว่า เป่ยโต่วจะแย่งตำแหน่งจีพีเอสได้ใน 10 ปี หรือแม้แต่ 20 ปีข้างหน้าก็ตาม

อเล็กซานดรา สติกกิงส์ นักวิเคราะห์ของรอยัล ยูไนเต็ด เซอร์วิส อินสติติวท์ ฟอร์ ดีเฟนซ์ แอนด์ ซีเคียวริตี สตัดดีส์ ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองของอังกฤษ เห็นด้วยว่า สัญญาณดาวเทียมเพื่อวัตถุประสงค์ด้านพลเรือนของเป่ยโต่วคงไม่ดีไปกว่าจีพีเอส หรือกาลิเลโอ ขณะที่สัญญาณดาวเทียมเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการทหารยังต้องมีการปรับปรุงตัวรับสัญญาณบนแพลตฟอร์มทั้งหมดซึ่งต้องใช้เวลา

สติกกิงส์สำทับว่า เป่ยโต่วอาจได้รับความนิยมในหมู่ชาติพันธมิตรเส้นทางสายไหมใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่ต้องการลดการพึ่งพิงระบบจีพีเอส กระนั้น ระบบดาวเทียมของจีนยังจำเป็นต้องพิสูจน์ความไว้วางใจได้และความสามารถในการนำเสนอสัญญาณที่สม่ำเสมอเพื่อให้ผู้ใช้วางใจเช่นเดียวกับระบบจีพีเอส


กำลังโหลดความคิดเห็น