xs
xsm
sm
md
lg

ค่าคงตัว Hubble ที่ยังเป็นปัญหา

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


Edwin Powell Hubble
มาตรวิทยาเป็นวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการวัดค่าของปริมาณทางวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยเฉพาะค่าคงตัว (constant) ต่างๆ (ค่าคงตัว คือ ค่าที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าใครจะวัดค่านั้นเมื่อใด และที่ใด ก็จะได้ค่าเท่ากันเสมอ) เช่น ค่าความเร็วแสง ค่าคงตัวโบลท์มานน์ (Boltzmann) ค่าแรงโน้มถ่วงสากล ฯลฯ เพราะนักฟิสิกส์ใช้ค่าคงตัวเหล่านี้ในการสร้างสูตรและทฤษฎี เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆในธรรมชาติ และทำนายเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ดังนั้นความต้องการจะรู้ค่าที่แน่นอนของค่าคงตัวต่างๆอย่างถูกต้อง 100% จึงเป็นความต้องการระดับสูงสุดของนักฟิสิกส์ทุกคน ด้วยเหตุนี้การมีอุปกรณ์วัดที่แม่นยำ จึงได้รับการพัฒนาให้สามารถวัดค่าคงตัวได้ละเอียดขึ้น และเที่ยงตรงขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมา

ดังจะเห็นได้จากคำจำกัดความของระยะทาง 1 เมตร ซึ่งเดิมได้กำหนดให้เป็นระยะทางระหว่างขีด 2 ขีด บนแท่งโลหะแพลทินัม แต่ระยะห่างนี้จะเปลี่ยนแปลงตามอุณหภูมิ ทำให้ระยะทาง 1 เมตร มีค่าไม่คงตัว ดังนั้น ระยะทาง 1 เมตร จึงถูกกำหนดให้ได้รับคำจำกัดความใหม่เป็นระยะทางที่แสงเดินทางในสุญญากาศภายในเวลา 1/299, 792, 458 วินาที และเป็นระยะทางที่คนทุกคนจะวัดได้เสมอ เพราะวงการวิทยาศาสตร์ได้กำหนดให้ ความเร็วแสงมีค่าคงตัวเท่ากับ 299, 792, 458 เมตร/วินาที อย่างไม่ผิดพลาดเลย

ตามปกตินักวิทยาศาสตร์จะพยายามวัดค่าต่างๆ ที่ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ได้ทำนายไว้ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับค่าที่ได้จากการทดลอง การพบความแตกต่างได้เคยทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ความรู้ใหม่และทฤษฎีใหม่มากมาย เช่น เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 Lord Rayleigh ได้พยายามวัดความหนาแน่นของแก๊สต่างๆ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของทฤษฎีของ J. Proust ที่แถลงว่า อัตราส่วนระหว่างความหนาแน่นของออกซิเจน : ไฮโดรเจน จะมีค่าเท่ากับ 16 : 1 แต่กลับพบว่า ได้ค่า 15.96 : 1 ซึ่งใกล้เคียงกับคำทำนาย

แต่ Rayleigh ไม่พอใจ จึงพยายามทดลองต่อไป โดยได้ปรับปรุงการทำงานของอุปกรณ์วัดให้ดีขึ้น และพบว่าได้ค่า 15.882 : 1 ซึ่งค่านี้มีแนวโน้มที่แสดงว่าทฤษฎีของ Proust ผิด

ความอยากรู้อยากเห็นของ Rayleigh ก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะต้องการจะรู้ค่าความหนาแน่นของแก๊สแต่ละชนิดอย่างถูกต้องที่สุด ด้วยการใช้เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Rayleigh จะหาความหนาแน่นของแก๊สไนโตรเจนและออกซิเจน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของอากาศ และได้พบว่า ถ้าใช้ไนโตรเจนที่เตรียมได้จากสารประกอบ nitrate จะได้ไนโตรเจนที่บริสุทธิ์ ซึ่งมีความหนาแน่นเท่ากับ 1.2505 กรัม/ลิตร แต่ถ้าใช้ไนโตรเจนที่แยกจากอากาศ ความหนาแน่นจะมีค่า 1.2572 กรัม/ลิตร ซึ่งมีความแตกต่างกันประมาณ 0.5% Rayleigh จึงตั้

ข้อสงสัยว่า ไนโตรเจนที่แยกจากอากาศนั้นไม่บริสุทธิ์ คือมีแก๊สอื่นปนอยู่ด้วย และแก๊สนี้อาจจะเป็นแก๊สที่ยังไม่มีใครในโลกในเวลานั้นรู้จัก Rayleigh จึงร่วมมือกับ William Ramsay ค้นหาแก๊สลึกลับ และได้พบ argon, krypton, neon, xenon และ helium ผลงานนี้ทำให้ Ramsay และ Rayleigh ได้รับรางวัลโนเบลเคมีและฟิสิกส์ประจำปี 1904 ตามลำดับ

ตลอดเวลา 90 ปี ที่ผ่านมา หลังจากที่ E. Hubble ได้พบว่า เอกภพของเรากำลังขยายตัวตลอดเวลา นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จำนวนมากต่างก็ได้พยายามวัดความเร็วในการขยายตัวของเอกภพ เพราะค่าที่ได้จะสามารถบอกได้ว่า เอกภพมีอายุเท่าใด จะสิ้นสุดในสภาพใด ทฤษฎี Big Bang สมบูรณ์เพียงใด และทฤษฎี Lambda cold dark matter (CDM) ที่ Peebles ใช้อธิบายโครงสร้างของเอกภพนั้นจะต้องมีการแก้ไขหรือไม่ และนักฟิสิกส์ก็ได้พบว่า ธรรมชาติมีค่าคงตัวค่าหนึ่งที่สามารถตอบคำถามเหล่านี้บางส่วนได้ ค่านั้น คือ ค่าคงตัว Hubble (Hubble constant)

ย้อนอดีตไปถึง 2011 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่วงการดาราศาสตร์ได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางว่า ใครคือบุคคลแรกที่ได้พบว่า เอกภพกำลังขยายตัว

จากหลักฐานที่ปรากฏ ทุกคนก็ได้เห็นว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922 Vesto Slipher นักดาราศาสตร์ขาวอเมริกันได้วัดความยาวคลื่นแสงของ 41 กาแล็กซี ที่อยู่ในท้องฟ้าทางซีกโลกเหนือ และได้พบว่าแสงจากทุกกาแล็กซีมีความยาวคลื่นเพิ่มจากปรกติ คือ มีสีแดงขึ้น (redshift) Arthur Eddington จึงใช้ข้อมูลนี้ในการสรุปว่า กาแล็กซีเหล่านี้กำลังเคลื่อนที่หนีโลก (จากการใช้หลักของ Doppler) แต่ Eddington มิได้ฟันธงลงไปว่า ทุกกาแล็กซีในเอกภพจะแสดงพฤติกรรมนี้ เพราะ Slipher มิได้ศึกษากาแล็กซีที่อยู่ในท้องฟ้าทางซีกโลกใต้

ถึงปี 1924 นักดาราศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อ Knut Lundmark ได้นำเสนอความเห็นว่าเอกภพของเรากำลังขยายตัว แต่ไม่ได้กล่าวถึงสูตรที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วของกาแล็กซีกับระยะทางที่กาแล็กซีอยู่ห่างจากโลก เพราะไม่มีข้อมูลระยะทางที่มีคุณภาพ

อีกสามปีต่อมา นักบวชชาวเบลเยียมชื่อ Georges Lemaitre ได้เสนอรายงานว่า ในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein มีข้อสรุปหนึ่งที่แสดงเป็นนัยยะว่า เอกภพกำลังขยายตัว Lemaitre จึงใช้ข้อมูลของ Slipher ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วกับระยะทางที่กาแล็กซีอยู่ห่างจากโลก แต่ไม่พบความสัมพันธ์ใดๆ เพราะข้อมูลระยะทางที่ Lemaitre มีไม่ถูกต้อง

ความคิดเห็นของ Lemaitre สำหรับเรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจใดๆ จากคนในวงการดาราศาสตร์ เพราะเขาเขียนรายงานเป็นภาษาฝรั่งเศส จนกระทั่งปี 1929 จึงมีการแปลผลงานนี้เป็นภาษาอังกฤษ แต่นั่นก็เป็นเวลา 2 ปี หลังจากที่ Edwin Hubble ได้แถลงกฎของ Hubble แล้ว

Lundmark จึงเป็นบุคคลแรกที่ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเหตุการณ์ขยายตัวของเอกภพตลอดเวลา ส่วน Lemaitre ได้พยายามหาความสัมพันธ์ระหว่างคำทำนายของทฤษฎีสัมพัทธ์ภาพทั่วไปกับผลการวัดของ Slipher ด้าน Edwin Hubble กับศิษย์ชื่อ Milton Humason เป็นคนที่เผยแพร่ผลงานที่แสดงให้เห็นว่าเอกภพกำลังขยายตัว โดยอาศัยข้อมูลความเร็วของกาแลกซีที่ Slipher วัดได้กับการวิเคราะห์ระยะทางด้วยกล้องโทรทรรศน์ Hooker ที่หอดูดาว Carnegie ในเมือง Pasadena รัฐ California จนพบว่า กาแล็กซีที่อยู่ยิ่งไกล (d) ความเร็ว (v) ของมัน จะมีค่ายิ่งมาก ตามสมการ v/d = Ho ซึ่งจะให้ค่าที่รู้จักในนามของค่าคงตัว Hubble Ho

ตลอดเวลาที่ผ่านมานี้ การวัดค่า Ho ให้ถูกต้องที่สุดจึงเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญมาก เพราะ Ho เป็นค่าที่สามารถบอกอายุของเอกภพได้ ถ้า Ho มีค่ามาก เอกภพจะมีอายุน้อย แต่ถ้า Ho มีค่าน้อย เอกภพจะมีอายุมาก หรือถ้ารู้ค่า Ho ให้แน่ชัด การรู้ความเร็วของกาแล็กซีจากการจัดความยาวคลื่นแสงที่เปลี่ยนไป ก็จะทำให้เรารู้ระยะทางที่กาแล็กซีอยู่ห่างจากโลก นี่จึงเป็นเทคนิคหนึ่งที่นักดาราศาสตร์ใช้วัดระยะทางที่ดาวฤกษ์ต่างๆ อยู่ห่างจากโลก

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 2017 สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union IAU) ที่มีสมาชิกกว่า 4,000 คน ได้มีมติเปลี่ยนชื่อกฎของฮับเบิล (Hubble’s law) เป็นชื่อกฎของ Hubble-Lemaitre (เลอแมตร์) เพื่อให้เกียรติแต่ Georges Lemaitre ผู้เป็นนักบวชและนักดาราศาสตร์ชาวเบลเยี่ยมที่ได้พบว่า เอกภพกำลังขยายตัว ก่อนที่ Hubble จะได้พบความจริงเดียวกันนี้ในอีก 2 ปีต่อมา เพื่อให้โลกได้รับรู้เกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของบุคคลทั้งสองในการบุกเบิกวิทยาการด้านเอกภพวิทยา สำหรับชื่อ “ค่าคงตัว Hubble” นั้น ยังให้ใช้ชื่อเดิม

ประวัติดาราศาสตร์ยังได้บันทึกอีกว่า Hubble เป็นสมาชิกของสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union, IAU) ตั้งแต่ปี 1922 และอีก 3 ปีต่อมา Lemaitre ก็ได้เป็นสมาชิกด้วย ในปี 1928 ทั้งสองได้เดินทางไปประชุมที่มหาวิทยาลัย Leiden ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และได้สนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลดาราศาสตร์ รวมถึงความคิดเห็นเรื่องวิวัฒนาการและโครงสร้างของเอกภพด้วย

Georges Lema?tre
ในปี 1923 Hubble ได้ตีพิมพ์ผลงานชื่อ “A Relation Between Distance and Radial Velocity among Extra-Galactic Nebulae” ซึ่งมีสมการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างระยะทางที่กาแล็กซีต่างๆ อยู่ห่างจากโลกกับความเร็วของกาแล็กซีในแนวเส้นตรงที่วัดจากโลก อีก 2 ปีต่อมา Hubble กับศิษย์ชื่อ Milton Humason ก็ได้แถลงกฎของ Hubble ว่า ความเร็วของกาแล็กซีเป็นปฏิภาคโดยตรงกับระยะทางที่มันอยู่ห่างจากโลก หลังจากนั้นอีกไม่นาน สมาคม Royal Astronomical Society ของอังกฤษก็ได้ขอให้ Lemaitre แปลบทความที่ได้เขียน เมื่อปี 1927 แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษเพื่อลงเผยแพร่ให้โลกรับรู้ในวงกว้าง

กฎของ Hubble อยู่ในรูปสูตร Ho = v/d เมื่อ Ho คือ ค่าคงตัว Hubble v ความเร็วของกาแล็กซี และ d คือระยะทางที่กาแล็กซีอยู่ห่างจากโลก ดังนั้น การรู้ค่า v และ d ของกาแล็กซีอย่างถูกต้องจะทำให้ได้ค่า Ho ที่ดีที่สุด หรือถ้ารู้ค่า Ho และ v อย่างแม่นยำ เราก็จะรู้ค่า d ซึ่งเป็นระยะทางที่กาแล็กซีอยู่ห่างจากโลกได้

สำหรับการหาค่า v นั้นตามปกตินักดาราศาสตร์ใช้วิธีวัดความยาวคลื่นแสงที่กาแล็กซีส่งมายังโลก และได้พบว่า ถ้าแสงมีความยาวคลื่นมากขึ้น คือ มีสีแดงขึ้น นั้นแสดงว่า กาแล็กซีกำลังเคลื่อนที่หนีโลก และเมื่อ Hubble ได้เห็นแสงจากกาแล็กซีจำนวนมากมีความยาวคลื่นเพิ่มขึ้น นั่นแสดงว่า ในอดีตเหล่ากาแล็กซีจะต้องอยู่ใกล้กันมาก แล้วการระเบิด Big Bang ครั้งยิ่งใหญ่ก็ได้เกิดขึ้น ผลักดันกาแล็กซีต่างๆ ให้เคลื่อนที่ออกไป การขยายตัวของเอกภพจึงทำให้ความยาวคลื่นแสง ที่กาแล็กซีเปล่งออกมามีค่าเพิ่มขึ้นด้วย ตามที่ Hubble และ Humason ได้สังเกตเห็น

การรู้ความเร็วอย่างถูกต้องของกาแล็กซี ขณะเวลาต่างๆ ยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ถ้าความเร็วของกาแล็กซีเพิ่มตลอดเวลา (คือ มีความเร่ง) นั่นแสดงว่า กาแล็กซีถูกแรงที่มองไม่เห็นมากระทำ ซึ่งที่มาของแรงนี้ เรียก พลังงานมืด ที่ตราบถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของมัน

ในการวัดค่า Ho โดย Hubble เมื่อปี 1927 เขาวัดความเร็วของกาแล็กซีชื่อ M87 ที่อยู่ห่างจากโลก 2 megaparsec (1 megaparsec คือระยะทาง 3.26 ล้านปีแสง) ทำให้ได้ค่า Ho = 530 กิโลเมตร/วินาที/megaparsec ซึ่งมีความหมายว่า ถ้าระยะทางเพิ่มขึ้น 1 megaparsec ความเร็วของกาแล็กซีจะเพิ่มขึ้น 530 กิโลเมตร/วินาที และจากตัวเลขเหล่านี้ Hubble ก็ได้พบว่า เอกภพมีอายุประมาณ 2,000 ล้านปี

แต่ในปี 1990 เมื่อ W. Freedman วัดความยาวคลื่นแสงจากกาแล็กซี M100 ที่อยู่ห่างจากโลก 15.3 megaparsec เธอกลับวัดความเร็วของกาแล็กซี ได้ค่า 1,275 กิโลเมตร/วินาที ข้อมูลนี้ทำให้ได้ Ho = 72 ± 7 กิโลเมตร/วินาที/megaparsec เอกภพของ Freedman จึงมีอายุประมาณ 13,000 ล้านปี
ในปี 2011 Adam Rises (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 2011) แห่งมหาวิทยาลัย John Hopkins ที่ Baltimore รัฐ Maryland วัดค่า Ho ได้ 74 ± 1.4 กิโลเมตร/วินาที/megaparsec

ด้านนักดาราศาสตร์ขององค์การ European Space Agency ซึ่งได้ใช้ดาวเทียม Planck ศึกษาคลื่นไมโครเวฟภูมิหลัง (Cosmic Microwave Background, CMB) วัดค่า Ho ได้ 67.8 ± 1.3 กิโลเมตร/วินาที/megaparsec

Ho ที่วัดได้จึงมีค่าตั้งแต่ 67.8 จนกระทั่งถึง 74 ซึ่งดูแตกต่างกันอาจจะไม่มาก แต่เมื่อนักวิจัยทุกคนอ้างว่า อุปกรณ์และเทคนิคการวัดของทุกทีมดี การใช้ค่าคงตัวนี้ในการตรวจสอบความถูกต้องของทฤษฎี lambda CDM จึงทำให้ยังสรุปไม่ได้ว่า dark matter ในเอกภพมีกี่เปอร์เซ็นต์ และ dark energy มีบทบาทในการตัดสินอนาคตของเอกภพมากเพียงใด

ตัวแปรที่มีบทบาทมากที่สุดในการตัดสินความถูกต้องและแม่นยำของการวัด Ho คือ ระยะทางที่กาแล็กซีต่างๆ อยู่ห่างจากโลก โดยแต่ละทีมได้ใช้ดาวหลากหลายชนิดในการวัด เช่น ดาวแปรแสง Cepheid ซึ่งความสว่างของดาวประเภทนี้มีค่าแปรปรวน แต่เป็นคาบที่แน่นอน คือ ขึ้น แล้ว ลง แล้วขึ้น ลง ........ ตามที่ Henrietta Swan Leavitt ได้สังเกตเห็นเป็นคนแรกในช่วงปี 1907 -1921 และจากการศึกษาดาวแปรแสง Cepheid ประมาณ 2,400 ดวง เมื่อเธอวัดคาบความสว่างได้ เธอก็รู้ความสว่างที่แท้จริงของดาว และเมื่อวัดความสว่างที่ปรากฏบนภาพถ่าย เธอก็รู้ระยะทางที่ดาว Cepheid อยู่ห่างจากโลก จากการที่รู้ว่าความเข้มในการส่องสว่าง แปรผกผันกับระยะทางยกกำลังสอง หลังจากนั้นนักดาราศาสตร์ได้ใช้ดาว Cepheid ที่มีมากมายในกาแล็กซี เป็น “เทียนมาตรฐาน” (standard candle) ในการวัดระยะทางที่กาแล็กซีอยู่ห่างจากโลก แต่จุดบกพร่องของวิธีนี้ คือการมีฝุ่นละออง และกลุ่มแก๊สในอวกาศ ซึ่งจะบดบังแสง หรือดูดกลืนแสงจากกาแล็กซีจนทำให้ความสว่างที่โลกได้รับน้อยลงจากความเป็นจริง

นักดาราศาสตร์หลายคนจึงหันไปใช้ supernova ชนิด 1a เป็น “เทียนมาตรฐาน” แทน เพราะกาแล็กซีทุกกาแล็กซีจะมีดาว supernova 1a ที่จะระเบิดให้ความสว่างจริง เท่ากันหมด แต่เมื่ออยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางไม่เท่ากัน ความเข้มแสงจาก supernova ที่ระเบิดจึงปรากฎไม่เท่ากัน แต่วิธีนี้ก็มีปัญหา เรื่องความเข้มแสงที่โลกได้รับ ซึ่งจะแตกต่างจากค่าที่ควรเป็น เพราะถูกฝุ่นในอวกาศบดบังและดูดกลืน

ในวารสาร Astrophysical Journal ฉบับวันที่ 16 กรกฎาคม ปี 2019 Wendy Freedman แห่งมหาวิทยาลับ Chicago รัฐ Illinois ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เสนอรายงานการวัด Ho โดยใช้ดาวยักษ์แดง (red-giant star) เป็นเทียนมาตรฐาน

ตามปกติดาวยักษ์แดงมีมวลตั้งแต่ 0.3-8 เท่าของดวงอาทิตย์ และเมื่อใกล้จะถึงวาระสุดท้ายของชีวิต บรรยากาศเหนือดาวจะแปรปรวนมาก โดยผิวดาวจะขยายตัว และความสว่างจะมากขึ้นๆ เป็นเวลานับล้านปี จนถึงจุดสูงสุดแล้วลด จากอุณหภูมิผิว ที่สูงประมาณ 5,000 เคลวิน อุณหภูมิจะเย็นลงเรื่อยๆ (ดวงอาทิตย์ของเราในอีกปี 5,000 ล้านปี ก็จะกลายเป็นดาวยักษ์แดงที่มีขนาดใหญ่จนกลืนกินดาวพุธไปเช่นกัน) ดาวยักษ์แดงนี้มีจำนวนมากกว่าดาว Cepheid และอยู่ห่างกันมาก อีกทั้งมักอยู่ตามขอบๆ ของกาแล็กซี อันเป็นบริเวณไม่มีฝุ่นรบกวนมาก ดังนั้นการวัดความสว่างจึงให้ผลถูกต้องยิ่งกว่าดาว Cepheid

Freedman ได้ใช้เทคนิคนี้ ในการวัดแสงจากดาวยักษ์แดงที่อยู่ใน 18 กาแล็กซี และได้ค่า Ho = 69.8 ± 0.82 กิโลเมตร/วินาที/megaparsec

แต่ Riess ได้วิจารณ์เทคนิคของ Freedman ว่าผลงาน Freedman ได้ค่า Ho ค่อนข้างต่ำ เพราะแสงจากดาวยักษ์แดงถูกเมฆชื่อ Large Magellan Cloud รบกวน

เมื่อเร็วๆ นี้ งานวิจัย โดยทีมวิจัยภายใต้การนำของ Inh Jee และคณะ จากสถาบัน Max Planck Institute for Astrophysics ที่เมือง Arching ในประเทศเยอรมนี ได้ใช้เลนส์โน้มถ่วง (gravitational lens) ซึ่งประกอบด้วย กาแล็กซีที่มีมวลมหาศาลจนสามารถดึงดูดแสงจากดาว quasar ที่อยู่ไกลออกไปให้โฟกัส ทำให้ได้ภาพของ quasar หลายภาพ ณ เวลาต่างๆ กัน ซึ่งเป็นความล่าช้าที่เกิดจาการที่แสงต้องใช้เส้นทางเดินต่างกัน ไปยังจุดโฟกัส นักวิจัยวัดความเร็วของ quasar เพื่อใช้คำนวณหาศักย์โน้มถ่วงที่จะนำไปสู่การรู้รัศมีของกาแล็กซี โดยการเปรียบเทียบรัศมีกับระยะห่างระหว่างภาพต่างๆ ของ quasar ทีมวิจัยก็สามารถหาระยะทางจากโลกถึงกาแล็กซีได้

ผลงานที่เสนอในวารสาร Science ฉบับวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 2019 ได้แสดงให้เห็นว่า Ho = 82.4 ± 8.4 กิโลเมตร/วินาที/megaparsec และหลังจากที่ได้เปรียบเทียบกับงานที่เคยทำกับทีมวิจัยอื่นๆ ก็ได้ปรับค่า Ho ลงเหลือ 73.3 ± 1.8 กิโลเมตร/วินาที/megaparsec ซึ่งใกล้เคียงกับค่าของ Riess แต่แตกต่างจากค่าของ Freedman ที่ได้ค่า Ho = 69.8 ± 0.82 กิโลเมตร/วินาที/megaparsec

ค่า Ho ที่แตกต่างกันประมาณ 5% นี้ ยังไม่สามารถใช้สรุปได้ว่า เอกภพมีสสารมืดชนิดใหม่หรือพลังงานมืดชนิดใหม่หรือไม่ หรือเอกภพมีอายุเท่าไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือทุกทีมวิจัยกำลังได้ค่า Ho ใกล้เคียงกันมากขึ้น เป็นการยืนยันว่า Ho เป็นค่าคงตัวค่าหนึ่งของธรรมชาติ

อ่านเพิ่มเติมจาก Physics World : Cosmic Clash Over Hubble Constant Shows No Sign of Abating ฉบับวันที่ 13 Sep. 2019


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น