xs
xsm
sm
md
lg

ถ่ายสุริยุปราคาบางส่วนให้ได้ภาพไม่ธรรมดา

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์


ตัวอย่างรูปแบบการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน
สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย วันที่ 21 มิถุนายน 2563 นี้ สามารถเริ่มต้นถ่ายภาพปรากฏการณ์ตั้งแต่เวลา 13.00 ไปจนถึงเวลา 16.10 น. โดยประมาณ ซึ่งเปอร์เซ็นต์การถูกบังก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยพื้นที่ทางภาคเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังมากที่สุด ที่อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย ร้อยละ 63 เปอร์เซ็นต์ เวลาประมาณ 14:49 น.

ความน่าสนใจของปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้ อาจเรียกว่าเป็นสุริยุปราคาส่งท้ายของประเทศไทยในช่วงนี้ ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอไปอีกถึง 7 ปีเลยทีเดียว จึงจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง และนอกจากนั้นในวันดังกล่าวยังตรงกับวันครีษมายัน (Summer Solstice) ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนืออีกด้วย

ทำไมเราไม่เห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้ทุกเดือน
ดวงอาทิตย์มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าดวงจันทร์​ 400 เท่า และอยู่ห่างจากโลกมากกว่าดวงจันทร์ 400 เท่า เราจึงมองเห็นดวงอาทิตย์และดวงจันทร์มีขนาดปรากฎเท่ากันพอดี สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากดวงจันทร์โคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เราจึงมองเห็นดวงอาทิตย์ค่อยๆ แหว่งจากการถูกดวงจันทร์บดบัง นั่นเอง

สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นเฉพาะในวันแรม 14-15 ค่ำ แต่จะไม่เกิดขึ้นทุกเดือน เนื่องจากระนาบที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์และดวงจันทร์โคจรรอบโลกไม่ใช่ระนาบเดียวกัน โดยตัดกันเป็นมุม 5 องศา ดังนั้นในแต่ละปีจึงมีโอกาสเกิดสุริยุปราคาบนโลกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง และเกิดไม่ซ้ำที่กัน เนื่องจากเงาของดวงจันทร์ที่ทาบไปบนพื้นผิวโลกครอบคลุมพื้นที่ขนาดเล็ก


สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาปกติเราคงเห็นภาพดวงอาทิตย์แหว่งกันจนชินตา สำหรับคอลัมน์นี้จึงอยากนำเสนอไอเดียการถ่ายภาพปรากฏการณ์ในหลายรูปแบบที่ทำให้ภาพสุริยุปราคาบางส่วนมีความน่าสนใจและแปลกตามากยิ่งขึ้น โดยได้รวบรวมภาพจากหลากหลายช่างภาพทั่วโลกที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์ เพื่อจะได้ใช้เป็นแนวทางในการถ่ายภาพปรากฏการณ์ในครั้งนี้

การถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วนเปรียบเทียบขนาดกับวัตถุที่ขอบฟ้า


สำหรับรูปแบบแรกของการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา เป็นการถ่ายภาพปรากฏการณ์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุที่ขอบฟ้า หรือวัตถุบนโลก ซึ่งส่วนตัวคิดว่าสุริยุปราคาบางส่วน หากสามารถถ่ายภาพแนวนี้ได้ก็จะทำให้ภาพสุริยุปราคาบางส่วนมีความน่าสนใจและสวยงามมากกว่าการถ่ายภาพแค่ดวงอาทิตย์ถึงบังแบบเดี่ยวๆ ซึ่งการถ่ายภาพสุริยุปราคาโดยมีจุดสนใจแค่ดวงอาทิตย์นั้นน่าเหมาะกับสุริยุปราคาแบบเต็มดวงมากกว่า

การถ่ายภาพลักษณะนี้ เราจะต้องวางแผนและสำรวจสถานที่ก่อนการถ่ายภาพปรากฏการณ์ล่วงหน้า นอกจากนั้นยังจำเป็นต้องเลือกใช้เลนส์แบบเทเลโฟโต้ เพื่อให้ได้ภาพดวงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่รวมทั้งเลือกสถานที่หรือวัตถุที่ต้องการจะนำมาถ่ายเทียบกับดวงอาทิตย์ขณะเกิดปรากฏการณ์ ให้มีระยะห่างจากจุดที่เราจะถ่ายภาพหลายร้อยเมตรหรือมากกว่า เพื่อให้ภาพดวงอาทิตย์เทียบกับวัตถุให้ภาพออกมาดูใหญ่อลังการ ดังภาพตัวอย่างข้างต้น (สามารถอ่านรายละเอียดเทคนิคการถ่ายภาพเพิ่มเติมตามลิงก์ : https://mgronline.com/science/detail/9590000110921)

การถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วนแบบซีรีส์

ตัวอย่างภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาบาส่วน เหนือกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน Image : VCG Photo
การถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบซีรีย์ คือการถ่ายภาพตลอดช่วงเกิดปรากฏการณ์เริ่มตั้งแต่เกิดปรากฏการณ์ไปจนสิ้นสุดปรากฏการณ์แบบต่อเนื่อง ในครั้งนี้หากใครต้องการถ่ายภาพในรูปแบบนี้ แนะนำให้เริ่มถ่ายภาพก่อนเริ่มเกิดปรากฏการณ์เพื่อเช็คตำแหน่งแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ซึ่งสามารถใช้แอปพลิเคชัน Photo Pills (ดาวน์โหลด : https://www.photopills.com/) ในการหาตำแหน่งและแนวการเคลื่อนที่ได้ และถ่ายภาพปรากฏการณ์โดยเว้นช่วงการถ่ายภาพทุกๆ 2-4 นาทีโดยประมาณ แล้วจึงนำเอาภาพทั้งหมดมาต่อกันในโปรแกรม Photoshop ภายหลัง

ตัวอย่างแอปพลิเคชัน Photo Pills ในการหาตำแหน่งและแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ สามารถดาวน์โหลด ได้ที่: https://www.photopills.com/

ภาพจำลองแสดงแนวการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา วันที่ 21 มิถุนายน 2563 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.00 น.
การถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วนด้วยกล้องไฮโดรเจนแอลฟา

ภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในช่วงความยาวคลื่นของไฮโดรเจน-อัลฟา ภาพโดย : ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ / Camera : Nikon D810A / Lens : SolarMax II 90 Double Stack / Focal length : 800 mm. / Aperture : f/8.8 / ISO : 1000 / Exposure : 1/40 sec
การถ่ายภาพปรากฏการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นไฮโดรเจน-อัลฟา เป็นอีกรูปแบบของการถ่ายภาพปรากฏการณ์ ภาพถ่ายในช่วงคลื่นนี้จะสามารถมองเห็นรายละเอียดของพื้นผิวดวงอาทิตย์ได้ชัดเจน และช่วยให้เห็นพวยก๊าซบนดวงอาทิตย์ (Prominence หรือ เปลวสุริยะ) ได้อีกด้วย

ภาพถ่ายปรากฏการณ์ในช่วงคลื่นไฮโดรเจน-อัลฟา นอกจากจะเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งแล้ว ยังแสดงให้เห็นผิวดวงอาทิตย์ที่ไม่เรียบ มีความแปรปรวนสูง และมีก๊าซหมุนวนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใกล้จุดบนดวงอาทิตย์จะสังเกตความแปรปรวนของก๊าซได้ชัดเจน

ตัวอย่างกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นไฮโดรเจน-อัลฟา
สิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพและสังเกตการณ์สุริยุปราคา

สำหรับสิ่งที่สำคัญของการถ่ายภาพสุริยุปราคา นั้นจำเป็นต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะแสงอาทิตย์มีความเข้มแสงมาก หากพลาดอาจทำให้ตาเราบอดได้ ดังนั้นก่อนการถ่ายภาพหรือการใช้กล้องส่องดูนั้น ต้องมีอุปกรณ์กรองแสงอาทิตย์ที่ได้มาตรฐาน อย่างเช่น แผ่นกรองแสงอลูมิเนียมไมลาร์ (ทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นสีขาว) แผ่นกรองแสงแบล็คพอลิเมอร์ (ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีส้มหรือสีเหลือง) แผ่นกรองแสง ND ความเข้ม 10 Stop แผ่นกรองแสงแบบกระจกเคลือบโลหะ กระจกบังตาเชื่อมโลหะเบอร์ 14 ขึ้นไป


เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน


กำลังโหลดความคิดเห็น