ในคืนวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 นี้ ผมอยากชวนนักถ่ายภาพมาถ่ายภาพปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี” หรือที่มักเรียกกันว่า Super Full Moon นั้น
ความพิเศษของ Super Full Moon ในปีนี้ คือ เป็นปรากฏดวงจันทร์เต็มดวงจะปรากฏในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 68 ปี ที่ระยะห่าง 356,511 กิโลเมตร ซึ่งในคืนดังกล่าวดวงจันทร์จะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ 14 % สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันออกทั่วประเทศ
โดยในอดีตที่ผ่านมาดวงจันทร์เต็มดวงเคยเข้าใกล้โลกมากที่สุดเมื่อ วันที่ 25 มกราคม 2491 หากพลาดโอกาสในคืนดังกล่าว ต้องรออีก 18 ปี ข้างหน้าในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2577
แต่ก่อนที่ผมจะแนะนำเทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ Super Full Moon นั้น เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวกันก่อน
เกร็ดความรู้ Super Full Moon
Super Full Moon หรือ ปรากฎดวงจันทร์เต็มดวงจะกฎในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ที่ทำให้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ
โดยในแต่ละเดือนจะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก ตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงที่โตกว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์โคจรเข้ามาใกล้โลก นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์
สำหรับช่วงปกตินั้น ดวงจันทร์จะมีระยะห่างเฉลี่ย 382,000 กิโลเมตร โดยเราให้คำกำจัดความของคำว่า Super Moon นั้นเมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 360,000 กิโลเมตรลงมา และ Micro Moon หรือดวงจันทร์ไกลโลกมากที่สุด เมื่อดวงจันทร์มีระยะห่างจากศูนย์กลางโลกตั้งแต่ 400,000 กิโลเมตรขึ้นไป
โดยในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 นี้ ปรากฏการณ์ Super Full Moon ดวงจันทร์จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติประมาณ 14% และจะมีความสว่างมากกว่าปกติ ประมาณ 30% และหากใครพลาดโอกาสในครั้งนี้ ก็ต้องรออีก 2 ปี จึงเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีอีกครั้ง ดังแสดงในตารางด้านล่าง
สำหรับคำว่า Super Full Moon หรือบางครั้งก็มักได้ยินคนเรียกกันว่า Super Moon นั้น จริงๆ แล้วกฃเราก็สามารถเรียกได้ทั้งคู่ ไม่ถูกหรือไม่ผิด ทั้งนั้น เพราะเป็นเพียงคำที่นิยามขึ้นมาเพื่อให้เรียกกันง่ายๆ สั้นๆ เท่านั้น โดยคำว่า Super Moon นั้นเข้าใจว่ามาจากการเรียกของนักโหราศาสตร์ ที่นิยมใช้กัน ซึ่งจะใช้เรียกปรากฎการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกทั้งช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุด และดวงจันทร์ดับใกล้โลกมากที่สุดได้เช่นกัน แต่คำว่า Super Full Moon นั้นนักดาราศาสตร์สมัครเล่น จะใช้เรียกกันเฉพาะในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกมากที่สุดเท่านั้น ดังนั้นเราจึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Super Full Moon”
“จริงหรือไม่” เมื่อดวงจันทร์อยู่ใกล้ขอบฟ้าจะมีขนาดใหญ่กว่ากลางท้องฟ้า
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าดวงจันทร์เมื่ออยู่บริเวณขอบฟ้าจะมีขนาดใหญ่กว่า ตอนที่อยู่กลางท้องฟ้า แท้ริงแล้วภาพดวงจันทร์บริเวณใกล้ขอบฟ้าที่มองดูมีขนาดปรากฏใหญ่กว่านั้น เป็นเพียงภาพลวงตา เนื่องจากบริเวณขอบฟ้ามีวัตถุให้เปรียบเทียบขนาด แต่ดวงจันทร์บริเวณกลางท้องฟ้าไม่มีวัตถุเปรียบเทียบขนาดจึงทำให้ความรู้สึกในการมองดูเล็กกว่านั่นเอง หรือเรียกภาพดวงจันทร์บริเวณใกล้ขอบฟ้าที่มองดูมีขนาดกฎใหญ่ นั่นว่า “Moon Illusion”
ดังนั้นในคืนวัน “ดวงจันทร์เต็มดวงในคืนวันดวงจันทร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี” นี้เราจะมาถ่ายภาพ Moon Illusion กันครับ
เทคนิคและวิธีการถ่ายภาพ Moon Illusion
สำหรับการถ่ายภาพ Moon Illusion หรือภาพลวงตานั้น ก็คือการถ่ายภาพดวงจันทร์ในบริเวณที่อยู่ใกล้กับขอฟ้า หรือใกล้กับวัตถุ ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ คน อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยมีหลักการง่ายๆ ดังนี้
1.หาสถานที่ ที่มองเห็นดวงจันทร์ได้ทางทิศตะวันออกตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ โดยสถานที่ดังกล่าว ควรมองเห็นวัตถุ เช่น คน เจดีย์ บ้าน ที่จะใช้ในการถ่ายภาพเปรียบเทียบกับขนาดของดวงจันทร์ ซึ่งปกติผมจะอยู่ห่างจากวัตถุที่ใช้เปรียบเทียบตั้งแต่ 1 กิโลเมตร ขึ้นไป หรือใช้การวัดระยะเชิงมุมด้วยนิ้วก้อย เพื่อเทียบขนาดวัตถุกับดวงจันทร์ได้ (ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง) โดยดวงจันทร์จะมีขนาดกฎเพียง 0.5 องศา หรือมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 1 นิ้วก้อยของเราเมื่อเหยียดสุดแขน
2.เลือกใช้เลนส์เทเลโฟกัส เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์มีขนาดใหญ่ เมื่อถ่ายภาพเทียบกับขนาดของวัตถุบริเวณขอบฟ้า ก็จะทำให้ภาพถ่าย Moon Illusion ของเราดูใหญ่แน่นมากขึ้น โดยเลือกช่วงเลนส์ตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไป
3.ใช้ความเร็วชัตเตอร์สัมพันธ์กับช่วงเลนส์ คือการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ไม่ช้าจนเกินไปจนทำให้ภาพดวงจันทร์เบลอ เนื่องจากดวงจันทร์จะเคลื่อนที่ขึ้นทางทิศตะวันออกสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยยิ่งใช้ทางยาวโฟกัสสูงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้นตามด้วยเช่นกัน
4.การปรับโฟกัสวัตถุที่เป็นฉากหน้า ไว้รอก่อนที่ดวงจันทร์จะโผล่จากขอบฟ้า เพราะในการโฟกัสภาพที่ระยะไกลบริเวณขอบฟ้าที่มีมวลอากาศหนาแน่น การโฟกัสจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากเรารอเพื่อให้ดวงจันทร์โผล่ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยโฟกัสที่ดวงจันทร์ เราอาจพลาดจังหว่ะดีๆ ในการถ่ายภาพเทียบกับวัตถุบริเวณขอบฟ้าได้ง่ายๆ
5. Black Card Technique โดยการใช้มือบังบริเวณหน้าเลนส์ตรงส่วนขอบภาพ ตรงตำแหน่งของดวงจันทร์เพื่อให้แสงสว่างของดวงจันทร์ลดลง แล้วจึงถ่ายภาพ ก็จะช่วยให้เราได้ภาพถ่ายที่มีความเปรียบต่างกันไม่มากนัก และนำไปปรับแต่งในโปรแกรม Photoshop โดยการดึง Shadow บริเวณฉากหน้า และลดแสง Highlight ลงได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเสียเงินซื้อฟิลเตอร์ครึ่งซีกให้เสียตังค์ครับ
จากเทคนิคทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น ก็พอจะช่วยเป็นแนวทางในการถ่ายภาพดวงจันทร์ ในคืนวัน Super Full Moon ก็ได้บ้างนะครับ และหวังว่าทุกท่านจะสามารถเก็บภาพประทับใจ “Moon Illusion” ในคืนวัน Super Full Moon กันได้ทุกท่านนะครับ
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน