xs
xsm
sm
md
lg

แนะวิธีชม “สุริยุปราคาบางส่วน” 21 มิ.ย.อย่างปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สดร.แนะวิธีชม “สุริยุปราคาบางส่วน” 21 มิถุนายน นี้ อย่างปลอดภัยไร้กังวล ย้ำเตือนคนไทยไม่ควรมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า ต้องใช้อุปกรณ์กรองแสง และให้ระมัดระวังการถ่ายภาพดวงอาทิตย์จากเลนส์กล้องดิจิทัล “ย้ำ” อันตรายถึงขั้นตาบอดได้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ชวนดู “สุริยุปราคาบางส่วน” วันที่ 21 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ตั้งแต่เวลา 13.00 - 16.10 น.ภาคเหนือเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากที่สุด พร้อมชวนร่วมชมปรากฏการณ์นี้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวถึงข้อควรระวังเกี่ยวกับการสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในประเทศไทย วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2563 ตั้งแต่เวลา ประมาณ 13.00 - 16.10 น. ว่า การสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาเป็นการสังเกตดวงอาทิตย์โดยตรง จึงต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ห้ามสังเกตด้วยตาเปล่าเด็ดขาด การจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้

วิธีการสังเกตดวงอาทิตย์โดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงผ่านอุปกรณ์กรองแสง และการสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม

วิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง เป็นวิธีการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสงดวงอาทิตย์ แว่นดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นกรองแสงแบล็คพอลิเมอร์หรือแผ่นกรองแสงไมลาร์ หรืออุปกรณ์ง่ายๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า

ไม่ควรใช้ ฟิล์มเอกซเรย์ ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แผ่นซีดี แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสง สีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะอุปกรณ์ดังกล่าว มีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ แม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้

การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงจึงต้องใช้อุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ และไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง ควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

วิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม เป็นการดูแสงของดวงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตา และช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน ได้แก่ ใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้ว ตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา การฉายภาพดวงอาทิตย์จากโซลาร์สโคป

“หรือประดิษฐ์กล้องรูเข็มอย่างง่าย ใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ โดยเจาะรูเล็กๆ บนวัสดุที่ต้องการ นำไปตั้งไว้กลางแจ้ง แสงแดดจะลอดผ่านรูดังกล่าวตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน ขนาดของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ นอกจากนี้ยังสามารถสังเกตจากแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านต้นไม้ตกบนพื้นหรือกำแพง จะมองเห็นเป็นเงาเสี้ยวของดวงอาทิตย์ได้อีกด้วย”

นายศุภฤกษ์ กล่าวย้ำให้ประชาชนระมัดระวังการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิตัล โดยเฉพาะกล้องถ่ายภาพ DSLR ที่ติดเลนส์กำลังขยายสูง ห้ามถ่ายภาพดวงอาทิตย์ โดยปราศจากแผ่นกรองแสง และห้ามใช้ตาเล็งดวงอาทิตย์จากช่องมองภาพโดยตรงเด็ดขาด เนื่องจากเลนส์ของกล้องเหล่านี้ มีคุณสมบัติในการรวมแสงและความร้อน ภาพของดวงอาทิตย์ที่ได้จากอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีความสว่างจ้ามาก อาจทำให้ตาบอดได้ทันทีและอาจเกิดความเสียหายต่อตัวอุปกรณ์ดังกล่าวได้เช่นกัน

สำหรับประชาชนที่สนใจ ในปีนี้เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 สดร. จึงปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมจากการตั้งจุดสังเกตการณ์หลักเพื่อให้บริการประชาชน มาเป็นการถ่ายทอดสดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนจากหอดูดาวภูมิภาคทั้ง 4 แห่ง ของ สดร. ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา และสงขลา ในวันที่ 21 มิถุนายน 2563 ตั้งแต่เวลา 13:00 - 16:10 น.

สุริยุปราคาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน นี้ เป็นปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราส วงแหวนพาดผ่านฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกา คาบสมุทรอาหรับ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และมหาสมุทรแปซิฟิก เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาวงแหวนนาน 38 วินาที สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์บางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย

แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่งมากน้อยแตกต่างกัน ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคเหนือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณร้อยละ 63 ส่วนภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 16 สำหรับกรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังประมาณร้อยละ 40 สามารถสังเกตได้ในช่วงเวลาประมาณ 13:00 - 16:10 น. ตามเวลาประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุด เวลาประมาณ 14:49 น. รายละเอียดข้อมูลปรากฏการณ์เพิ่มเติมที่ www.narit.or.th












กำลังโหลดความคิดเห็น