ในคอลัมน์นี้เรายังคงอยู่ภายใต้มาตรการ Lock Down ช่วงเวลานี้วัตถุท้องฟ้าที่เราสามารถถ่ายภาพกันได้ก็ยังคงเป็นดวงจันทร์ เราสามารถถ่ายดวงจันทร์ได้หลากหลายรูปแบบ โดยการถ่ายภาพดวงจันทร์แบบ HDR (High Dynamic Range) นั้นก็เป็นอีกรูปแบบที่ได้ความนิยมในบรรดานักดาราศาสตร์สมัครเล่นต่างประต่างกันอย่างแพร่หลาย แต่ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันกับเทคนิคภาพถ่าย HDR กันก่อนครับ
ภาพถ่ายแบบ HDR คืออะไร
HDR (High Dynamic Range) คือ การสร้างภาพที่มีส่วนเปรียบต่างของ “แสง” ระหว่างความมืดและความสว่างให้อยู่ในภาพเดียวกัน เป็นภาพที่มีความสว่างชัดเจนทั่วทั้งภาพและดูมีมิติ
สายตามนุษย์เราสามารถมองเห็นภาพที่มีความสว่างแตกต่างกันมากและมองเห็นรายละเอียดทั้งในส่วนที่สว่างและมืดในเวลาเดียวกัน แต่กล้องจะไม่สามารถเก็บรายละเอียดภาพที่มีส่วนเปรียบต่างของแสงมากๆ ได้
ดังนั้นภาพถ่ายเดียวมักจะไม่สามารถจับภาพทุกช่วงแสงได้ แต่ด้วยเทคนิค HDR เราจะสามารถใช้การรับแสงที่แตกต่างกันเพื่อบันทึกช่วงของความสว่างทั้งหมดและสร้างภาพที่ใกล้เคียงกับฉากที่ดูเหมือนกับตาจริงมากขึ้น
ตัวอย่างเช่นการถ่ายภาพดวงจันทร์ โดยวิธีการสร้างภาพที่มีรายละเอียดครบถ้วนคือ "เก็บรายละเอียดภาพทีละส่วน" ภาพแรกจะเน้นเก็บรายละเอียดของเสี้ยวสว่างของดวงจันทร์บริเวณขอบเป็นหลัก ภาพที่สองจะเน้นเก็บรายละเอียดของดวงจันทร์ทั้งหมด ภาพที่สามเน้นเก็บรายละเอียดของส่วนมืดของดวงจันทร์ ส่วนภาพสุดท้ายเก็บรายละเอียดของฉากหลังที่เป็นภาพดาว เมื่อได้ภาพที่มีส่วนเปรียบต่างของแสงที่ต่างกันทั้งหมดแล้วก็นำภาพทั้งหมดมารวมกัน
เทคนิคการถ่ายภาพ
ในการถ่ายภาพดวงจันทร์แบบ HDR นั้นเทคนิคสำคัญคือการถ่ายภาพที่มีการเปิดรับแสงต่างกัน เพื่อให้เก็บภาพทั้งส่วนมืดและส่วนสว่างได้ครบถ้วน โดยในการถ่ายภาพดวงจันทร์แบบ HDR นั้น ผมขอแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การถ่ายดวงจันทร์ที่เสี้ยวสว่างไม่มากและสามารถเห็น Earthshine ได้ กับช่วงดวงจันทร์สว่างเกินครึ่งดวง ซึ่งไม่สามารถมองเห็น Earthshine ได้ ทั้ง 2 แบบจากการทดลองถ่ายภาพ มีเทคนิคและวิธีการต่างกันเล็กน้อยดังนี้
1. ดวงจันทร์ HDR ในช่วงที่เสี้ยวสว่างไม่มากและสามารถเห็น Earthshine ได้
การถ่ายภาพดวงจันทร์แบบ HDR ในรูปแบบนี้ ควรถ่ายภาพโดยการเปิดรับแสงต่างกันประมาณ 0.3 สตอป โดยถ่ายภาพในแต่ละช่วงแสงหลายๆ สิบภาพเพื่อนำมา Stacking ในโปรแกรม Registax จากนั้นจึงนำเอาภาพถ่ายแต่ละช่วงแสงมารวมกันด้วยโปรแกรม Photomatix Pro ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทำภาพ HDR โดยเฉพาะ (สามารถอ่านรายละเอียดการใช้โปรแกรมได้ตามลิงก์ : https://bit.ly/2VYQuBi) โดยขอสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้
1. ถ่ายด้วยอุปกรณ์และทางยาวโฟกัสเดียวกัน2. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบตามดาวที่แม่นยำ (ต้องมีการทำ Polar Alignment)3. ถ่ายภาพคร่อมค่าแสง ประมาณ 0.3 สตอป4. ควรถ่ายภาพแต่ละช่วงการเปิดรับแสง จำนวนหลายๆสิบภาพ แล้วนำไป Stacking เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่คมชัดมากที่สุดในแต่ละช่วงการเปิดรับแสง5. นำภาพแต่ละช่วงการเปิดรับแสงที่ Stack แล้วไปรวมกันเป็นภาพ HDR ด้วยโปรแกรม Photomatix pro หรือโปรแกรม Photoshop 6. สุดท้ายนำภาพถ่าย Background พื้นหลังที่เป็นฉากดาว ที่ทางยาวโฟกัสเดียวกันมาวางซ้อนกันในภาพถ่ายดวงจันทร์ HDR
2. ดวงจันทร์ HDR ในช่วงสว่างเกินครึ่งดวง ซึ่งไม่สามารถมองเห็น Earthshine ได้
สำหรับการถ่ายภาพแบบที่สอง เราแทบจะไม่สามารถถ่ายภาพในส่วนมืดของดวงจันทร์ได้เลย เนื่องจากแสงสว่างของดวงจันทร์สว่างมาก การถ่ายภาพจึงเน้นการถ่ายภาพโดยการเปิดรับแสงต่างกันประมาณ 1 สตอป และถ่ายภาพในแต่ละช่วงแสงหลายๆ สิบภาพเพื่อนำมา Stacking ในโปรแกรม Registax จากนั้นจึงนำเอาภาพถ่ายแต่ละช่วงแสงมารวมกันด้วยโปรแกรม Photomatix Pro เพื่อเก็บรายละเอียดของปริมาณขอบดวงจันทร์ที่เป็นรอยต่อระหว่างส่วนมืดกับส่วนสว่าง จากนั้นจึงนำเอาภาพดวงจันทร์ในช่วงที่เกิด Earthshine มาซ้อนทับกันตามด้วย การนำภาพ Background พื้นหลังภาพดวงดาวมาซ้อนทับอีกครั้ง โดยขอสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้
1. ถ่ายด้วยอุปกรณ์และทางยาวโฟกัสเดียวกัน
2. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบตามดาวที่แม่นยำ (ต้องมีการทำ Polar Alignment)
3. ถ่ายภาพคร่อมค่าแสง ประมาณ 1 สตอป
4. ควรถ่ายภาพแต่ละช่วงการเปิดรับแสง จำนวนหลายๆสิบภาพ แล้วนำไป Stacking เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่คมชัดมากที่สุดในแต่ละช่วงการเปิดรับแสง
5. นำภาพแต่ละช่วงการเปิดรับแสงที่ Stack แล้วไปรวมกันเป็นภาพ HDR ด้วยโปรแกรม Photomatix pro หรือโปรแกรม Photoshop
6. นำเอาภาพดวงจันทร์ในช่วงที่เกิด Earthshine มาซ้อนทับกับภาพถ่ายดวงจันทร์ที่ Stack และรวมเป็นภาพ HDR
7. สุดท้ายนำภาพถ่าย Background พื้นหลังที่เป็นฉากดาว ที่ทางยาวโฟกัสเดียวกันมาวางซ้อนกันในภาพถ่ายดวงจันทร์ HDR
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน