คอลัมน์นี้ขอแนะนำการถ่ายภาพแสงเกเกินไชน์ (Gegenschein) ซึ่งน้อยคนที่จะรู้จัก สำหรับนักดาราศาสตร์นั้น ก็ควรต้องมีโอกาสได้เห็นสักครั้ง เพราะเป็นแสงที่มองเห็นได้ค่อนข้างยาก ต้องใช้เทคนิคพิเศษในการสังเกตการณ์ และยังต้องสังเกตในสถานที่มืดสนิทและปราศจากแสงใดๆ มารบกวนเท่านั้น
สำหรับการถ่ายภาพนั้นต้องถ่ายให้ถูกที่ถูกเวลาและใช้ทักษะการถ่ายภาพแบบตามดาวร่วมในการเก็บแสงเกเกินไชน์ โดยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นผมได้เขียนอธิบายไว้ในคอลัมน์ด้านล่าง
มาทำความรู้จักกับแสงเกเกินไชน์ (Gegenschein) กันก่อน
แสงเกเกินไชน์ เป็นแสงสลัวๆ จางๆ รูปทรงรี บนท้องฟ้าในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Antisolar point) เกิดจากการสะท้อนแสงของดวงอาทิตย์กับฝุ่นละอองในระนาบของระบบสุริยะ เช่นเดียวกับแสงจักรราศี (Zodiacal light) โดยสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าในพื้นที่ที่มีคุณภาพท้องฟ้าดี มืดสนิทไร้มลภาวะทางแสงและฝุ่นควันในอากาศ ดังนั้นจึงเป็นปรากฏการณ์บนท้องฟ้าที่สามารถชี้วัดถึงคุณภาพท้องฟ้าในพื้นที่นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
จากประสบการณ์ที่เคยถ่ายภาพมาได้ในประเทศไทย คือที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่ระดับความสูงเกินกว่า 2,000 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป โดยมีค่าความมืดของท้องฟ้าถึง แมกนิจูด 21.0 รวมทั้งต้องมีอากาศแห้งในช่วงฤดูหนาวจึงจะสามารถสังเกตเห็นได้
อย่างไรก็ตามแสงเกเกินไชน์ นั้นก็มีตำแหน่งและเวลาที่ต่างกับแสงจักรราศี โดยมุมสูงของการสะท้อนของดวงอาทิตย์กับฝุ่นละอองในระนาบของระบบสุริยะของ “แสงเกเกินไชน์อยู่อยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์ และเวลาสังเกตดีที่สุดในช่วงเที่ยงคืน” แต่แสงจักรราศี จะเห็นได้ดีที่สุดช่วงหลังดวงอาทิตย์ตกทางทิศตะวันตก หือก่อนช่วงดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก
การถ่ายภาพแสงเกเกินไชน์ (Gegenschein)
สำหรับการถ่ายภาพแสงเกเกินไชน์นั้น สิ่งสำคัญสิ่งแรกคือความมืดของท้องฟ้า และค่าทัศนวิสัยของท้องฟ้าที่จะต้องดีมาก ๆ จึงจะสามารถถ่ายภาพติดแสงเกเกินไชน์ได้ โดยรายละเอียดการถ่ายภาพมีดังนี้
1. ช่วงเวลาเที่ยงคืนจะมีโอกาสถ่ายภาพได้ดีที่สุด เนื่องจากตำแหน่งของแสงเกเกินไชน์อยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์ ทำให้แสงอยู่บริเวณกลางศีรษะพอดี ทำให้ไม่มีมวลอากาศที่ขอบฟ้ามารบกวน
2. ควรถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบตามดาวเพื่อให้สามารถถ่ายภาพโดยเปิดหน้ากล้องได้นานขึ้น เนื่องจากเป็นแค่แสงสลัว จางๆ สังเกตค่อนข้างยากด้วยตาเปล่า การถ่ายภาพจำเป็นต้องเปิดหน้ากล้องนานเพื่อเก็บแสงให้ได้มากที่สุด
3. ใช้เลนส์มุมกว้าง และถ่ายบริเวณกลางท้องฟ้า ในช่วงเวลาเที่ยงคืน
4. ใช้ค่ารูรับแสงกว้างๆ เช่น f/2.8 เพื่อให้กล้องไวแสงมากที่สุดในการถ่ายภาพ
5. ใช้ค่า ISO สูง ตั้งแต่ 1000 ขึ้นไปเพื่อให้กล้องมีความไวแสงมากขึ้น
ทักษะการสังเกตการณ์ด้วยตาเปล่าทักษะในการสังเกตการณ์สำหรับการค้นหาแสงเกเกินไชน์หรือแม้แต่วัตถุท้องฟ้าในห้วงอวกาศลึกต่างๆ ก่อนอื่นเราต้องเรียนรู้วิธีการปรับสายตาในที่มืดเพื่อให้รูม่านตาขยาย โดยใช้เวลาปรับสายตาประมาณ 45 นาที เพื่อปรับให้ตาเข้ากับความมืดอย่างเต็มที่
เทคนิคที่สองคือ ใช้การมองแบบชำเลือง หรือคล้ายกับการแอบมอง คือการมองด้วยสายตาที่ไม่ได้มองวัตถุโดยตรง แต่อยู่ด้านข้างเล็กน้อยในขณะที่ยังคงให้ความสนใจกับวัตถุนั้นต่อไป วิธีนี้เป็นเทคนิคที่นักดาราศาสตร์นิยมใช้ในการสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้าที่มีความสว่างน้อยๆ ได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายในการสังเกตการณ์ หากต้องการใช้แสงสว่าง ก็ควรใช้แสงสีแดงที่สลัวเท่านั้น เพื่อให้ไม่เป็นการทำลายวิสัยทัศน์ในการมองเห็นในตอนกลางคืน
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน