สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีน รายงาน — วันพฤหัสบดี (7 พ.ค.) คณะนักโบราณคดีจีนประกาศความสำเร็จครั้งใหญ่ยิ่ง ณ พื้นที่ขุดค้นซวงหวยซู่ ในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ต้นกำเนิดของอารยธรรมจีนเก่าแก่ยาวนานกว่า 5,000 ปี
พื้นที่ขุดค้นซวงหวยซู่ขนาด 1.17 ล้านตารางเมตร (ราว 730 ไร่) ตั้งอยู่ริมฝั่งใต้ของแม่น้ำเหลืองในพื้นที่ตำบลเหอลั่ว เมืองก่งอี้ของเหอหนาน
ซากเมืองโบราณแห่งนี้ซึ่งมีอายุย้อนไปราว 5,300 ปีก่อน ได้รับการเสนอชื่อโดยคณะนักโบราณคดีจีนว่าเป็น “อาณาจักรเหอลั่ว” ตามที่ตั้งซึ่งอยู่ในใจกลางพื้นที่เหอลั่ว ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำเหลืองหรือในยุคจีนโบราณเรียกว่า “เหอ” และแม่น้ำลั่วเหอมาบรรจบกัน
“พื้นที่ขุดค้นซวงหวยซู่เป็นการตั้งถิ่นฐานแบบรวมกลุ่มในยุคโบราณที่มีลักษณะของความเป็นเมืองหลวงที่มีมาตรฐานสูงสุดเท่าที่จีนเคยค้นพบจนถึงปัจจุบัน บริเวณแถบลุ่มน้ำเหลืองในช่วงกลางและช่วงปลายของวัฒนธรรมหย่างเสา (Yang Shao Culture) ซึ่งเป็นช่วงแรกๆ ของการก่อกำเนิดอารยธรรมจีน” หลี่โป๋เชียน ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) กล่าวในการแถลงข่าวหัวข้อการค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญ ในพื้นที่ขุดค้นซวงหวยซู่ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่นครเจิ้งโจว เมืองเอกของเหอหนาน
กู้ว่านฟา ผู้อำนวยการสถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีของนครเจิ้งโจว ระบุในการแถลงข่าวว่าได้ค้นพบโบราณวัตถุจากวัฒนธรรมหย่างเสา ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 5,000-7,000 ปีเป็นจำนวนมาก
“การค้นพบทางโบราณคดีครั้งสำคัญนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นตัวแทนและอิทธิพลของพื้นที่เหอลั่วในยุคทองของช่วงก่อกำเนิดอารยธรรมจีนเมื่อประมาณ 5,300 ปีที่แล้ว” หวังเว่ย สมาชิกสถาบันสังคมศาสตร์แห่งจีน (CASS)
นับตั้งแต่ปี 2013 สถาบันโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีของนครเจิ้งโจวและสถาบันสังคมศาสตร์แห่งจีน ได้ดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ขุดค้นซวงหวยซู่อย่างต่อเนื่อง
นักโบราณคดีระบุว่าพื้นที่ขุดค้นซวงหวยซู่มีระยะทางจากแนวตะวันตกถึงแนวตะวันออกราว 1,500 เมตร และจากเหนือถึงใต้ราว 780 เมตร โอบล้อมด้วยคู 3 ชั้น แต่ละชั้นมีทางเข้าจากภายนอก ซึ่งประกอบกันเป็นระบบปราการที่แน่นหนา
พื้นที่อยู่อาศัยส่วนกลางมีบ้านเรือนเรียงรายอยู่ 4 แถว บริเวณตอนเหนือของคูเมืองวงแหวนด้านในสุด ขณะเดียวกันยังพบสุสานสาธารณะ 3 แห่ง ซึ่งมีหลุมศพมากกว่า 1,700 หลุม ซากศพจากการบูชายัญ 3 ศพ ซากโบราณที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ผลิตเครื่องปั้นดินเผา พื้นที่กักเก็บน้ำ ระบบถนน ตลอดจนสาธารณูปโภคอื่นๆ ภายในซากเมืองโบราณแห่งนี้
ซากโบราณที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์มีหม้อดินเผา 9 ใบ ที่ถูกจัดเรียงลักษณะเดียวกับตำแหน่งของกลุ่มดาวกระบวยใหญ่ (Big Dipper) ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าบรรพบุรุษยุคโบราณของเหอลั่วมีความรู้ทางดาราศาสตร์ค่อนข้างมาก ในการคาดการณ์กิจกรรมทางการเกษตรต่างๆ ผ่านการสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้า
นอกจากนี้ยังพบเขี้ยวหมูป่าแกะสลักเป็นรูปหนอนไหม ความยาว 6.4 เซนติเมตร กว้างเกือบ 1 เซนติเมตร และหนา 0.1 เซนติเมตร ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นงานแกะสลักรูปหนอนไหมชิ้นแรกของจีน ด้านผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่างานแกะสลักนี้เป็นรูปหนอนไหมที่กำลังชักใย ซึ่งมีรูปร่างคล้ายคลึงกับหนอนไหมในปัจจุบัน